ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“30 บาทรักษาทุกโรค” หรือบัตรทอง เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 โดยปัจจุบันผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มากถึง 47.74 ล้านคน

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ บัตรทองมีพัฒนาการมาโดยตลอด ตั้งแต่การอำนวยความสะดวกประชาชนด้วยการใช้ “บัตรประชาชน” ใบเดียว แทนบัตรทอง ไปจนถึงการปรับเพิ่มงบประมาณ-สิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้สิทธิ

ทุกวันนี้ การบริหารจัดการบัตรทอง ภายใต้การดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ครอบคลุมเกือบจะทุกโรค 100% โดย สปสช. มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณให้หน่วยบริการ พร้อมทั้งจัดทำเกณฑ์-แนวทางการรักษา

หน่วยบริการใดที่ต้องการรับงบประมาณก้อนนี้ ก็ต้องจัดบริการให้ตรงตามเกณฑ์-โรค ที่ สปสช. กำหนด

นั่นหมายความว่า ทุกหน่วยบริการที่เข้ามาในระบบบัตรทองจะมีตัวชี้วัดเดียวกัน ส่วนคุณภาพการให้บริการ-ความสะดวกสบาย ฯลฯ เป็นเรื่องที่ “หน่วยบริการ” จะต้องนำงบประมาณนั้นไปบริหารจัดการเอง

เราจึงเห็นว่า ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสิทธิเดียวกัน แต่ได้รับบริการที่แตกต่างกันออกไป สุดแล้วแต่ผู้บริหารหน่วยบริการนั้นๆ จะมีศักยภาพเพียงใด

อย่างไรก็ดีในแง่ของสิทธิประโยชน์ ทุกวันนี้อาจมีความสับสนว่า “บัตรทอง” ครอบคลุม-ไม่ครอบคลุมบริการใดบ้าง มีคำอธิบายจาก ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช.

1

สิทธิประโยชน์บัตรทองคืออะไร ?

สำหรับสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กฎหมายจะกำหนดให้เป็น “ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข” ตามมาตรา 3 เริ่มตั้งแต่ ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดและการบริการทางการแพทย์ ค่ายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าทำคลอด ค่าอยู่กินในหน่วยบริการ ค่าบริบาลเด็กแรกเกิด ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย ค่าพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นเพื่อการรับบริการสาธารณสุขตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนด

“กล่าวโดยสรุป สิทธิประโยชน์บัตรทองครอบคลุมตั้งแต่จากครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน”

ขณะเดียวกัน ทันตแพทย์อรรถพร อยากให้นึกถึง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ประเภทและของเขตบริการสาธารณสุข หมายถึงบริการหรือโรคที่สามารถใช้บริการได้ 2. วิธีการไปรับบริการ หมายถึงเมื่อเป็นโรคจะสามารถรับบริการได้ที่ใด และ 3. การเบิกจ่ายที่ สปสช. จ่ายให้แก่หน่วยบริการ

เพราะทั้ง 3 ข้อนั้นเป็นส่วนประกอบที่จะทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกและเป็นไปตามที่กองทุนกำหนดไว้

ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขจากประกาศล่าสุด มีอะไรใหม่ ?

สำหรับประกาศฉบับล่าสุด ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ.2565 ที่เผยแพร่ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานั้น จะใช้เหมือนกันอย่างที่กฎหมายได้ระบุไว้ แต่ทว่าสิ่งที่เพิ่มเติมมานั้นคือ “บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ” แม้ว่า สปสช. เองก็มีประกาศเก่าอยู่แล้ว แต่บอร์ด สปสช. ก็ได้มีการนำประกาศมาทบทวน และควบรวมทุกฉบับให้เป็นฉบับเดียวกัน

2

อย่างไรก็ดี แม้ในทุกๆ ปี สปสช. ก็จะมีการประกาศสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมออกมาใหม่พอสมควร แต่ทว่าในปี 2565 นี้จำนวนสิทธิประโยชน์ที่ถูกเพิ่ม-ขยายขึ้นนั้นมีจำนวนค่อนข้างมาก เช่น การคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกในทารก การตรวจมะเร็งช่องปาก การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก การตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย และซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์เมื่อตรวจพบความผิดปกติ การให้ยาราคาแพง การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด บริการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ฯลฯ ซึ่งถ้าเป็นสิทธิประโยชน์ที่เรียกว่า “บริการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” นั้น จะครอบคลุมคนไทยทุกคน

นอกจากนี้ รองเลขาธิการ สปสช. ยังระบุว่า สำหรับบริการที่เคยเป็นข้อยกเว้น และได้รับการเสนอให้เป็นบริการที่บุคคลมีสิทธิจะได้รับ ตามการจัดหมวดหมู่ในประกาศฉบับใหม่นั้น ได้แก่ การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติด หากผู้ที่ติดยาเสพติดสมัครใจเข้ารับบริการก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ ยกเว้นเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดที่มีกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด หากถูกบังคับให้บำบัดส่วนนี้จะไม่ใช่ สปสช. เป็นฝ่ายดูแลแต่จะกลายเป็นกระทรวงยุติธรรม

การบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุประสบภัยจากรถ ยกเว้น การดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รวมไปถึงการรักษาภาวะผู้ที่มีบุตรยากหรือการผสมเทียมตามที่ สปสช. กำหนดโดยความเห็นของคณะกรรมการ ยกเว้น การอุ้มบุญ และการรักษาโรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลเกิน 180 วัน

บัตรทอง ไม่ครอบคลุมอะไรบ้าง

สำหรับสิทธิประโยชน์ “บัตรทองไม่ครอบคลุม” อย่างแรกจะเป็นเรื่องของการศัลยกรรมความงาม หรือเป็นการกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ตามด้วยการตรวจวินิจฉัยหรือการรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง หรือเกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการปลูกถ่ายอวัยวะที่ไม่อยู่ในรายการที่กำหนด แต่ก็มีบางบริการที่สิทธิประโยชน์ได้ให้ไปแล้ว เช่น การปลูกถ่ายหัวใจ การปลูกถ่ายถ่ายตับในเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ในกรณีเป็นโรคท่อน้ำดีอุดตัน การปลูกถ่ายตับในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคตับแข็งระยะกลาง หรือระยะท้าย นอกเหนือไปจากนั้นยังไม่ครอบคลุม และสุดท้ายคือการบริการทางการแพทย์อื่น ตามที่ บอร์ด สปสช. กำหนด

4

หมุดหมายในปีหน้า เน้นเข้าถึงบริการมากขึ้น

ทันตแพทย์อรรถพร ระบุว่า ในทุกปีจะมีการรับฟังความคิดเห็น และจะมีการนำบางหัวข้อที่ได้มาศึกษา และดูต้นทุนความคุ้มค่า ซึ่งสิ่งที่คิดว่าต้องทำในปีหน้าหรือปีถัดๆ นั่นก็คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น แม้จะมีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมแต่ก็อาจจะมีประชาชนบางส่วนที่ยังเข้าไม่ถึง

“เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ สปสช. จะมองตรงนี้ เราพูดว่าเราครอบคลุมทุกอย่างแต่ประชาชนเข้าไม่ได้ หรือว่ายังไม่สามารถใช้บริการได้ ติดขัดที่ตรงไหน”

นอกจากนั้นแล้ว จะเห็นว่าในขณะนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมา สำหรับบริการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้นก็จะพยายามดูว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีที่มีความคุ้มค่ากับการที่จะใช้เงินจากรัฐบาลมากน้อยแค่ไหนเพื่อดูแลประชาชน

สุดท้ายสิ่งที่คิดว่าจะขยายนั่นก็คือบริการใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีราคาแพง เพราะหากว่าไม่ครอบคลุมในส่วนนี้ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการเงินของครัวเรือนได้ ฉะนั้นก็จะพยายามพัฒนาดูว่ามีช่องทาง หรือวิธีการใดที่จะนำเข้ามาสู่ระบบบัตรทองได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเห็นว่ามีราคาแพงและจะสามารถนำเข้าได้ อาจจะต้องมีการทำให้ราคาถูกลงเพื่อสำเข้ามาในระบบได้ เพื่อที่จะใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประโยชน์สูงสุด

“จริงๆ สิทธิประโยชน์ก็มีการปรับใหม่อยู่ตลอดเวลา ส่วนมากเวลาที่มีการปรับขยายเพิ่มก็จะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งก็มีการประกาศทุกช่องทาง ก็จะสามารถทราบได้ว่ามีสิทธิประโยชน์อะไรเพิ่มเติมในแต่ละปี” ทันตแพทย์อรรถพร ระบุ

3