ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากโครงการนำร่อง “Sandbox Area” เพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยใช้เทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์นั้น ได้รับยกระดับเป็นเกิดด “ราชพิพัฒน์ Sandbox Model” เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ราชพิพัฒน์ Sandbox Model ดูแลประชาชนภายในเขตพื้นที่ 5 เขต อันประกอบด้วย บางแค ตลิ่งชัน หนองแขม ทวีวัฒนา และภาษีเจริญ โดยใช้ระบบโทรเวชกรรม หรือ “Telemedicine” เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับบริการสาธารณสุข ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความเท่าเทียม

“The Coverage” ขอพาทุกท่านพูดคุยกับ นพ.โกสินธ์ นิ่มปุญญกำพงษ์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการและแผนงาน โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ถึงการนำระบบเทคโนโลยี Telemedicine เข้ามาใช้ดูแล และการพัฒนาระบบบริการในอนาคต

ติดตั้ง ‘Telemedicine’ ใน มอเตอร์ไซค์-รถฉุกเฉิน

นพ.โกสินธ์ ระบุว่า ราชพิพัฒน์ Sandbox Model นั้นเป็นไปตามนโยบายของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. ที่อยากจะให้ระบบปฐมภูมิใน กทม. เข้มแข็ง และเมื่อไหร่ที่ประชาชนมีความมั่นใจที่จะใช้บริการปฐมภูมิก็จะทำให้ปฐมภูมิเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อผู้ป่วยเชื่อใจในระบบมากขึ้น ท้ายที่สุดโรงพยาบาลก็จะสบายขึ้น เพราะผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลจะถูกกระจายออกไป ลดความแออัด

นั่นทำให้ในตอนนี้โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ทำโครงการรถ “Commu-lance” โดยร่วมมือกับคลินิก หรือศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักงานเขตเพื่อลงพื้นที่ตามชุมชน ให้บริการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มเปราะบางหรือ กลุ่มที่มีความต้องการการด้านสุขภาพที่ต้องตรวจติดตามอาการ หรือรักษาในกรณีที่เจ็บป่วยเล็กน้อยที่อาจจะไม่สามารถเดินทางไปที่โรงพยาบาลได้ เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐานะ โดยที่รถเคลื่อนที่นี้สามารถทำเอกซเรย์ เจาะเลือด ตรวจรักษาได้ หากแพทย์ และพยาบาลที่ไปไม่สามารถดูแลได้ก็จะติดต่อกลับมาที่ศูนย์บัญชาการโรงพยาบาลเพื่อให้คำแนะนำการดูแลต่อไป ซึ่งก่อนลงพื้นที่จะมีการประสานกับศูนย์บริการสาธารณสุขและชุมชนเพื่อดูกลุ่มเป้าหมายและความต้องการก่อน

ถัดมาคือ “Telemedicine-Ambulance” ที่เป็นลักษณะรถกู้ชีพที่มีระบบส่งข้อมูลสัญญาณชีพอัตโนมัติอีกทั้งยังเชื่อมต่อกับระบบสื่อสารต่างๆ เพื่อให้แพทย์ที่อยู่ในห้องฉุกเฉินสามารถประเมินจากการดูสัญญาณ ให้คำสั่งการรักษาเบื้องต้นและเตรียมรับมือกับเคสผู้ป่วยที่กำลังมาถึงได้ และสุดท้ายที่ถือเป็นไฮไลต์นั่นก็คือ “Motor-lance” รถมอเตอร์ไซค์ที่เชื่อมต่อกับระบบ Telemedicine สามารถเชื่อมสัญญาณกลับเข้ามาที่ศูนย์บัญชาการเพื่อส่งสัญญาณภาพและเสียง รวมถึงค่าสัญญาณชีพที่ประเมินได้ต่างๆ ไปประเมินอาการผู้ป่วย ด้วยความคล่องตัวของมอเตอร์ไซค์ทำให้สามารถพาเข้าไปในที่ต่างๆ ได้ง่าย ในขณะเดียวกันเมื่อมีการประเมินเคสผู้ป่วยแล้วหากเห็นว่ามีความฉุกเฉินก็จะส่งรถพยาบาลควบคู่กันไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนที่เป็นรถกู้ชีพและมอเตอร์ไซค์จะมีรองรับประชาชนในเหตุกึ่งฉุกเฉินและฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

“ถ้าเป็นเหตุฉุกเฉินกู้ชีพ ศักยภาพของรถมอเตอร์แลนซ์อาจจะไม่พอจะต้องมีรถใหญ่ไป แต่ก็สามารถออกไปพร้อมกันได้ รถเล็กวิ่งนำไปก่อน เพราะบางทีรถตู้วิ่งเข้าไม่ถึงบ้านคนไข้ ทำให้บางครั้งต้องแบกหามออกมาไกลๆ ตัวนี้ก็จะช่วยได้” นพ.โกสินธ์ อธิบาย

นพ.โกสินธ์ ขยายความเพิ่มเติมว่าการออกรถเพื่อให้บริการจะดูตามความจำเป็น หากประชาชนมีความประสงค์จะใช้ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ Line Official @1RPP ก่อน ถ้าเหตุฉุกเฉินก็สามารถให้การดูแลได้ แต่ในกรณีที่เร่งด่วนหรือฉุกเฉิน หมดสติ ฯลฯ อาจจะใช้สายด่วน 1669 แบบเดิมได้เช่นกัน ถือว่าบริการส่วนนี้ของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์จะเป็นส่วนเสริมที่เข้ามาอุดช่องโหว่เพื่อให้ประชาชนในเขตพื้นที่บริการมีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพได้เร็วมากขึ้น ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนั้นเปิดให้บริการแล้วเมื่อช่วงประมาณเดือนกันยายนที่ผ่านมา

มีอยู่แล้ว แต่ก็ยังจะ เพิ่ม อีก

นพ.โกสินธ์ ระบุว่า ระบบ Telemedicine ของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือระบบของ “หมอ กทม.” จากสำนักการแพทย์ที่เริ่มมาได้ประมาณกว่า 3 ปี และใช้เวลาพัฒนาต่ออีกเป็นหลักปี โดยระบบดังกล่าวจะเชื่อมข้อมูลเข้าสู่ HIS (Hospital Information Systems) ซึ่งเป็นระบบไอทีหลักของโรงพยาบาลสำหรับการเบิกจ่ายต่างๆ

ขณะเดียวกันในช่วงที่เริ่มมีราชพิพัฒน์ Sandbox Model ก็เริ่มมีการมองหาระบบ Telemedicine เจ้าอื่นเข้ามา เนื่องจากการพัฒนาของสำนักการแพทย์ค่อนข้างใช้เวลานาน จึงจำเป็นต้องหาเจ้าอื่นเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยด้วย จนสุดท้ายก็ลงเอยที่ระบบจากไดเอทซ์ (Dietz.asia) ทำให้ขณะนี้โรงพยาบาลราชพิพัฒน์มีระบบ Telemedicine 2 ระบบทำงานร่วมกัน

สำหรับการดูแลผู้ป่วยในส่วนของระบบหมอ กทม. นั้นจะเป็นกลุ่มทั่วไปและเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่จำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เป็นการนัดรับยา 3 เดือนครั้ง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งจะทำได้ง่ายกว่า ขณะเดียวกันสำหรับระบบจากไดเอทซ์นั้นจะเป็นลักษณะแพลตฟอร์มสามารถใช้งานได้เร็วกว่า โดยจะใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่เคยมาที่โรงพยาบาลมาก่อน ตรงนี้ก็จะใช้งานได้สะดวกกับผู้ป่วยกว่า รวมไปถึงผู้ป่วยสามารถใช้เพื่อปรึกษาอาการ หรือบริการอื่นๆ ได้ผ่านระบบสอบถามปรึกษาที่จัดตั้งไว้

นพ.โกสินธ์ ระบุว่า จากการพูดคุยเบื้องต้นไดเอทซ์เองก็มีการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งก็อยู่ในขั้นตอนของการพยายามจัดระบบเพื่อขยายการใช้งาน ผู้ป่วยจะสามารถรายงานผลเข้ามาในระบบได้ เช่น ค่าน้ำตาล ค่าความดัน ฯลฯ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งข้อดีของระบบดังกล่าว ที่ช่วยบันทึกข้อมูลสุขภาพส่วนตัว หรือ Personal health record

“ข้อมูลโรคเรื้อรัง สามารถใช้ได้ทั้งไดเอทซ์กับหมอ กทม. แต่ถ้าดูต่อเนื่องของไดแอทซ์ก็ยังมีตัวโปรแกรมพัฒนาที่ให้ผู้ป่วยรายงานผลมาได้ ทำให้ข้อมูลของผู้ป่วยเชื่อมโยงได้ดีกว่า จะมีจุดต่างตรงนี้นิดหน่อย”

อีกหนึ่งสิ่งที่ นพ.โกสินธ์ อธิบายเพิ่มเติมคือ โรงพยาบาลสามารถจัดส่งยาผ่านไรเดอร์ได้ภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากที่มีการสั่งยาโดยแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนเสริมจากแพลตฟอร์มของไดเอทซ์ ที่ทำให้เบาภาระงานในส่วนนี้ของโรงพยาบาลไปได้บางส่วน

Telemedicine เป็นส่วนเสริม แต่ยังแทน ของเดิมไม่ได้

นพ.โกสินธ์ อธิบายว่า ระบบ Telemedicine เข้ามาเสริมให้ผู้ป่วยไม่ต้องมาโรงพยาบาลโดยที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงสามารถดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องได้ดี จากเดิมที่จะต้องมาโรงพยาบาล 4 ครั้ง/ปี ก็อาจจะเหลือแค่เพียง 1 ครั้ง และนอกเหนือจากนั้นก็เป็นการพบผ่านระบบ Telemedicine แต่ไม่สามารถ “ทดแทนของเดิมได้” ทั้งหมด

ทั้งนี้ เนื่องจากความไว้ใจของมนุษย์ยังติดการพบแพทย์แบบเดิมอยู่ ทำให้การพบแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine ยังทดแทนการพบแพทย์แบบตัวต่อตัวไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นการเข้ามาเสริมผู้ป่วยนอก ทำให้ลดการมาโรงพยาบาลได้ เมื่อพื้นที่ลดความแออัดที่เคยมีก็จะลดลงตามลำดับ

ถึงอย่างนั้นการใช้ Telemedicine ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการส่งข้อมูลเข้ามาทำให้โรงพยาบาลมีระบบฐานข้อมูลของผู้ป่วยที่เฉพาะบุคคลมากขึ้น ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ก็จะส่งให้แพทย์สามารถวิเคราะห์อาการผู้ป่วยได้แม่นยำขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับความมั่นใจใน Data Input หรืออุปกรณ์ของผู้ป่วยที่ส่งเข้ามาด้วยเช่นกัน