ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัยชี้ ประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนทั่วไปให้กลุ่มเด็กในช่วงการระบาดของโควิด 19 แม้จะมีอัตราการฉีดวัคซีนลดลง แต่ก็ไม่ลดลงมากเทียบเท่าประเทศที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

งานวิจัยดังกล่าว เผยแพร่ในเว็บไซต์งานวิจัยด้านสุขภาพ PLOS Medicine เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) ได้แก่ ซูยง คิม (Sooyoung Kim) ไทเลอร์ เฮดเลย์ (Tyler Y. Headley) และเยซิม โทซาน (Yesim Tozan)

การศึกษาพิจารณาฐานข้อมูลการให้วัคซีนเด็ก 14 ประเภท ใน 195 ประเทศ ในระหว่างปี 2540-2563 ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ พบว่าประเทศที่มีคะแนนตัวชี้วัดด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูง (มีคะแนนอย่างน้อย 80 คะแนน จากเต็ม 100) มีอัตราการให้วัคซีนเด็กในช่วงโรคระบาดลดลง แต่ก็เป็นเป็นอัตราส่วนที่น้อยกว่าประเทศที่คะแนนตัวชี้วัดด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่ำ

1

ประเทศในกลุ่มแรกมีอัตราการให้วัคซีนลดลงน้อยกว่าประเทศในกลุ่มหลัง 2.7%

ก่อนโรคระบาด การให้วัคซีนเด็กในประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพครอบคลุมมากถึง 92.7% ของประชากรเด็ก ส่วนประเทศที่มีพัฒนาการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าน้อยกว่า มีความครอบคลุมอยู่ที่ 86.2%

ในปี 2563 ช่วงเกิดโรคระบาด ประเทศกลุ่มแรกมีความครอบคลุมการให้วัคซีนเด็กลดลงเหลือ 91.9% ประเทศกลุ่มหลังลดลงเหลือ 81.7%

“โรคระบาดโควิด 19 ทำให้การให้บริการสุขภาพที่จำเป็นต้องหยุดชะงักทั่วโลก การศึกษาชิ้นนี้รวบรวมหลักฐานเชิงปริมาณที่ยืนยันว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยปกป้องสุขภาพประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในช่วงเกิดวิกฤต” โทซาน หนึ่งในนักวิจัยกล่าว

“งานวิจัยของเราไม่เพียงแต่ยืนยันว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีคุณประโยชน์ต่อระบบสุขภาพ แต่ยังเน้นย้ำถึงความต้องการงานวิจัยที่ค้นหาประสิทธิภาพของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการป้องกันระบบสุขภาพในช่วงวิกฤต”

นักวิจัยยังเสนออีกว่า นักทำโยบายควรจะมุ่งหน้าผลักดันหลักประกันสุขภาพให้สำเร็จในเร็วๆ นี้ การใช้อัตราการรับวัคซีนทั่วไปในเด็ก เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพ

นักวิจัยเสนอว่า งานวิจัยในอนาคตควรจะเอาตัวชี้วัดอื่นมาศึกษา เช่น การเข้าถึงยาต้านไวรัสในกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ในช่วงวิกฤต หรือการเข้าถึงบริการสุขภาพของแม่และเด็ก

1

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกทำการสำรวจการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นในกลุ่มประเทศสมาชิก พบว่าการให้บริการหยุดชะงักใน 90% ของประเทศที่ทำการสำรวจ

บริการสุขภาพที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ บริการสุขภาพแม่และเด็ก อนามัยเจริญพันธ์ การให้วัคซีนและสารอาหาร บริการด้านสุขภาพจิต เอชไอวีและเอดส์ มาลาเรีย วัณโรค ไวรัสตับอักเสบ การรักษาโรคมะเร็ง และการดูแลผู้สูงอายุ

ครึ่งหนึ่งของประเทศที่ทำการสำรวจมีปัญหาการให้บริการแพทย์ปฐมภูมิ หลายประเทศไม่สามารถให้บริการแพทย์ฉุกเฉินได้ 36% หยุดให้บริการรถการแพทย์ 32% ไม่สามารถเปิดห้องแพทย์ฉุกเฉินให้ครบ 24 ชั่วโมง และ 23% ไม่สามารถให้บริการผ่าตัดฉุกเฉิน

ประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความสามารถในการดำเนินการให้บริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีการวางระบบการให้บริการที่ครอบคลุมอยู่แต่เดิม และบุคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพค่อนข้างสูง

อ่านข่าวต้นฉบับ:
https://www.usnews.com/news/health-news/articles/2022-08-18/countries-with-universal-health-care-had-better-child-vaccination-rates-during-pandemic

https://www.who.int/news/item/07-02-2022-essential-health-services-face-continued-disruption-during-covid-19-pandemic

อ่านงานวิจัย “Universal healthcare coverage and health service delivery before and during the COVID-19 pandemic: A difference-in-difference study of childhood immunization coverage from 195 countries” ฉบับเต็ม