ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สองนักวิชาการเสนอ ญี่ปุ่นร่วมมือสหรัฐอเมริกาจัดระเบียบนโยบายสุขภาพโลก ย้ำสองประเทศสามารถสร้างสุขภาพที่ดีให้ชาวโลก หากจับมือกันสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา สร้างความพร้อมรับมือโรคระบาดและทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ข้อเสนอดังกล่าวถูกกล่าวถึงในบทความที่เผยแพร่ในแมกกาซีน National Interest เขียนขึ้นโดย มาร์ค พี ลากอน (Mark P. Lagon) หัวหน้าฝ่ายนโยบายแห่ง Friends of the Global Fight Against AIDS, Tuberculosis and Malaria และ เจมส์ แกนนอน (James Gannon) ผู้ช่วยวิจัยประจำ Japan Center for International Exchange

ลากอนและแกนน่อนนำเสนอว่า ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ คือพันธมิตรสำคัญที่ต่างฝ่ายต่างขาดกันไม่ได้ โดยในยุคของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรหลักของญี่ปุ่นในการเสาะหาความร่วมมือจากนานาชาติเพื่อคานอำนาจกับจีน

หนึ่งในนความร่วมมือดังกล่าว คือ การเข้ารวมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคง Quad หรือ Quadrilateral Security Dialogue ร่วมกับสหรัฐอเมริกา อินเดีย และออสเตรเลีย ขับเคลื่อนแนวคิดสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้เป็นพื้นที่เปิดและเสรี แต่ก็แสดงจุดยืนต่อต้านอำนาจจีนอย่างเห็นได้ชัด

ญี่ปุ่นยังเข้าร่วมข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นหัวหอกหลัก

อีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ ก็เห็นญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่สำคัญ เพราะตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่ใกล้จีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่เกี่ยวพันกับข้อพิพาทต่างต่างนานา ไม่ว่าจะเป็นกรณีการปกครองไต้หวัน และสงครามยูเครน

แม้ความร่วมมือหลักของสองประเทศจะเน้นหนักไปด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง

ลากอนและแกนน่อน ระบุว่า สุขภาพเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่ทั้งสองประเทศจะสามารถสร้างความร่วมมือกันให้ประชากรโลกมีสุขภาพดีถ้วนหน้า

ความร่วมมือด้านสุขภาพระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เริ่มต้นตั้งแต่ในยุค 1960 เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น อิสุกะ ศาโตะ (Eisaku Sato) และประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ลินดอน จอห์นสัน (Lyndon Johnson) ร่วมตั้งโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (U.S.-Japan Cooperative Medical Science Program)

ตั้งแต่เมื่อ 25 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ สุขภาพเป็นประเด็กหลักขององค์กรให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ภายใต้ทั้งสองรัฐบาลนี้

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ประเด็นสุขภาพปรากฏในกรอบความร่วมมือ Quad ซึ่งถูกฟื้นฟูในยุคของอาเบะและประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยเน้นที่การเพิ่มกำลังผลิตวัคซีนโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสุขภาพมาอย่างยาวนาน โดยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 1961 และบรรจุวาระด้านสุขภาพลงในโครงการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา โดยใช้แนวคิดที่ว่า สุขภาพคือ “ความมั่นคงของมนุษย์”

2

เมื่ออาเบะก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2012 ญี่ปุ่นเน้นช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้ญี่ปุ่นได้รับสมญานามว่า “ผู้นำแห่งสุขภาพโลก”

ในยุคของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ฟูมิโกะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ความร่วมมือด้านสุขภาพก็มิได้ถูกลดทอนลง รัฐบาลของคิชิดะและไบเดนร่วมมือกันในหลายด้าน เช่น การควบคุมโควิด-19 การกำจัดโรคติดเชื้ออื่นๆ การเตรียมรับมือโรคระบาดครั้งหน้า และการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

อย่างไรก็ดี ลากอนและแกนน่อนเสนอว่า ความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จะสร้างผลกระทบในเชิงบวกกับสุขภาพของประชากรโลกได้มากกว่านี้ หากเน้นใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

หนึ่ง เป็นผู้นำร่วมการขับเคลื่อนวาระโลกในการต้านโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปนับล้านคนในแต่ละปี

ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเพิ่มเงินสนับสนุนกองทุนโลก หรือ Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis, and Malaria ขึ้นอีก 30% ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ รวมเป็นงบประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แม้ว่าญี่ปุ่นจะให้เงินสนับสนุนแก่กองทุนโลกเช่นกัน แต่จำนวนงบประมาณยังน้อยกว่าสหรัฐฯอยู่มาก ลากอนและแกนน่อนจึงเสนอให้ญี่ปุ่นเพิ่มงบสนับสนุนให้เทียบเท่าสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อญี่ปุ่นจะเป็นผู้จัดการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ในปีหน้า และต้องแสดงบทบาทผู้นำในวาระต่างๆ ที่สำคัญของโลก

สอง ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ควรร่วมสนับสนุนงานด้านป้องกันและรับมือโรคระบาดในอนาคต ผ่านการสนับสนุนองค์กรนานาชาติ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) กาวี่ (Gavi) และกลุ่มนวัตกรรมสร้างการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations)

การสนับสนุนควรเป็นไปในลักษณะการจับมือร่วมกัน แทนที่จะเป็นการแข่งขันสร้างบทบาทในเวทีสุขภาพโลก ทั้งยังสอดคล้องกับคำประกาศของกลุ่ม G7 ในปี 2021 ที่จะร่วมมือกันสร้างศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจจับเชื้อ วัคซีน และการรักษาโรคระบาดอุบัติใหม่

โดยญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะทั้งสองประเทศมีความเข้มแข็งในด้านเทคโนโลยีชีวการแพทย์

สาม สหรัฐฯ ควรจับมือกับญี่ปุ่นอัดงบสนับสนุนนานาประเทศในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพ และความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการ

ลากอนและแกนน่อนสรุปในตอนท้ายว่า ความร่วมมือด้านสุขภาพของทั้งสองประเทศ จะปูทางนำไปสู่ความร่วมมือที่แนบแน่นด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นต้องการสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ต้องการญี่ปุ่น หากมีเพียงหนึ่งประเทศ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

อ้างอิง:
https://nationalinterest.org/feature/japan-and-america-can-restore-healthy-world-order-204450