ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เด็ก” เตรียมได้รับวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย ภายหลังองค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองให้สามารถใช้วัคซีนได้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ยูนิเซฟเตรียมซื้อวัคซีนมากกว่า 18 ล้านโดส เพื่อแจกจ่ายให้กับเด็กทั่วโลก

ในเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว WHO อนุมัติการใช้วัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียในเด็กเป็นครั้งแรกของโลก หลังจากที่ทดลองใช้ในประเทศกานา เคนยา และมาลาวี แล้วพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้อย่างดี

วัคซีนตัวนี้ชื่อว่า RTS,S หรือ Mosquirix พัฒนาโดยบริษัทยาสัญชาติอังกฤษ GlaxoSmithKline สามารถต้านเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (Plasmodium Falciparum) ซึ่งเป็นปรสิตที่ก่อให้เกิดโรคมาลาเรีย และเป็นเชื้อที่แพร่กระจายที่สุดในแอฟริกา

โรคมาลาเรียคร่าชีวิตไปมากกว่า 7 ล้านคนตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 ขณะที่มีผู้ติดเชื้อมากถึง 200 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิต 400,000 คนต่อปี

กลุ่มประเทศแอฟริกามีภาระทางสุขภาพจากโรคมาลาเรียมากที่สุด โดยเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตมากกว่าโรคโควิด 19

1

ในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียในแอฟริการวม 386,000 ราย เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี 274,000 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 212,000 คนในระยะ 18 เดือน

นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก กล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนต้านโรคมาลาเรียว่า คือความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของวิทยาศาสตร์ สุขภาพเด็ก และการควบคุมโรคมาลาเรีย

“เมื่อใช้วัคซีนร่วมกับมาตรการป้องกันโรคอื่นๆ แล้ว จะสามารถป้องกันเด็กกว่าหลายหมื่นคนจากการเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรียในแต่ละปี” นพ.ทีโดรสกล่าว

การคิดค้นวัคซีน Mosquirix นำมาสู่นวัตกรรมการผลิตวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียตัวอื่น รวมทั้งวัคซีน R21 พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันโรคมาลาเรียได้ถึง 80%

WHO คาดการณ์ว่า จะมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียได้มากกว่า 100 ล้านโดสต่อปี เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

“โรคมาลาเรีย เป็นโรคติดต่อที่เป็นภัยมากที่สุด คร่าชีวิตผู้คนเกือบครึ่งล้านในแต่ละปี หากเรามีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพถึง 80% และสามารถผลิตได้จำนวนมาก ในราคาที่ไม่แพงเกินไป เราก็จะสามารถต่อสู้กับโรคที่มียุงเป็นพาหะได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ชาม ไบเซ่น (Shyam Bishen) ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) กล่าว

“หลังจากการคิดค้นวัคซีนสำเร็จแล้ว ยังต้องมีการลงทุนและจัดหาทรัพยากรในการพัฒนาและผลิตวัคซีนสำหรับคนที่ต้องการมันที่สุด อย่างเช่นชุมชนในกลุ่มประเทศแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

นพ.เพโดร อาลอนโซ่ (Pedro Alonso) ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการมาลาเรียโลก องค์การอนามัยโลก ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มีการให้วัคซีนกับเด็กมากกว่า 800,000 คนในโครงการนำร่อง ซึ่งเป็นการทดลองวัคซีนระยะ 3 ภายใต้การกำกับขององค์กรยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency)

โครงการนำร่องใช้เวลาประมาณ 2.5 ปี ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศรับรองให้ใช้วัคซีนเมื่อปีที่ผ่านมา

2

การทดลองเกิดขึ้นในประเทศกลุ่มแอฟริกา มีนักวิทยาศาสตร์จากประเทศเหล่านี้เข้าร่วมการวิจัยและพัฒนา ผลการทดลองยืนยันว่าการให้วัคซีนมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโลก และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรค

นอกจากนี้ ยังพบว่าวัคซีนได้รับการยอมรับจากกลุ่มประชากรที่เข้าร่วมการทดลอง

อย่างไรก็ตาม นพ.อาลอนโซ่ กล่าวว่ากระบวนการพัฒนาวัคซีนยังไม่จบ ยังต้องหาเงินทุนเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร ซึ่งเขาเชื่อว่าจะสามารถระดมทุนได้สำเร็จ

เพราะได้เห็นความร่วมมือจากนานาชาติ ในการจัดหาและซื้อวัคซีนโควิดให้กับประชากรในประเทศกลุ่มแอฟริกาและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เป็นเครื่องยืนยันว่าโลกจะไม่ทอดทิ้งผู้ที่ต้องการวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นประชากรในกลุ่มเด็ก

ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations International Children's Emergency Fund หรือ UNICEF) เปิดเผยว่าได้สั่งจองวัคซีน Mosquirix จ่ากบริษัท GlaxoSmithKline มากกว่า 18 ล้านโดส ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า

“การสั่งจองวัคซีนนี้ เป็นการส่งสัญญาณให้บริษัทพัฒนาวัคซีนต่อไป เพราะวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียเป็นที่ต้องการอย่างมาก” เอทเลวา คาดิลลี (Etleva Kadilli) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างของยูนิเซฟให้ข่าว

คาดิลลียังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทางยูนิเซฟหวังว่าการพัฒนาวัคซีนครั้งนี้ จะผลักดันให้บริษัทอื่นๆพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียตัวอื่นๆ และวิจัยพัฒนาวัคซีนที่จำเป็นอื่นๆ

อ่านบทความฉบับเต็มที่:
https://www.weforum.org/agenda/2022/09/new-malaria-vaccine-who-oxford/
https://www.unicef.org/press-releases/millions-more-children-benefit-malaria-vaccine-unicef-secures-supply