ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 3,264 แห่ง จาก 49 จังหวัด จะถูกถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

ล่าสุดทาง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบอำนาจให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลงนามถ่ายโอนภารกิจได้ทันทีที่มีความพร้อมตามเงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) กำหนด

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นแรกของการดำเนินการในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นไปตาม “พิมพ์เขียว” จากที่ประชุม สธ. ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565

การประชุมที่มีขึ้นก่อนวันถ่ายโอนภารกิจฯ เพียง 1 วัน มีประเด็นที่ฉายภาพให้เห็นถึงแนวทางการดำเนินการถ่ายโอนฯ ในช่วงรอยต่อ

1. การถ่ายโอนต้องยึดมั่นในหลักการสี่ข้อ คือ (หนึ่ง) สธ. เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจในการถ่ายภารกิจนี้ไปยัง อบจ. (สอง) ในการถ่ายโอนจะต้องร่วมมือกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน (สาม) การถ่ายโอนในครั้งนี้ สธ. จะดูแลบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด (สี่) สธ. ยินดีช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเพื่อให้การถ่ายโอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

2. ปลัด สธ. จะทำหนังสือมอบอำนาจการถ่ายโอน รวมถึงอำนาจในการบันทึกข้อตกลง (MOU) ลงมาที่ นายแพทย์ สสจ. ในวันที่ 3 ต.ค. 2565

3. ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เห็นควรอนุเคราะห์สนับสนุนยาเวชภัณฑ์ ตลอดจนการออกหน่วยแพทย์ไปยัง รพ.สต. ที่ถ่ายโอนตามความเหมาะสม

4. สธ. เห็นด้วยกับแนวทางการจัดสรรงบประมาณบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) และ ค่าบริการผู้ป่วยนอก (OPD) ไปยัง รพ.สต. โดยตรง แต่ต้องเป็นไปตามข้อตกลงภายในจังหวัดเพื่อเสนอแก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อไป

5. จะมีข้อสั่งการให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการถ่ายโอนขึ้นที่ สสจ. เพื่อติดตามแก้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงรองรับข้อร้องเรียน

6. ในการลงนามถ่ายโอนให้ลงนามเมื่อเอกสารต่างๆ มีความพร้อมและครบถ้วน เช่น เอกสารด้านครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ สินทรัพย์ ที่ดินก่อสร้าง โดยเฉพาะเรื่องบุคลากร โดยขอให้ทาง อบจ. ลงนามรับรองการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) หรือลูกจ้างเงินบำรุง ให้มีความต่อเนื่องก่อนการถ่ายโอน หากจังหวัดใดพร้อมให้ลงนามถ่ายโอนได้

7. การดำเนินการต่างๆ ระดับจังหวัดขอให้ยึดหนังสือสั่งการและระเบียบกฎหมายเป็นหลัก

ในส่วนของการจัดสรรค่าบริการสาธารณสุขให้กับหน่วยบริการที่ถ่ายโอน สปสช. จะดำเนินการ 1. ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และประกาศ กกถ. 2. คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนในการรับบริการสาธารณสุขเป็นหลัก โดยต้องเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานไม่น้อยไปกว่าก่อนการถ่ายโอน

3. หน่วยบริการที่ถ่ายโอนยังคงมีสถานะเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือเครือข่ายของหน่วยบริการประจำเดิม เหมือนก่อนการถ่ายโอน 4. ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน สปสช. จะคงประชาชนไว้ในหน่วยบริการประจำเดิม เว้นแต่ประชาชนขอย้ายหน่วยบริการประจำ

5. สปสช. จะจัดสรรค่าบริการสาธารณสุขไปยังหน่วยบริการที่ถ่ายโอน ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยบริการประจำและหน่วยที่ถ่ายโอน โดยอาจใช้กลไกจาก คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ในการดำเนินการ