ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความรักทำให้คนตาบอด สำนวนที่เราได้ยินมาช้านาน ซึ่งมีความหมายแบบสรุปง่ายๆ ว่า ‘ความหลงใหลจากการตกหลุมรัก ทำให้เรามองข้ามข้อเสียของคนรักไป’ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ‘ความรักทำให้คนเราสามารถทำบางสิ่งที่ไร้เหตุผลเพื่อคนรักได้’

ในนวนิยายสืบสวนสอบสวนชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นเรื่อง “The Devolution of Suspect X” หรือในชื่อไทยว่า “กลลวงซ่อนตาย” ผลงานจากปลายปากกาของ ฮินาชิโนะ เคโงะ (Higashino Keigo) เป็นตัวอย่างได้อย่างดี

เพราะตัวเอกของเรื่องอย่าง ‘อิชิกามิ’ ครูคณิตศาสตร์วัยกลางคนที่มีวิธีคิดเปี่ยมด้วย ‘ตรรกะและความเป็นเหตุเป็นผล’ กลับทำทุกอย่างเพื่อช่วย ‘อำพรางฆาตกรรม’ ให้ ‘ยาสึโกะ’ หญิงสาวที่เขาตกหลุมรัก ซึ่งตัวอิชิกามิเองก็หาเหตุผลมาสนับสนุนการกระทำนี้ของตัวเองไม่ได้ นอกจาก ‘เพราะรัก’

แน่นอนว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ไม่ว่าในหนังหรือละครเราก็ต่างเห็นพล็อตเรื่องประมาณนี้อยู่บ่อยครั้ง หรือแม้กระทั่งในชีวิตจริงที่มีข่าวเผยแพร่มาให้เห็นจนชินตาทั้งในไทยและต่างประเทศ

ทำไมคนเราถึงสามารถทำเช่นนั้นได้ ?

ในทางวิทยาศาสตร์อาจมีคำตอบให้เรา

เมื่อคนเราตกหลุมรัก กลุ่มสารเคมีในสมองที่เรียกว่า โมโนเอมีน (Monoamine) จะเกิดการตอบสนอง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของเรา โดยประกอบด้วย อีฟิเนฟริน (Epinephrine) หรือ อะดรีนาลีน สารที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและเขินอาย เซโรโทนิน (Serotonin) สิ่งนี้จะส่งผลให้เราแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาโดยไม่รู้ตัวเมื่อเรามีความรัก และโดปามีน (Dopamine) หรือสารแห่งความสุข ซึ่งจะถูกหลั่งออกมาเมื่อเรารู้สึกพึงพอใจ

ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงที่คนเรากำลังมีความรัก วงจรของโดปามีน หรือ ventral tegmental area (VTA) จะมีการทำงานอย่างเข้มข้น ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการทำงานของคนที่ใช้โคเคน (Cocaine) และ เฮโรอีน (Heroin) ดังนั้น ความสุขที่เกิดขึ้นในตอนที่กำลังตกหลุมรัก จึงเป็นสุขที่เหมือนกับคนกำลังเสพยา 2 ตัวดังกล่าว

อีกทั้งระบบนี้ยังสัมพันธ์กับการอยู่รอดของมนุษย์เรา ซึ่งอาจทำให้คนที่โหยหาความรักจากใครซักคน ถ้ามีความรักจะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้คนที่รักมีความสุข เพราะความรักที่เกิดขึ้นไปตอบสนองสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดด้วย การที่ใครซักคนรู้สึกว่าขาดคนรักไปไม่ได้แม้ต้องตายก็ยอม ในแง่หนึ่งจึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงเท่าไหร่นัก

จากที่กล่าวมาก็ดูจะเริ่มเห็นเค้าลางที่ความเป็นเหตุเป็นผลยอมจำนนต่อหน้าความรักแล้ว แต่สิ่งที่มาช่วยตอกย้ำให้ชัดเจนคือ การทำงานที่ลดลงของสมองส่วนหน้าที่ชื่อว่า พรีฟรอนทัลคอร์เท็กซ์ (Prefrontal cortex) ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ ‘การคิด’ และ ‘การใช้เหตุผล’

ส่งผลให้คนที่ตกหลุมรักมักหาเหตุผลในการกระทำของตนเองไม่ได้ และอาจเป็นเหตุผลว่า ‘ทำไมการทำเพื่อคนรักจึงมักไร้เหตุผล’