ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงที่ระบบสุขภาพพยายามเอาตัวรอดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนั้น ก็ได้เกิดบริการสุขภาพใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อดูแลรักษาชีวิตประชากรให้ได้มากที่สุด อย่างเช่น “Telemedicine” ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในระบบการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือการรักษาตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) ช่วงที่เตียงว่างในโรงพยาบาลมีค่าไม่ต่างจากทอง

เมื่อกาลเวลาผ่านไปโรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ แม้ว่าภายใต้สถานการณ์ของโควิด-19 จะคลี่คลายลงไปพร้อมๆ กับการทิ้งร่องรอยความสะบักสะบอมเอาไว้ในระบบสุขภาพ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 คือตัวเร่งรัดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสาธารณสุขของไทย

“โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดึงระบบ Telemedicine มาใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งรักษาตัวที่บ้านและชุมชนแบบครบวงจร จนขยายต่อยอดออกมาใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการได้อย่างครอบคลุม สะดวก และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้

1

นพ.โชคชัย ลีโทชวลิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า ศูนย์บริการการแพทย์ทางไกลโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยานั้นสืบเนื่องมาจากนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) และปลัด สธ. ที่อยากให้สถานพยาบาลต่างๆ พัฒนารูปแบบบริการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมในการดูแลผู้ป่วย ภายใต้แนวคิดการทำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนบริการ ซึ่งโรงพยาบาลฯ ก็ได้ดำเนินการเรื่องศูนย์การแพทย์ทางไกลมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เช่น การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านระบบ HI

สำหรับบริการแพทย์ทางไกลในเบื้องต้นจะมีการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญและสามารถเข้าถึงบริการได้ก่อน เช่น ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 หรือผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาเรื่องโรคไต รวมไปถึงผู้ป่วยจิตเวช และกลุ่มผู้ป่วยในเรือนจำ ซึ่งในอนาคตก็จะมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายตามความสำคัญและจะขยายให้ครอบคลุมเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ สามารถดูแลต่อเนื่องได้ดียิ่งขึ้น และจะสามารถช่วยลดปัญหาต่างๆ ในระยะยาวได้

พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โรคไตเป็นโรคที่ค่าใช้จ่ายสูง หากสามารถตรวจติดตามและเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยได้ก็อาจจะช่วยชะลอไตเสื่อม และลดค่าใช้จ่ายได้ แต่อีกหนึ่งกลุ่มที่สนใจนั่นก็คือการติดตามผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะโรคเบาหวานนั้นเป็นโรคตั้งต้นของหลายๆ โรค เช่น เบาหวานลงไต เบาหวานขึ้นตา เบาหวานที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ

2

“คนไข้เบาหวานตอนนี้มีความรู้ก็สามารถเจาะน้ำตาลได้ที่บ้าน มีการวิดีโอคอลคุยกับคนไข้ และดูค่าน้ำตาล ปกติถ้ามาตรวจกับหมอก็อาจจะนัด 3 เดือนครั้ง อาจจะเจอหมอ 5 นาทีกลับบ้านเพราะคนไข่แน่นในโรงพยาบาล แต่ถ้าเราวิดีโอคอลคุยกันก็สามารถคุยกันได้บ่อย ตรวจติดตามได้บ่อยก็จะมีผลทำให้คุมน้ำตาลได้ดีขึ้น” พญ.เสาวลักษณ์ ระบุ

กระบวนการต่อไปก็คือสามารถสั่ง และส่งยาผ่านทางไปรษณีย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งยาตัวเดิม หรือยาตัวใหม่ก็ตาม

อย่างไรก็ดี การแพทย์ทางไกลเองก็ยังมีอุปสรรคนั่นก็คือไม่สามารถตรวจร่างกายได้ และอาศัยประเมินตามที่ผู้ป่วยบอกเท่านั้น รวมไปถึงผู้ป่วยที่เป็นภาวะฉุกเฉิน เช่น ปวดท้อง การตรวจร่างกายไม่ได้ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเสี่ยง เพราะอาการปวดท้องอาจมาจากไส้ติ่ง ฯลฯ และอาจจะเสี่ยงทำให้ไส้ติ่งแตกได้ ซึ่งกลุ่มที่เป็นภาวะฉุกเฉินก็จะมีการแยกให้คำปรึกษา และให้ผู้ป่วยเข้ามาตรวจที่โรงพยาบาล

นอกเหนือจากการตรวจติดตามผู้ป่วยบางกลุ่มโรคแล้วนั้น ระบบแพทย์ทางไกลของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาก็ได้แผ่ขยายเข้าสู่เรือนเพื่อตรวจติดตามอาการของผู้ป่วย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางอีกด้วย

นพ.ธาตรี โบสิทธิพิเชฏฐ์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำอำเภอพระนครศรีอยุธยาประมาณ 6,000 คน ซึ่งผู้ต้องขังจะมีข้อจำกัดค่อนข้างมากในการเข้าถึงบริการ ฉะนั้นจึงได้เลือกบริการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เข้ามาร่วมให้บริการผู้ป่วย ซึ่งจะดูแลอยู่ 2 กลุ่มหลัก นั่นก็คือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน ฯลฯ ที่จำเป็นต้องใช้การพูดคุยเพื่อซักประวัติ ปรับยา และอีกหนึ่งกลุ่มนั่นก็คือผู้ป่วยจิตเวช

3

สำหรับการรักษาก็สามารถดูความผิดปกติได้ด้วยเช่นกัน หากสังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติระหว่างรักษาก็จะมีการประสานพยาบาลในเรือนจำช่วยตรวจร่างกายในเบื้องต้น แต่ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินก็จะมีการประสาน 1669 ให้เข้าไปรับผู้ป่วยได้ทันที ขณะเดียวกันหากเกิดขึ้นนอกเวลาตรวจ Telemedicine ก็จะมีการปรึกษาโดยตรงไปที่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวตามแนวทางนโยบาย 3 หมอ โดยจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) เป็นหมอคนที่ 1 พยาบาลประจำเรือนจำเป็นหมอคนที่ 2 และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นหมอคนที่ 3

สำหรับการติดตามอาการของผู้ป่วยในเรือนจำนั้นหลักๆ จะเป็นการติดตามค่าน้ำตาล ค่าความดันเหมือนกับที่ใช้ติดตามผู้ป่วยปกติ ซึ่งก่อนวันเข้าตรวจ อสรจ. ก็จะมีการวัดความดัน เจาะดูค่าน้ำตาลและส่งเข้ามาในไลน์กลุ่มก่อน ฉะนั้นแพทย์ที่ตรวจก็จะเห็นค่าต่างๆ ของผู้ป่วยได้ จากนั้นก็จะมีการบันทึกข้อมูลลงฐานโปรแกรมของโรงพยาบาล ขณะเดียวกันถ้าต้องมีการตรวจค่าตับ ไตเพิ่มเติม ทางเรือนจำก็จะเจาะเลือด และส่งมาให้ที่โรงพยาบาล เมื่อผลเลือดขึ้นแล้วก็จะทำให้แพทย์สามารถติดตามผลเลือดได้

ทั้งนี้ เมื่อการพบแพทย์เสร็จสิ้น ก็จะมีการสั่งยาในระบบ โดยจะมีการเตรียมยาเอาไว้ที่ห้องจ่ายยา ซึ่งเภสัชกรก็จะมีการจัดยาผู้ป่วยเอาไว้เป็นชุด หลังจากนั้น 1 วันก็จะมีเจ้าหน้าที่เรือนจำมารับยา และส่งต่อให้พยาบาลในเรือนจำ สุดท้ายก็จะมีการกระจายไปให้ อสรจ. ที่จะเป็นคนนำยาไปให้ผู้ป่วยโดยตรง

พญ.สุปริญา สาริบุตร จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า ผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำส่วนมากจะเป็นโรคทางจิตเภท หรือภาวะอาการทางจิตเวชที่เกิดจากสารเสพติด รวมไปถึงโรคทางกลุ่มอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ภาวะเครียด หรือนอนไม่หลับ

4

สำหรับผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ที่อยู่ในเรือนจำนั้นอาจจะมาจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม สถานที่ หรือชีวิตใหม่ อาจะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับขึ้นได้ ซึ่งการมีระบบการแพทย์ทางไกลเข้ามานั้นก็ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้มากขึ้น ที่ผ่านมาก็ได้มีการดูแลผู้ป่วยจิตเวชอยู่ประมาร 40 รายต่อเดือนเป็นจำนวนที่มากขึ้นกว่าในอดีตเนื่องจากในช่วงที่ญาติต้องมารับยาแทนนั้นบางรายก็ขาดนัด หรือมาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งการรักษาจะควบคู่ทั้งการให้คำปรึกษาและให้ยา หากผู้ป่วยมีความเครียดก็อาจจะผ่อนคลายลงหลังจากได้รับการพูดคุย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีอาการโรคซึมเศร้าตรงนี้ก็จำเป็นจะต้องจ่ายร่วมด้วย

อย่างไรก็ดี การตรวจด้วยระบบการแพทย์ทางไกลนั้น จะเป็นการพูดคุยและดูสีหน้าผู้ป่วยเป็นหลักเพื่อประเมินอารมณ์ผู้ป่วย หรือประเมินภาวะซึมเศร้า ภาวะเครียด หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงในการทำร้ายตนเอง แต่ข้อจำกัดในการตรวจผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำนั้นระหว่างการพูดคุยก็จะมีเจ้าหน้าที่เรือนจำอยู่ด้วย ทำให้ผู้ป่วยอาจจะไม่สามารถเล่าข้อมูลบางอย่างได้ทั้งหมด ส่วนนี้อาจจะแก้ไขได้หากผู้ป่วยมีความไว้วางใจ รู้สึกปลอดภัย และกล้าเล่ามากขึ้น ตรงนี้ก็จะช่วยทำให้แพทย์ได้ข้อมูลมากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันฟากฝั่งผู้รับบริการการแพทย์ทางไกล อย่างผู้ป่วยบัตรทองล้างไตทางหน้าท้องผ่านเครื่องล้างไตอัตโนมัติก็ได้ระบุว่า จากการเข้ารับบริการราว 1 เดือนสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือความสะดวก เพราะในอดีตต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลเพื่อรอพบแพทย์เป็นเวลานาน รวมไปถึงยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อีกด้วย

5

5

สำหรับการให้คำแนะนำ ปรึกษานั้นไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม เพราะแพทย์จะมีการสอบถามอาการ ความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่อาจจะแตกต่างตรงที่เมื่อเป็นการพบแพทย์ทางไกลนั้นแพทย์จำไม่เห็นลักษณะร่างกายว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เช่น สีเล็บ หรืออาการบวมต่างๆ

อย่างไรก็ดี ข้อดีของการพบแพทย์ทางไกล นอกเหนือจากความสะดวกแล้ว อีกหนึ่งสิ่งคือสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านไลน์ได้ตลอด และบางครั้งแพทย์ก็จะทักมาเพื่อติดตามอาการทุกวันเผื่อมีอาการที่ผิดปกติ เพราะถ้าเทียบกับการพบแพทย์ในอดีตการจะคุยหรือปรึกษาได้จะต้องรอวันนัดเท่านั้น

ปัจจุบันมีโรงพยาบาล 61 แห่งที่เข้าร่วมให้บริการระบบการแพทย์ทางไกล Telehealth เน้นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายที่มีอาการคงที่ สามารถควบคุมโรคได้ดี ข้อมูลจาก สปสช. ระบุว่า มีผู้ป่วยเข้ารับบริการแล้ว 89,706 คน 174,710 ครั้ง

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองติดต่อสอบถามโรงพยาบาลที่ตนรับบริการ เพื่อสอบถามข้อมูล หรือแสดงความจำนงค์เข้ารับบริการสาธารณสุขระบบทางไกลได้ตามต้องการ ในส่วนของขั้นตอนการรับบริการผ่านระบบดังกล่าวนั้น ในขั้นแรกทางแพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการผู้ป่วยว่ามีอาการคงที่ พร้อมที่จะรับการรักษาผ่านระบบ Telehealth หรือไม่

หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีความพร้อมก็จะแจ้งให้ทราบและสอบถามความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ จากนั้นพยาบาลจะติดต่อชี้แจงข้อตกลง วิธีการตรวจทางไกลและนัดหมายผู้ป่วย เมื่อถึงเวลานัดก็ทำการเชื่อมต่อวิดีโอคอลกับแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หากจำเป็นต้องรับยาด้วย ทางโรงพยาบาลก็จะมีระบบการจัดส่งยาทางไปรษณีย์หรือแพ็คยาแล้วให้ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าบริการ