ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกทันตแพทยสภา ระบุ รพ.สต. ที่ได้รับถ่ายโอนฯ ไป อบจ. จะต้องมี “ทันตแพทย์” ทำหน้าที่ดูแล “ทันตาภิบาล” หวังสัดส่วนประชากร 1 หมื่นคน จะมีทันตาภิบาล 2 คน ทันตแพทย์ 1 คน ชี้ผลิตผลิตเพียงพอแต่การกระจายตัวหมอฟันยังไม่ดี


ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อให้สนับสนุนการดูแลสุขภาพช่องปากประชาชน หลังมีการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ด้วยการสนับสนุน “ทันตแพทย์” จากโรงพยาบาลไปยัง รพ.สต. เพื่อดูแลการทำงานของ “ทันตาภิบาล”

ผศ.ดร.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ทันตาภิบาลจะต้องทำงานภายใต้การดูแลของทันตแพทย์ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ และเนื่องจากทันตาภิบาลไม่มีสภาดูแล หากผู้ป่วยได้รับบริการที่ไม่ดีหรือมีปัญหา ทันตแพทย์ก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งล่าสุด สธ. ก็ได้ให้ความชัดเจนและมีคำสั่งให้ทันตแพทย์สังกัด สธ. ไปทำหน้าที่ดูแลทันตาภิบาลใน รพ.สต. ที่มีการถ่ายโอนฯ ไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หลังจากส่งทันตแพทย์ไปดูแลแล้ว ก็จะต้องดูต่อไปว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ สมมติว่าทันตาภิบาลอยู่ไกลก็อาจจะทำให้ทันตแพทย์เดินทางลำบาก แต่ในกรณีที่ทันตาภิบาลอยู่ใกล้ก็อาจจะต้องดูเรื่องของจำนวนว่ามีสัดส่วนของทันตาภิบาล 1 คน ต่อประชากร 5,000 รวมไปถึงมีทันตแพทย์ 1 คนดูแลทันตาภิบาล 2 คนหรือไม่

“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ให้ทันตแพทย์เข้าไปช่วยดูแลทันตาภิบาลแล้ว ซึ่งสัดส่วนประชากร 10,000 คน เราหวังว่ามีทันตาภิบาลได้ 2 คน และมีทันตแพทย์ที่ช่วยควบคุมดูแล 1 คน เมื่อทันตาภิบาลต้องทำงานภายใต้การดูแลของทันตแพทย์ ก็ต้องมีทันตแพทย์ตามไป ซึ่งก็หวังว่าในอนาคตการถ่ายโอนฯ จะช่วยพัฒนาการบริการให้ไปสู่ชนบทและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ปฐมภูมิมากขึ้น” ผศ.ดร.ทพ.สุชิต ระบุ

ผศ.ดร.ทพ.สุชิต กล่าวอีกว่า เมื่อกระจายคนออกไปแล้วจะต้องมีอุปกรณ์ทันตกรรมตามไปด้วย อย่างน้อยก็ให้ช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในกรณีพื้นที่ห่างไกล เพราะสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งสำคัญผูกไปกับสุขภาพกายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ หากมีปัญหารากฟันหรือตัวฟันติดเชื้อเล็กน้อยบางครั้งเชื้อก็สามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ เพราะฟันเป็นแหล่งติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว ส่วนตัวมองว่าถ้าสุขภาพช่องปากดีก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายน้อย

นอกจากนี้ มองว่าหาก อบจ. พัฒนาหน่วยปฐมภูมิของตัวเองในระดับจังหวัด อำเภอ หรือตำบล โดยมีแพทย์ ทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ฯลฯ ให้บริการก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะทุกวันนี้การกระจายทันตแพทย์ยังไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากกรอบการบรรจุของ สธ. มีเท่าเดิม และขาดการลงทุนเพิ่มพื้นที่ยูนิตทันตกรรมมาเป็นเวลานาน ทำให้มีข้อจำกัดในการจัดบริการ แม้จะมีทันตแพทย์เติมลงไปก็ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มศักยภาพ เพราะลักษณะงานของทันตบุคลากรนั้นจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือ จะทำฟันได้ก็ต้องมียูนิตทันตกรรม มีผู้ช่วยข้างเก้าอี้

อย่างไรก็ดี ข้อมูลระบุชัดเจนว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพช่องปากที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอีกมาก เฉพาะโรคฟันผุอย่างเดียว ก็พบว่าประชากรไทยมากกว่า 50% ยังมีฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ยิ่งการเข้าสู่สังคมสูงวัย ความซับซ้อนของภาวะทางกายก็มีผลกับการดูแลสุขภาพช่องปากเพิ่มขึ้นไปอีก ยิ่งจำเป็นต้องมีทันตบุคลากรทั้งทันตแพทย์และทันตาภิบาลร่วมกันดูแลสุขภาพช่องปากของประชากรไทยเพื่อให้ทันต่อเตรียมการรับมือการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรนี้

ขณะเดียวกัน สัดส่วนทันตแพทย์เกษียณไม่สอดคล้องกับทันตแพทย์ที่ผลิตออกมาได้ปีละประมาณ 600 คน นั่นทำให้ครึ่งหนึ่งที่จบออกมาไม่มีโอกาสได้ใช้ทุนให้ประเทศ แต่เมื่อมี อบจ. เข้ามาก็คิดว่าอาจจะทำให้การกระจายทันตแพทย์ดีขึ้น

ทั้งนี้ หวังว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะถือเป็นการพัฒนาทีมงานทันตบุคลากรในการดูแลปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีมากขึ้นและกระจายตัวอยู่ ซึ่งการกระจายอำนาจก็ถือเป็นโอกาสให้ อบจ. ทำหน่วยปฐมภูมิของตนเองได้อย่างเต็มรูปแบบ ส่วนตัวจึงมองว่ากระจายอำนาจเป็นโอกาสในการกระจายบริการทันตสาธารณสุขออกให้ออกไปได้อีก

“ทันตแพทยสภาจะต้องติดตาม และทำงานอย่างใกล้ชิดกับ สธ. เพื่อประเมินผลจากเหตุที่เกิดขึ้นคือการโอนย้ายไป อบจ. ว่ายังมีประเด็นไหนที่ยังขัดข้อง ไม่สะดวก เพราะตอนนี้เรารู้สึกว่าการเข้าถึงบริการทางด้านทันตกรรมในประเทศไทยยังน้อย หวังว่าในอนาคตจากการถ่ายโอนกระจายอำนาจไปจะช่วยให้การเข้าถึงการบริการมากขึ้นในประเทศไทย” ผศ.ดร.ทพ.สุชิต กล่าว