ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้บริหารองค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอให้นานาประเทศหลีกเลี่ยงการลดงบประมาณด้านสุขภาพ แม้ว่าโลกกำลังเผชิญการตกต่ำทางเศรษฐกิจในตอนนี้ และขอให้บูรณาการแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” ซึ่งจะยกระดับสุขภาพประชากรโลกในระยะยาว เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา World Economic Forum ได้เผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็นของสองผู้บริหารแห่งองค์การอนามัยโลก ได้แก่ นพ.ฮานส์ คลัจ (Hans Kluge) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกสำนักงานยุโรป และ ศาตราจารย์มาริโอ มอนติ (Mario Monti) อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี และหัวหน้าคณะกรรมการแพนยุโรปด้านสุขภาพและการพัฒนายั่งยืน (Pan-European Commission on Health & Sustainable Development) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้นำจากหลายสาขา เพื่อนำเสนอนโยบายต่อองค์การอนามัยโลก

ทั้งคู่ได้แสดงความกังวลต่อความเสี่ยงที่รัฐบาลหลายประเทศจะหั่นงบประมาณด้านสุขภาพ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ประกอบกับค่าครองชีพและต้นทุนค่าพลังงานที่สูงขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ มีข้อเสนอให้นานาประเทศพิจารณารักษาสัดส่วนงบสาธารณสุขให้คงเดิมหรือเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาระบบสุขภาพให้เข้มแข็ง สามารถถรับมือกับวิกฤตไม่คาดฝันในอนาคต

คลัจและมอนติเน้นย้ำว่า หากไม่สามารถรักษาระบบสุขภาพไว้ได้ในช่วงวิกฤตนี้ จะหมายความว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมาเลย การลงทุนในระบบสุขภาพจะก่อให้เกิดผลดีในระยะยาว 3 ข้อหลัก ได้แก่

1

1. ระบบสุขภาพที่เข้มแข็งไม่ใช่เพียงสามารถดูแลประชาชนในช่วงโรคระบาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในทุกวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ ซึ่งผู้คนมักตกอยู่ในภาวะเปราะบางสูง

ประเทศที่ผ่านวิกฤตโควิด 19 มาได้อย่างไม่สูญเสียมากนัก ส่วนมากมีประวัติการลงทุนในระบบสุขภาพมายาวนาน และทำแผนเตรียมการรับมือโรคระบาดไว้แต่เนิ่นๆ

2. สุขภาพดีย่อมเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตเศรษฐกิจในปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยแรงงาน เงินทุน และความรู้ แม้ว่าเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการลงทุนในด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา การวิจัยและพัฒนา และการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชากรที่มีสุขภาพดี จะสร้างผลิตผลคืนสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น

ความต้องการด้านสุขภาพยังสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นในหลายประเทศ ที่ผลักดันธุรกิจด้านนวัตกรรมสุขภาพ เพราะเห็นช่องทางสร้างรายได้ในอนาคต สามารถกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตและผู้ให้บริการท้องถิ่นอีกด้วย

3. การสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของสังคม หากทำให้ทุกคนเชื่อว่าควรลงทุนในวันนี้ เพื่อที่จะสามารถมีสุขภาพดีในอนาคต

ผู้คนจำนวนมากรู้สึกตัวเองถูกทอดทิ้งโดยสถาบันทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเลือกให้ประโยชน์กับบุคคลเฉพาะกลุ่ม ความรู้สึกถูกทอดทิ้งนี้ ส่งผลต่อความแตกแยกในสังคม เห็นได้ชัดในช่วงโรคระบาดโควิด 19 ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล สร้างความเท่าเทียมในระบบสุขภาพและด้านอื่นๆ

คลัจและมอนติเสนอแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ โดยเน้นลงทุนในระบบสุขภาพให้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่วนที่มีทรัพยากรน้อย เช่น ส่วนงานสาธารณสุข บริการปฐมภูมิ และสุขภาพจิต รวมทั้งลงทุนในบุคลาการสุขภาพ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในระบบสุขภาพ เทียบเท่ากับการพัฒนาเทคโนโลยี

1
 

นอกจากนี้ ทั้งสองผู้เชี่ยวชาญยังเสนอแนวคิด 2 ข้อ ที่ควรคำนึงถึงในการพัฒนาระบบสุขภาพ ได้แก่

1. ควรบูรณาการแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” หรือ “One Health” เข้าสู่กระบวนการยกระดับระบบสุขภาพ

สุขภาพหนึ่งเดียว คือ แนวคิดที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งเดียวกันแยกไม่ขาด หากสุขภาพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถดถอย สุขภาพของฝ่ายอื่นก็จะถดถอยตาม

เช่นในกรณีของโรคโควิด 19 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อมนุษย์รุกล้ำธรรมชาติ ผลที่ตามมาคือการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากสัตว์ป่าสู่มนุษย์ กลายเป็นวิกฤตสุขภาพของมนุษย์ในที่สุด

ประเทศที่ร่ำรวยแล้วสามารถบูรณาการแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐในหลายสาขา ขณะที่ประเทศยากจนต้องการความช่วยเหลือในด้านนี้ ประเทศที่ร่ำรวยกว่าต้องให้ทรัพยากรและความรู้ในการยกระดับความสามารถด้านการป้องกันโรค รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาด้านยาและวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ

2. ควรมีการแยกแยะประเภทรายจ่ายด้านสุขภาพให้ชัดเจน วิธีการคิดค่าใช้จ่ายในตอนนี้ไม่แยกแยะระหว่างค่าใช้จ่ายทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพในปัจจุบัน และค่าใช้จ่ายพัฒนาระบบสุขภาพและเทคโนโลยีในระยะยาว ที่อาจไม่เห็นผลลัพธ์ในวันนี้ แต่มีผลต่อการป้องกันโรคในอนาคต

รัฐบาลและฝ่ายกฎหมายควรเปิดเผยข้อมูลด้านนโยบายสุขภาพ และแผนรับมือและลดความเสี่ยงโรคเกิดใหม่ในอนาคต เหมือนกับในฝั่งของนักสิ่งแวดล้อมที่มีการจัดทำ Environmental, Social, and Governance หรือ ESG ซึ่งวิเคราะห์ผลกระทบของภาครัฐและเอกชนต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

คลัจและมอนติให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า นักทำนโยบายมีโอกาสวันนี้ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพในวันหน้า พวกเขาเพียงแค่ต้องลงมือทำทันที

อ่านบทความฉบับเต็ม:
https://www.weforum.org/agenda/2022/09/why-health-budgets-cant-be-cut-amidst-political-and-economic-turmoil/