ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการนำดิจิทัลมาใช้ยกระดับบริการสาธารณสุขของประเทศอย่างต่อเนื่อง

ก้าวที่สำคัญ คือการที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 12 ต.ค. 2564 ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รวมถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง เพื่อให้จัดเตรียมบุคลากร สนับสนุนบริการดิจิทัลการแพทย์ในโรงพยาบาล โดยมุ่งผลักดันให้โรงพยายาลให้บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) 

มากไปกว่านั้น ยังรวมถึงบริการดิจิทัลต่างๆ ซึ่งตรงนี้นับว่ามีความแตกต่างจากในอดีต และแสดงให้เห็นว่าในระดับนโยบายมีความตั้งใจจริงในการผลักดันการแพทย์ทางไกลให้เป็นรูปธรรม

เมื่อพูดถึง Telemedicine พบว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายจนกลายเป็นความปกติใหม่

 “The Coverage” ใช้โอกาสนี้พูดคุยกับ พงษ์ชัย เพชรสังหาร CEO and Co-founder ไดเอทซ์ (Dietz.asia) ผู้พัฒนาแพลทฟอร์มการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine สำหรับสถานพยาบาล

ไทยเอาจริง Telemedicine

นายพงษ์ชัย กล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา มีการออกกฎระเบียบ รวมถึงประกาศสภาวิชาชีพ เพื่อรองรับการแพทย์ทางไกล และการสาธารณสุขทางไกลหลายฉบับ ครอบคลุมการให้บริการของบุคลากรสาธารณสุขอย่างเป็นมาตรฐาน เช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลโดยใช้ระบบบริการการแพทย์ทางไกล พ.ศ. 2564 ประกาศแพทยสภา ที่ 54/2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวช (TELEMEDICINE) และคลินิกออนไลน์ ประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ 56/2563 เรื่อง การกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) ประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง แนวทางการพยาบาลทางไกล (Tele-nursing) ประกาศสภาเทคนิคการแพทย์เรื่องมาตรฐานการให้บริการงานเทคนิคการแพทย์ทางไกล (Tele-medical labs) พ.ศ.2563 ประกาศสภากายภาพบำบัด เรื่อง มาตรฐานการให้บริการกายภาพบำบัดทางไกลของสถานพยาบาล พ.ศ. 2564 และ ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง แนวทางปฏิบัติการแพทย์แผนไทยทางไกล หรือโทรเวชทางการแพทย์แผนไทย (Thai traditional telemedicine) และคลินิกออนไลน์ พ.ศ. 2564

"ประกาศดังกล่าว ถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่แต่ละวิชาชีพต้องดำเนินการเมื่อให้บริการด้วยวิธีการทางไกล ซึ่งนอกจากจะช่วยให้การดำเนินการมีความชัดเจน ยังช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยอีกด้วย"

โทรเวชกรรมเฉพาะโรค

นายพงษ์ชัย กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกลให้กับโรงพยาบาลของรัฐ ทั้งโรคโควิดที่มีผู้ป่วยในระบบไดเอทซ์มากกว่า 2 แสนราย รวมถึงการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน การดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูง การดูแลผู้ป่วยโรคไต การดูแลผู้ป่วยด้านสมองและระบบประสาท การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลในเรือนจำ การดูแลผู้ป่วยเอชไอวี รวมถึงการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยหลังผ่าตัด หรือผู้ป่วยโรคทั่วไป ระบบการแพทย์ทางไกลที่ตอบโจทย์ของการดูแลผู้ป่วย จะต้องสามารถปรับเปลี่ยนการประเมินตนเองของผู้ป่วยก่อนพบแพทย์ออนไลน์ได้เหมาะสมในแต่ละโรค

"โรงพยาบาลพุทธโสธร ใช้แพลทฟอร์มไดเอทซ์ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เราก็ได้ได้ปรับระบบการแพทย์ทางไกลให้สอดคล้องกับการดูแลผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยเบาหวานตั้งครรภ์ที่ต้องฉีดอินซูลิน จะต้องสามารถบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดในแต่ละช่วงเวลา ปริมาณยาที่ฉีด รวมถึงปริมาณอาหารที่รับประทาน ส่งให้แพทย์ทราบก่อนเพื่อที่แพทย์จะได้ให้คำแนะนำได้" นายพงษ์ชัย กล่าว

นายพงษ์ชัย กล่าวต่อไปว่า กรณีที่ไดเอทซ์ได้ทำแพลทฟอร์มดูแลผู้ป่วยเอชไอวี ให้กับกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค นำร่องในโรงพยาบาลจำนวน 6 แห่ง ก็ได้ปรับเพิ่มความสามารถของแพลทฟอร์มการแพทย์ทางไกลให้ผู้ป่วยสามารถกรอกแบบประเมินตนเองก่อนพบแพทย์ แล้วระบบจะคำนวนประเมินและแจ้งแพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกรทราบโดยอัตโนมัติ เช่น ความเสี่ยงวัณโรค TB ALERT/ ADR ALERT / STI ALERT / NARCOTIC ALERT / 2Q ALERT (ประเมินซึมเศร้า) / PARTNER ALERT / PRECONCEPTION ALERT / COVID ALERT เป็นต้น รวมถึงการแจ้งเตือนนัดหมาย ทำให้ผู้ป่วยสามารถติดตามอาการได้ต่อเนื่อง

"โมเดลการดูแลผู้ป่วยด้วยการแพทย์ทางไกล มีหลายรูปแบบ เช่น 1. ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านเทเลมาพบแพทย์ที่รพศ. หรือ รพช. 2. ผู้ป่วยมาที่รพช.เพื่อเทเลมาพบแพทย์เฉพาะทางของ รพศ. หรือ 3. ผู้ป่วยมาที่รพ.สต.แล้วเทเลมาที่ รพช. หรือ รพศ. โมเดลเหล่านี้รพ.ที่จะให้บริการต้องพิจารณาดำเนินการ เพราะต้องสื่อสารภายใน รวมถึงประสานงานภายนอกรพ.ด้วย" นายพงษ์ชัย กล่าว

นายพงษ์ชัย กล่าวว่า ระบบการแพทย์ทางไกลจะต้องใช้งานง่าย คนไข้ควรไม่จำเป็นต้องโหลดแอปซ้ำซ้อน เราเคยทำแอปแล้วพบว่าคนไข้โหลดไม่เป็นโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ดังนั้นแพลทฟอร์มไดเอทซ์จึงพัฒนาช่องทางบน Line OA แยกแต่ละโรงพยาบาลให้จัดการข้อมูล รูปแบบบริการ เฉพาะของแต่ละโรงพยาบาลได้โดยง่าย ผู้ป่วยไม่ต้องโหลดแอป แค่แอดไลน์กดลงทะเบียนก็ใช้บริการได้เลย อย่างเช่น โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ กทม. ไดเอทซ์ก็จัดทำ Line OA ชื่อว่า @1rpp เพียงไม่กี่เดือนก็มีผู้ใช้บริการมากกว่า 11,000 คน นั่นเพราะไม่ต้องโหลดแอปยุ่งยาก

ลดภาระงานบุคลากร

"ในประเด็นการลดภาระงานของบุคลากร ระบบการแพทย์ทางไกลต้องสามารถเชื่อมต่อกับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล เพื่อให้พยาบาล แพทย์ เภสัชกรไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ นอกจากนี้ ในประเด็นการชำระเงินส่วนเกินสิทธิและการจัดส่งยา ระบบการแพทย์ทางไกลควรจะต้องช่วยลดภาระบุคลากร โดยเชื่อมโยงระบบชำระเงิน และ ระบบขนส่งหลายรูปแบบโดยอัตโนมัติ เช่น ไปรษณีย์ไทย ขนส่งพัสดุ ขนส่วด้วยพนักงานจัดส่ง (Rider) รวมถึงขนส่งยาเย็น ซึ่งไดเอทซ์เองสามารถเชื่อมโยงบริการต่างๆ ได้โดยง่าย" นายพงษ์ชัยกล่าว

นายพงษ์ชัย กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลหลายแห่งใช้ซอฟต์แวร์การประชุมมาดัดแปลงเป็นระบบการแพทย์ทางไกล ซึ่งมีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะรั่วไหล รวมถึงไม่มีระบบการยืนยันตัวตนของทั้งผู้ป่วยและแพทย์ ดังนั้น โรงพยายาลจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างมาก โดยไดเอทซ์มีการออกแบบให้มีการยืนยันตัวตนของผู้ป่วยและมีการรักษาความปลอดภัยเช่น การเข้ารหัสข้อมูลในฐานข้อมูล การเชื่อมต่อด้วยโปรโตคอล SSL เป็นต้น

จัดบริการ เบิกกองทุนสุขภาพได้

"บริการสาธารณสุขระบบทางไกลกรณีผู้ป่วยนอก (Telehealth/Telemedicine) จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลในการลดความแออัดในโรงพยาบาล โดย สปสช. เริ่มดำเนินการในปี 2564 ตามมาตรฐานการบริการที่สภาวิชาชีพหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยปัจจุบันเบิกได้ครั้งละ 50 บาท อ้างอิงจาก แนวทางการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีค่าบริการสาธารณสุขทางไกล (Telehealth / Telemedicine) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  รอประกาศอย่างเป็นทางการสำหรับปีงบประมาณ 2565

“การออก Authen ของผู้ป่วยจะต้องดำเนินการทุกครั้ง ซึ่งสามารถใช้ภาพบัตรประชาขนถ่ายคู่กับใบหน้าผู้ป่วยลงทะเบียน Authen ได้ เมื่อให้บริการแล้ว โรงพยาบาลจะต้องทำการบันทึกค่าใช้จ่าย ที่ต้องถูกต้องครบถ้วน เช่น ข้อมูลผู้ป่วย ข้อมูลสิทธิการรักษา ข้อมูลสถานพยาบาล ข้อมูลการวินิจฉัย ข้อมูลแพทย์ผู้รักษา ข้อมูลค่าบริการในระบบทางไกล เป็นต้น ซึ่งโรงพยายาลสามารถลดภาระการคีย์ข้อมูลด้วยระบบการเชื่อมโยง API อัตโนมัติกับ สปสช. ซึ่งไดเอทซ์ให้บริการด้วย”

สำหรับผู้ป่วยสิทธิช้าราชการ กรมบัญชีกลางมีประกาศรองรับชัดเจนในการยกเว้นการแสดงตัวตนด้วยเครื่องอ่านบัตรประชาชน และรองรับการแพทย์ทางไกล ส่วนสำนักงานประกันสังคมก็รองรับขึ้นกับสถานพยาบาลจะมีบริการหรือไม่

ทั้งนี้ นับว่าเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนวงการสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ไม่เพียงแต่ช่วยผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ ปรับตัวเข้าสู่บริการที่ทันสมัย และลดภาระงานได้ในระยะยาวอีกด้วย

อนึ่ง ไดเอทซ์มีผลงานการดำเนินงานให้กับโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลพุทธโสธร โรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ฯลฯ