ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันตแพทยสภา ชื่นชมกลุ่ม "ทันตแพทย์จิตอาสา" ร่วมกันทำฟันฟรีให้ผู้ต้องขังกว่าพันคน ยืนยันแม้จะถูกจำกัดเสรีภาพ แต่ไม่จำกัดสิทธิการเข้าถึงการรักษา


หน่วยทันตกรรมอาสา ตามรอยพ่อ นำโดย ทพ.กฤษฎา ทิรานนท์ เข้าให้บริการทางทันตกรรมที่ทัณฑสถานหญิงกลาง คลองเปรม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 15-16 ต.ค. 2565 โดยมีทันตแพทย์อาสาเข้าร่วมจำนวน 40 คน ผู้ช่วยทันตแพทย์ 48 คน และทีมสนับสนุนจำนวน 38 คน ซึ่งเป็นทีมจิตอาสาจากหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวสามารถให้บริการทางทันตกรรมแก่ผู้ต้องขังได้มากถึง 1,227 คน เป็นการรักษากว่า 1,846 รายการ ซึ่งหน่วยทันตกรรมอาสาฯ ได้จัดกิจกรรมอาสาเช่นนี้ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 6 ปี

ด้าน ทันตแพทยสภา ได้ออกมาระบุว่า แม้ผู้ต้องขังจะต้องถูกจำกัดเสรีภาพเพราะโทษจำคุก แต่สิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพในฐานะมนุษย์ไม่อาจถูกจำกัด เพราะความเป็นธรรมทางสุขภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี โดยผู้ต้องขังถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเปราะทาง ที่ขาดการเข้าถึงบริการสุขภาพมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะบริการด้านทันตกรรม

1

ขณะเดียวกันมีงานวิจัยพบว่า ผู้ต้องขังมากกว่า 80% มีปัญหาสุขภาพช่องปาก และมีผู้ต้องขังเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เคยพบแพทย์ที่มาประจำ ซึ่งเรือนจำ/ทัณฑสถานบางแห่งไม่มีทันตแพทย์เข้าตรวจเลยในช่วงระยะเวลา 1 ปี หากมีผู้ต้องหาปวดฟันหนักๆ จะทำได้เพียงให้ยาแก้ปวด และรอส่งตัวออกไปรักษาข้างนอก ซึ่งก็จะใช้ระยะเวลาที่นาน

"การมีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ไปให้บริการตามทัณฑสถานต่างๆเป็นประจำ จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ต้องขัง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งที่มีทันตแพทย์จิตอาสาออกมาช่วยกันทำเพื่อสังคม" ทันตแพทยสภา ระบุ

อย่างไรก็ตาม ทางทันตแพทยสภา ยังระบุด้วยว่า ปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ต้องขังเป็นปัญหาเชิงระบบที่ซับซ้อน สะสมมานาน และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นทุกวัน นับเป็นวาระสำคัญที่ท้าทายของวงการสาธารณสุขที่ทันตแพทยสภาเองไม่อาจเพิกเฉย และต้องการผลักดันให้เกิดการแก้ไขเชิงระบบมากขึ้น

ดังนั้นทันตแพทยสภา จึงเห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าว และยินดีเป็นสื่อกลางในการช่วยประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดกิจกรรมเพื่อสังคมเช่นนี้ทั่วประเทศ โดยพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการทางสุขภาพช่องปากที่มากขึ้นในทุกกลุ่ม เพื่อให้คนไทยทุกคนได้มีสุขภาพช่องปากและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม:
ป่วยไข้ในเรือนจำ: ปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงบริการ (กุลภา วจนสาระ, 2561)
คู่มือการจัดบริการสุขภาพช่องปากในเรือนจำ (สำนักงานทันตสาธารณสุข, 2563)