ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พริบตา แทนเจอรีน สหคลินิก เปิดให้บริการ Telemedicine สำหรับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี หลังส่งผลเลือดล่วงหน้า สามารถขอรับคำปรึกษาออนไลน์-รับยาทางไปรษณีย์ได้ นักวิจัย IHRI เสนอ สปสช. พัฒนาเป็นชุดสิทธิประโยชน์-เปิดช่องเบิกค่าบริการ


นพ.จักรภัทร บุญเรือง แพทย์นักวิจัย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า “พริบตา แทนเจอรีน” เป็นสหคลินิกที่อยู่ภายใต้การดูแลของ IHRI โดยเปิดให้บริการโทรเวชกรรม หรือ Telemedicine สำหรับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมาตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากในช่วงนั้นมีการจำกัดผู้เข้ารับบริการต่อวันที่คลินิก ขณะที่ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย ก็ยังคงพัฒนาระบบ Telemedicine เพื่อดูแลผู้มารับบริการ รวมถึงผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีต่อไป

นพ.จักรภัทร กล่าวว่า การรับบริการผ่านระบบ Telemedicine นั้น ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีสามารถไปตรวจเลือดได้ที่คลินิกหรือสถานที่ใกล้บ้าน แล้วให้ส่งผลตรวจมาที่คลินิก “พริบตา แทนเจอรีน” จากนั้นทางคลินิกก็จะให้คำอธิบายเรื่องยาผ่านทางออนไลน์ เมื่อเสร็จสิ้นก็จะมีการส่งยาผ่านทางไปรษณีย์ หรือส่งผ่านแมสเซนเจอร์ในกรณีเร่งด่วนโดยจะไม่ระบุหน้าซองยาว่าเป็นยาอะไร เพื่อให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอไอวีมียารับประทานต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่มีบริการ Telemedicine ผู้ใช้บริการไม่ได้มาก แต่เมื่อโควิด-19 เริ่มเบาบางลงกลับมีจำนวนผู้เข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้น มีการติดต่อขอให้ส่งยาออนไลน์เฉลี่ยวันละประมาณ 10-20 ราย แตกต่างจากช่วงโควิด-19 ที่มีอยู่ประมาณวันละ 1-2 ราย

สำหรับการให้บริการเป็นไปอย่างสะดวกสบาย ผู้ป่วยไม่ต้องเตรียมตัวมาก เนื่องจากผู้ป่วยได้ส่งผลเลือดให้กับคลินิกฯ ล่วงหน้าแล้ว จึงสามารถติดต่อรับคำปรึกษาผ่านทางไลน์แอปพลิเคชันได้ทันที ส่วนผู้ที่ไม่มีผลเลือดก็จะมีการพิจารณาเพิ่มเติม เช่น ผู้ป่วยขาดยาหรือไม่ ผู้ป่วยรับประทานยาต่อเนื่องหรือไม่ ฯลฯ แต่แนะนำว่าการเจาะเลือดเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยใน 2 ปีแรก ควรจะมีการตรวจทุก 6 เดือน

“น่าแปลกตรงที่เราคิดว่าพอโควิดคลี่คลายแล้ว การใช้ Telemedicine จะน้อยลง กลับกลายเป็นว่า Telemedicine ยังได้รับความนิยมค่อนข้างมาก ทั้งที่คลินิกของเราอยู่ตรงจามจุรีสแควร์ ติด MRT สามย่าน เดินทางง่ายมาก แต่ผู้รับบริการบอกว่าการเดินทางมีต้นทุนค่าใช้จ่ายและเสียเวลา รวมทั้งไม่สะดวกพกพายา จึงนิยมใช้ Telemedicine กัน” นพ.จักรภัทร ระบุ

นพ.จักรภัทร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเริ่มมีการขยายบริการผ่านระบบ Telemedicine เพราะเห็นแล้วว่าระบบ Telemedicine สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง รวมถึงเรื่องการรับยาเพร็พ (PrEP) ที่เป็นยาทานป้องกันก่อนมีความเสี่ยงได้รับเชื้อเอชไอวี รวมถึงการส่งชุดตรวจคัดกรองหนองใน หนองในเทียมด้วยตนเองที่บ้านจากเดิมจะมีแค่การรับยาออนไลน์เท่านั้น

นพ.จักรภัทร กล่าวอีกว่า การให้บริการจ่ายยาเพร็พผ่านระบบ Telemedicine ในขณะนี้ยังไม่ได้ถูกรับรองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ฉะนั้นผู้ที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่ต้องจ่ายเงินเองเป็นหลัก เพราะสิทธิประโยชน์ยังไม่สามารถปรับใช้กับบริการดังกล่าวได้ ซึ่งระบบ Telemedicine นั้นควรจะได้รับการรับรอง เพราะมีหลักฐานค่อนข้างประจักษ์ว่าผู้รับบริการสะดวกกับการใช้ Telemedicine มากกว่าแม้ไม่มีการแพร่ระบาด

“หาก สปสช. เห็นตรงนี้ก็อาจจะสามารถพัฒนาไกด์ไลน์ในการให้บริการได้ และรองรับเป็นสิทธิประโยชน์ ส่วนตัวคิดว่าหากเกิดขึ้นจะเป็นเรื่องที่ดีมาก” นพ.จักรภัทร กล่าว

นพ.จักรภัทร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา เราอาจมีความเชื่อว่าการให้บริการทางสาธารณสุขจำเป็นจะต้องเจอหน้าแพทย์ ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อเก่าๆ อย่างกรณีการดูแลผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีนั้น จริงๆ แล้ว เราอยากได้ผลเลือดเป็นหลัก เพราะทุกอย่างในการรักษาเป็น LAB Base เกือบทั้งหมด ฉะนั้นเราควรทลายความเชื่อที่ว่าผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีต้องเข้ามมารับบริการที่โรงพยาบาล หรือคลินิกออกไปก่อน โดยเฉพาะ สปสช. อาจจะต้องเล็งเห็นตรงนี้ด้วย เพราะยังไม่ได้ระบบรับรองตรงนี้