ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดพิจิตร ตั้งศูนย์ซ่อมอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ ผู้ป่วย และผู้พิการ ผ่านการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ด้านนายก อบจ. ระบุ การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. มายัง อบจ. จะช่วยเสริมกำลังทำงานเชิงรุก-เกิดประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น 


เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร เพื่อเยี่ยมชมศูนย์ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้พิการวัดบ้านนา และการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้พิการในพื้นที่ ต.หนองหลุม ผ่านการบริหารงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดพิจิตร

พระสิรชัย มหาวุฑโฒ เลขาเจ้าคณะตำบลบ้านนา อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร เปิดเผยว่า เมื่อปี 2561 จากการอบรมพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) และมีโอกาสได้ออกคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์และชุมชนรอบวัด ทำให้เห็นความเป็นอยู่ของญาติโยมที่ป่วย หรือพิการ และพบว่ายังขาดอุปกรณ์ รวมไปถึงเห็นว่าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่มีรถเข็นวีลแชร์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จึงขอนำมาซ่อมแซม เพื่อให้ญาติโยมที่ขาดแคลนได้ใช้ จากนั้นเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็เริ่มดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน

1

สำหรับศูนย์ซ่อมอุปกรณ์ฯ วัดบ้านนาเริ่มดำเนินการเปิดในปี 2564 ซึ่งการดำเนินงานจะมีฝ่ายคณะสงฆ์ในพื้นที่เข้ามาร่วมทำงานด้วย โดยมีเจ้าคณะอำเภอเป็นประธาน รวมไปถึงมีฝ่ายช่าง ฝ่ายประสานงาน ฯลฯ ซึ่งพระทุกรูปจะมีหน้าที่ในศูนย์ฯ ขณะเดียวกันในส่วนของฆราวาสก็จะมีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) รพ.สต. ในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชมรมผู้สูงอายุ ฯลฯ ร่วมด้วย ซึ่งทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมไปถึงพระสงฆ์ที่อาพาธในพื้นที่ 

"ที่ผ่านมาได้มีการตรวจเยี่ยมบ้านญาติโยม และได้มีการมอบเตียงให้แก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้พิการไปแล้วประมาณ 42 เตียง รถเข็นวีลแชร์อีกกว่า 150 คัน และที่นั่งถ่ายสูงต่ำอีกประมาณ 80 ตัว ซึ่งศูนย์ซ่อมฯ ก็มีการรับบริจาคอุปกรณ์เพื่อสำหรับซ่อมแซมให้แก่ญาติโยมที่ต้องการด้วย" พระสิรชัย กล่าว 

นายชัยพงษ์ บุญส่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหลุม (อบต.หนองหลุม) อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร กล่าวว่า ที่ผ่านมา อบต.หนองหลุม จะได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และสมาชิกว่ามีผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ ซึ่งก็เคยได้มีการช่วยเหลือในการปรับปรุงฝาผนังบ้านไปแล้ว ซึ่งล่าสุดก็ได้มีการปรับปรุงห้องน้ำ และหลังคารวมไปถึงพื้นบ้าน โดยได้รับความช่วยเหลือจากงบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดพิจิตรซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่คุ้มค่าสำหรับการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ ต.หนองหลุม

อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินงานในอนาคตจะมีการปรับที่นอนให้มีความสะดวกสบายและเอื้อต่อการใช้ห้องน้ำ รวมไปถึงหากมีงบประมาณที่สามารถนำมาพัฒนาได้ก็จะนำมาดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจากการสอบถามประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือจากงบประมาณกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ได้รับเสียงสะท้อนกลับมาว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในอนาคตก็จะปรับปรุงให้ดีมากขึ้นกว่านี้

2

พ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร (อบจ.พิจิตร) กล่าวว่า ในฐานะประธานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดพิจิตรนั้นจะมีการอนุมัติงบประมาณจากเงินกองทุนฟื้นฟูฯ ผ่านทางสภา ซึ่งมีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) นายก อบต. และนายกเทศบาลต่างๆ เพราะ อบจ. ไม่สามารถทำฝ่ายเดียวได้ 

อย่างไรก็ดี อบจ.พิจิตร ก็ได้มีการจัดทำหลายโครงการ เช่น ศูนย์ยืม-คืนกายอุปกรณ์ ศูนย์ซ่อมอุปกรณ์ฯ รวมไปถึงโครงการสุขาน่าใช้ และโครงการปรับปรุงบ้านให้กับประชาชนที่มีคุณสมบัติตรงกับที่กองทุนฯ กำหนดไว้ ซึ่งจะดำเนินการโดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำเสนอโครงการมาให้ อบจ. จากนั้นจะมีทีมงาน อบจ. ลงไปในพื้นที่ตรวจสอบเพื่อให้ตรงกับเงื่อนไขที่กองทุนฯ จะสามารถสนับสนุนได้ และขออนุมัติงบประมาณจากคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อใช้ในการดำเนินการ 

"สำหรับปีต่อไปเราจะเพิ่มโครงการเรื่องผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง มากไปกว่านั้นเรามีการถ่ายโอนภารกิจ รพ. สต. ก็จะยิ่งทำให้มีเครือข่ายมากขึ้น เชื่อว่าจะสามารถทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น แล้วจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องคนพิจิตรอย่างแน่นอน" พ.ต.อ.กฤษฎา กล่าว 

ด้าน ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การทำงานของจังหวัดพิจิตรถือว่าเป็นตัวอย่างที่มีการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายตั้งแต่ท้องถิ่น อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต. รวมไปถึงมีพระสงฆ์เข้ามาช่วยในการทำศูนย์ซ่อมฯ เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ 

3

อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการปรับปรุงบ้านของผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยเป็นอีกหนึ่งรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่าสามารถนำเงินจากกองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาร่วมสนับสนุนได้ ซึ่งการขออนุมัติเงินจากกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อมาซ่อมแซม ปรับสภาพบ้าน ห้องน้ำส่วนนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

"กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัด เราจะจัดสรรงบประมาณไปให้ในแต่ละจังหวัดตามรายหัวประชากร จำนวน 5 บาทต่อคน ซึ่งในปีหน้าก็จะเพิ่มงบประมาณตามรายหัวขึ้นเป็น 8 บาทต่อคน โดยยอดเงินตรงนี้ทาง อบจ. เองก็จะสนับสนุนร่วมด้วย" ผศ.ภญ.ยุพดี ระบุ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ