ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ แห่งญี่ปุ่น เริ่มโครงการ Health Japan 21 ในปี 2000 เพื่อส่งเสริมและป้องกันโรคให้พลเมืองชาวญี่ปุ่นมีสุขภาพดี โดยดำเนินโครงการมาแล้ว 2 ระยะในช่วงปี 2000-2012 (ระยะแรก) 2013-2022 (ระยะที่สอง)

โครงการในระยะแรก (2000-2012) เน้นป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่น โดยตั้งเป้าหมาย 79 ข้อใน 9 ประเด็นสุขภาพ ได้แก่

  • -สารอาหาร
  • -การออกกำลังกาย
  • -สุขภาพจิตและการพักผ่อน
  • -การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • -สุขภาพปากและฟัน
  • -โรคเบาหวาน
  • -โรคหลอดเลือด
  • -โรคมะเร็ง

สำหรับในระยะที่ 2 (2013-2022) ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน โดยวางเป้าหมายให้พลเมืองชาวญี่ปุ่น ตั้งแต่วัยทารกถึงวัยชรา มีความหวังและใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างสังคมที่มีชีวิตชีวาที่ทุกคนมีสุขภาพดี มีชีวิตเปี่ยมจิตวิญญาณ และมีระบบสวัสดิการสังคมที่ยั่งยืน

กำหนดเป้าหมาย 53 ข้อ ภายใต้ 5 ประเด็น ได้แก่ เพิ่มอายุขัยเฉลี่ย ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่ให้น้ำหนักที่สุดใน 5 ประเด็น

ป้องกันโรคที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ให้พลเมืองมีสุขภาพดี สามารถใช้ชีวิตร่วมกับสังคมได้

สร้างแวดล้อมทางสังคมที่สุขภาพของบุคคลได้รับการสนับสนุนและปกป้อง ยกระดับสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ส่งผลให้สุขภาพดี และสร้างปัจจัยที่ทำให้สุขภาพดี เช่น พลเมืองได้รับสารอาหาร มีพฤติกรรมการบริโภคที่ดี ออกกำลังกาย พักผ่อนเพียงพอ มีสุขภาพฟันดี ลดการบริโภคแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่

1

แล้วแนวปฏิบัติในการดำเนินโครงการเป็นอย่างไร?

Health Japan21 เป็นโครงการที่ระดมความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตั้งแต่ระดับรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ภาคเอกชน กลุ่มวิชาชีพแพทย์ โรงเรียน องค์กร ไปจนถึงระดับบุคคล

ในส่วนของระดับจังหวัด รัฐบาลกลางให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นในการกำหนดแผนงานและตัวชี้วัดและมาตรการทางสุขภาพของตัวเอง ตามประเด็นปัญหาในพื้นที่ โดยรัฐบาลกลางทำหน้าที่เพียงกำหนดตัวชี้วัดในภาพรวมเป็นแนวทาง ยกตัวอย่างพื้นที่ที่โดดเด่น เช่น

จังหวัดนากาโนะ รัฐบาลท้องถิ่นทำแผนดูแลและรักษาสุขภาพในเมืองชินาโนะโครงการ Health Japan 21 ระยะที่ 1 ซึ่งกำหนด 97 ตัวชี้วัด เช่น เพิ่มอัตราส่วนคนที่มีความสุขกับการกินอาการร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อนอย่างน้อยสองครั้ง เพิ่มจำนวนบริษัทที่ผลิตอาหารที่มีโซเดียมและไขมันต่ำ และเพิ่มจำนวนเด็กที่กินอาหารเช้าทุกวัน เป็นต้น

จังหวัดชิมาเนะ ทำแผนส่งเสริมสุขภาพและอายุขัย ในโครงการระยะที่ 2 มี 46 ตัวชี้วัด เช่น เพิ่มอัตราส่วนคนที่กินผักมากกว่า 350 กรัมต่อวัน เพิ่มจำนวนเด็กที่กินผักในอาหารเช้าทุกวัน และกินอาหารว่างเพียงสองครั้งต่อวัน เพิ่มจำนวนคนที่ให้ความรู้ด้านการกินกับคนรอบข้าง เป็นต้น

จังหวัดโทกุชิมะ มีตัวอย่างตัวชี้วัด ได้แก่ เพิ่มอัตราส่วนผู้สูงอายุที่เข้ารับการอบรมทางวิชาชีพ เพิ่มจำนวนเอ็นจีโอที่ทำงานด้านโภชนาการและสามารถให้คำปรึกษากับคนทั่วไป เพิ่มจำนวนคนที่ดูข้อมูลด้านโภชนาการก่อนซื้อผลิตภัณฑอาหารหรือทานอาหารที่ร้าน เป็นต้น

โครงการมีผลลัพธ์อย่างไร?

การประเมินผลโครงการในระยะแรกพบว่า ใน 79 ตัวชี้วัด สามารถบรรลุเป้าหมายได้ 17%, ขณะที่เป้าหมายอีก 42% ไม่บรรลุ แต่สร้างผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีขึ้น 24% ไม่เปลี่ยนแปลง และ15% แย่ลง

โครงการในระยะที่ 2 มีการประเมินผลในปี 2018 พบว่าในตัวชี้วัด 53 ข้อ มี 21 ข้อที่ดีขึ้นและจะสามารถบรรลุเป้าได้ในปี 2022, 12 ข้อดีขึ้น แต่จะไม่สามารถบรรลุเป้าได้ในปี 2022, 18 ข้อ ไม่เปลี่ยนแปลง และ 1 ข้อแย่ลง

นอกจากนี้ อายุขัยเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นในภาพรวมเพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2010 และ 2016 โดยเพิ่มจาก 79.55 เป็น 80.98 ปีในเพศชาย และจาก 86.30 เป็น 87.14 ปีในเพศหญิง

ขณะที่เป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพเป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยความแตกต่างของอายุขัยเฉลี่ยระหว่างประชากรในแต่ละจังหวัด ลดลง 0.79 ในเพศชาย และ 0.22 ในเพศหญิง

แหล่งข้อมูล
https://www.nibiohn.go.jp/eiken/kenkounippon21/en/kenkounippon21/index.html
https://www.nibiohn.go.jp/eiken/kenkounippon21/en/zoushinkeikaku/todoufuken.html
https://www.thelancet.com/journals/lanwpc/article/PIIS2666-6065(21)00286-8/fulltext
https://academic.oup.com/nutritionreviews/article/78/Supplement_3/14/6012422