วงเสวนาเช็คสถานการณ์รอบบ้าน 6 เดือนหลัง "ปลดกัญชาจากยาเสพติด" หลายภาคส่วนชี้บรรยากาศยังน่าห่วง คาด "ร่างกฎหมายแม่" ออกไม่ทันรัฐบาลนี้ ทำสังคมสุญญากาศ ชี้เกษตรหลงปลูกไร้องค์ความรู้ ผลผลิตไม่ได้เกรด หวั่นทะลักเข้าตลาดมืดถึงมือเยาวชนง่าย นำสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นได้
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เปิดเผยในเวทีเสวนา “เช็คสถานการณ์ 6 เดือนผ่านไปในวันที่มีกัญชารอบบ้าน” ที่จัดโดย ศศก. ตอนหนึ่งว่า หลังมีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ขณะนี้ผ่านมาเกือบ 6 เดือน จะเห็นได้ว่าแม้บางครอบครัวจะสามารถป้องกันได้ดี ไม่ให้มีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเข้ามาภายในบ้าน หากแต่ภายนอกบ้านยังสามารถพบได้ทั่วไป ทั้งร้านสะดวกซื้อ และการโฆษณาทางทีวี ตอกย้ำความคิดว่ากัญชาปลอดภัยใช้ได้
ขณะเดียวกัน ก็ยังเห็นผลกระทบจากการได้รับกัญชาทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ดังนั้นต้องติดตามผลกระทบต่อเนื่อง แสดงข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา เพื่อนำไปสู่การวางมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ และยืนยันว่าไม่ได้คัดค้านการใช้กัญชาในการแพทย์ แต่การใช้ทั่วไปแบบสันทนาการถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องอยู่ในระบบที่ดี เพราะที่ผ่านมามีรายงานพบว่าผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สูบกัญชามากขึ้น 2 เท่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาหลายภาคส่วนก็ได้ช่วยกันออกกฎหมาย ประกาศต่างๆ เพื่อควบคุมระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ที่สมบูรณ์รัดกุมออกมาในอนาคต
ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ที่ผ่านมามีปัญหาเฉพาะหน้ามากมาย ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องมีกฎหมายหรือประกาศออกมาหลายฉบับ ทั้งการใช้ปรุงอาหาร ห้ามใช้ในเด็กต่ำกว่า 20 ปี และกลุ่มเปราะบาง แต่สิ่งที่ตนห่วงคือกรณีอบรมผู้ประกอบการ และมีหลักสูตรการสอนในโรงเรียนที่แสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ คุณค่า การใช้อย่างถูกวิธี จึงเหมือนดาบ 2 คม ที่ทำให้ชินในการใช้กัญชาปรุงอาหาร
ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี กล่าวว่า เมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งผู้ประกอบการพยายามให้โรงเรียนมีหลักสูตรสอนการดื่มที่ถูกต้อง แต่ในเชิงลึกเป็นการชี้นำให้ใช้ได้ ยิ่งวันนี้กัญชาที่ถูกผลักดันหรือถูกกำหนดทิศทางโดยฝ่ายการเมือง อย่างพรรคภูมิใจไทย ที่ดันจนถูกกฎหมายและมีแนวโน้มถึงการใช้กัญชาสร้างการท่องเที่ยว ให้นันทนาการมากขึ้น แต่กระแสสังคมเริ่มกังวลเพราะเห็นผลกระทบตามมา และพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ระบุว่าไม่ยอมรับกัญชาเสรีใช้นันทนาการ
"ดังนั้นต้องระวัง เพราะจากข้อมูลแม้ว่าผลกระทบจากการใช้กัญชาทางร่างกายไม่มาก แต่มีข้อมูลผู้เข้ารับการบำบัดทางจิตจากกัญชาสัดส่วนปี 2561 อยู่ที่ 3% ปี 2562 อยู่ที่ 14% ปี 2563 อยู่ที่ 8% ปี 2564 อยู่ที่ 14% ส่วนปี 2565 เกือบ 17% จะเห็นว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และน่าจะเป็นเทรนด์ที่ต้องเฝ้าระวัง" ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี กล่าว
นางพัชรินทร์ ขันคำ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า หลังปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดแล้ว พบว่ามีการขายเมล็ดกัญชา กัญชง ทางอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการติดตามการปลูกพืชกัญชงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังเน้นเพื่อเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้ ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนที่สำเร็จก็พบว่าเป็นการปลูกภายใต้ระบบการควบคุมเพื่อการศึกษาวิจัย
ในส่วนของการปลูกกัญชา พบว่ามากกว่า 90-95% ไม่ประสบความสำเร็จ มีปัญหาโรคพืช และแมลง เพราะขาดองค์ความรู้ในการปลูกที่มีคุณภาพ ทั้งที่ใช้เงินทุนสูง ผลผลิตไม่ได้เกรดที่สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ ขายไม่ได้ จึงเป็นที่น่ากังวลว่าผลผลิตเหล่านี้จะหลุดเข้าไปในตลาดมืด ที่น่าห่วงคือการใช้ในเยาวชนที่อาจจะนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ ตามมาได้ ดังนั้นจึงมองว่าควรมีการควบคุมการปลูก และมีกลไกดูแลระดับพื้นที่อย่างทั่วถึง
ขณะที่ นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ที่มีการระบุว่าการปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติดของไทย ไม่ผิดอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด 1961 นั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ผิด เพราะในอนุสัญญายังถือว่าเป็นยาเสพติดที่ยังไม่มีประเทศใด นอกจากไทยที่ปลดออกจากยาเสพติด ซึ่งจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็พบว่าหลายประเทศที่อนุญาตให้ใช้เพื่อนันทนาการ กว่า 40% มีการใช้ไม่เหมาะสม
ทั้งนี้ โดยเฉพาะแถบอเมริกาเหนือ และแอฟริกาบางประเทศ เกิดปัญหาอาชญากรรม ปล้น คดีทางเพศ นำไปมอมผู้หญิง เกิดปัญหาสาธารณสุข ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย อุบัติเหตุทางถนน ขณะที่ปัญหากัญชาใต้ดินก็ยังมีอยู่ ดังนั้นข้อเสนอของยูเอ็นคือ ควรส่งเสริมให้ประชาชนทำอาชีพอื่น พร้อมยกโครงการพระราชดำริยกเลิกการปลูกฝิ่นของไทยเป็นแบบ ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมการปลูกกัญชามากขึ้น
ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทยนั้น มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยเพราะมีเนื้อหาที่ต้องมีการตีความให้เกิดการใช้กัญชาเสรี เช่น การกำหนดพื้นที่ห้ามขาย ห้ามสูบ ซึ่งไม่มีใครเขียนแบบนี้ เพราะเท่ากับว่าสถานที่ที่นอกเหนือจากนั้นถือว่าทำได้ ในขณะที่การระบุว่าห้ามสูบที่สาธารณะ ก็แปลว่าสูบในบ้านได้ แล้วเกิดกลิ่นควันไปกระทบเพื่อนบ้าน และกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกมากำกับก็ไม่สามารถใช้ได้จริง เช่น พ.ร.บ.การสาธารณสุข เรื่องกลิ่นและควันเห็นเหตุรำคาญ ก็ต้องมีเงื่อนไขว่าต้องมีการร้องเรียน เป็นต้น
นายไพศาล กล่าวว่า เมื่อย้อนไปตอนยกร่างฯ ก็ไม่มีการประชาพิจารณ์อย่างแพร่หลาย แต่ทำผ่านเว็บไซต์ซึ่งมีผู้แสดงความเห็น 97 คน แล้วทำสรุป ที่สำคัญคือ สธ. ไม่เสนอร่างฯ ประกบ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานรัฐไม่ควรละเลย ถือว่ากระทรวงเกียร์ว่าง และอาจเพราะรัฐมนตรีอยู่ในพรรคเดียวกัน
"อย่างไรก็ตาม หลังร่างฯ ถูกตีกลับมาปรับปรุงเสนอเข้าสภาใหม่นั้น ไม่น่าทันรัฐบาลชุดนี้ เพราะยังต้องผ่านวุฒิสภาอีก ท่ามกลางภาวะสุญญากาศไม่มีกฎหมายควบคุม ดังนั้นภาครัฐต้องมีบทบาทมากกว่านี้ ป.ป.ส.ไม่ควรละเลย เพราะดูแลเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเฉพาะ การอ้างว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้วจะไม่ทำอะไรเลยก็คงไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่เห็นชอบให้ปลดล็อคตอนแรกอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย" นายไพศาล ระบุ
ด้าน พญ.จริยา ภูดิศชินภัทร ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จากกรณีตัวอย่างชายวัยกลางคน 3 ราย ซื้อคุกกี้ผสมกัญชาแบ่งกันกินแล้วเกิดอาการเมา เคลื่อนไหวช้า ภาพตัดเป็นพักๆ จนต้องมาโรงพยาบาล พัก 4 ชั่วโมงอาการจึงค่อยดีขึ้น เมื่อตรวจคุกกี้ที่เหลือก็พบ THC 0.019 % ไม่เกินที่กฎหมายกำหนดในการเป็นยาเสพติด แต่กลับมีผลกระทบได้
ในขณะที่อีกเคสเป็นชายวัย 30 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการซีกซ้ายอ่อนแรง 30 นาที หลังสูบกัญชาบ้อง และมีอาการปวดศีรษะ ไม่มีตาเบลอ หรือผิดปกติอื่นๆ ตรวจร่างกายและ MRI สมอง ผลเป็นปกติ รักษาเหมือนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจนหายแล้ว คนไข้ให้ข้อมูลว่าสูบกัญชา 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่อง 2 ปี คาดว่าอาการดังกล่าวน่าจะเกิดจากกัญชา สอดคล้องกับรายงานในต่างประเทศ ที่พบคนสูบกัญชามานานจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองหดเกร็งเฉียบพลัน ภาพถ่ายรังสีหลอดเลือดสมองพบบางจุดตีบชัดเจน
ทั้งนี้คนอายุน้อย ถ้าหดแล้วคลายตัวทันทีเนื้อสมองจะไม่ตาย แต่ถ้าคนมีปัญหาหลอดเลือดตีบ เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดตีบชั่วคราวก็จะทำให้สมองขาดเลือดเฉียบพลัน หรือมีเลือดออกสมองได้ และกรณีเช่นนี้อาจเกิดกับผู้ป่วยใช้สาร หรือสารเสพติดอื่นๆ ได้ แต่กัญชาก็พบได้ราว 20% นอกจากนี้สารกัญชายังมีทั้งฤทธิ์กดสมอง และกระตุ้นสมองระยะสั้นและผลระยะยาว เช่น จิตเวช ซึมเศร้า อีคิวลด กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดเกร็ง เป็นต้น
- 606 views