ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เด็กไทยระดมไอเดียปั้น "นวัตกรรมดิจิทัล" รองรับ "สังคมผู้สูงวัย" ในการประกวดข้อเสนอเชิงนโยบาย พร้อมนวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่ แก้ปัญหาผู้สูงอายุมีภาวะพึ่งพิง ด้าน "สช.-สปสช.-กรุงไทย" เล็งต่อยอดใช้ในอนาคต


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และธนาคารกรุงไทย จัดประกวดนโยบายและนวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่ ในการพัฒนาระบบเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยของประเทศไทย ผ่านการจัดทำร่างนโยบายสุขภาพและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพ Conference Day ภายใต้โครงการ “Thailand Youth Policy Initiative - TYPI by IFMSA-Thailand 2022” เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565

1

ทั้งนี้ มีผลงานส่งเข้าประกวด 150 ทีม รางวัลรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ "ทีม PM" กับผลงาน นโยบายเครื่องมือแพทย์หมุนเวียนเพื่อทุกคนและแพลตฟอร์มดิจิตอลเพื่อการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์อย่างทั่วถึง "med for all" และรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม "นวัต girl" จากผลงานแพลตฟอร์มดิจิทัลสาธารณะเพื่อการสร้างเสริมคุณค่าให้กับผู้สูงอายุแอพพลิเคชั่น "มีดี"

ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 "ทีม Eldente" ในผลงาน นโยบายการดูแลภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุโดยการใช้แพลตฟอร์มดิจิตอล "อิ่มสุข" ส่วนรางวัล Honorable Mention ทีม กขค. ในผลงานนโยบาย All connected เพื่อดูแลผู้สูงอายุและ Application "ผู้สูงวัยสูงสุข" และรางวัลขวัญใจวัยเก๋า คือทีม young but healthier

1

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว แต่การดูแลมีความยากและซับซ้อน ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ดังนั้นเวทีประกวดนี้จึงมีความสำคัญมากที่เปิดโอกาสให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นผู้ที่มาดูแลประเทศในอนาคต ได้มีการรวมกลุ่ม นำสิ่งที่ถนัดนั่นคือดิจิทัล มาคิดค้นนวัตกรรม ตลอดจนมีข้อเสนอเชิงนโยบาย

"จะเห็นว่าผลงานเข้าประกวดนั้นดีมาก และมีแนวคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งหลายข้อเสนอที่เกิดขึ้นในเวทีนี้จะมีการนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานวันนี้จะมีการจับมือกันเหนียวแน่นขึ้น อย่างธนาคารกรุงไทยที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านบริการและเรื่องดิจิทัลอยู่แล้ว ก็คาดว่าจะสามารถนำแนวคิดไปต่อยอดพัฒนาระบบบริการเพิ่มขึ้นได้" นพ.ประทีป กล่าว

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า ในส่วน สช. นั้นจะมีการส่งเสริมให้น้องๆ เหล่านี้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นเครือข่ายและทำการศึกษาเรื่องอื่นๆ ต่อไป รวมถึงเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะมีเรื่องเกี่ยวกับการประกันรายได้ถ้วนหน้า หรือรายได้พื้นฐาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. มีการดูแลสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคของคนไทยทุกคน ซึ่งขณะนี้มีสิทธิประโยชน์แล้ว โดยที่ป่วยไม่ต้องกังวลเรื่องของค่ารักษา เพราะต้องยอมรับว่าค่ารักษาพยาบาลสามารถทำให้คนล้มละลายได้ แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ช่วงโควิด-19 ก็ทำให้เราเห็นชัดว่าต่อให้มีเงินเจ็บป่วยอาจจะเข้าถึงการรักษาได้ยาก

2

"การมีสุขภาพดีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ฉะนั้นแม้ว่าจะมีระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งถือว่ามีความมั่นคงระดับหนึ่ง แต่เรายังต้องการเครื่องมือบางอย่าง แนวคิดบางอย่าง คือนวัตกรรมที่ทำให้คนไทยเข้าถึงการมีสุขภาพที่ดีได้ ซึ่งผลงานที่น้องๆ ส่งเข้ามาล้วนมีความคิดสร้างสรรค์และมีความตั้งใจที่ดี และจะเป็นพลังให้กับประเทศ ต่อไป ซึ่งก็ขอให้กำลังใจและพร้อมสนับสนุนเพื่อจะได้ก้าวไปพร้อมๆ กัน" ทพ.อรรถพร กล่าว

ขณะที่ นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทย ร่วมสนับสนุนโครงการ Thailand Youth Policy Initiative 2022 เพื่อผลักดันและเปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่คิดค้นนำเทคโนโลยี ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มุ่งเน้นระบบเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยของไทย โดยการบูรณาการในทั้ง 4 มิติ ได้แก่ สาธารณสุข  เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และ สังคม

นายธวัชชัย กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ที่พร้อมขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตควบคู่ไปกับสังคม นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต พร้อมเชื่อมโยงกับ 5 ระบบนิเวศหลักของธนาคาร

4

สำหรับด้านการรักษาพยาบาลและสุขภาพ ธนาคารกรุงไทยนำเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสาธารณสุข ให้คนไทยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีสุขภาพดียิ่งขึ้น ผ่าน Health Wallet หรือ กระเป๋าตังสุขภาพ บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยผลงานจากการประกวดในครั้งนี้ จะถูกนำไปต่อยอดเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยในทุกมิติ ตามวิสัยทัศน์ "กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน"

ด้าน นศพ.พีรดนย์ ดุษฎีเวทกุล นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 และ นศพ.ดาริณ ตั้งสิทธิธรรม นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 จากทีม PM ร่วมกันให้ข้อมูลว่า หลังได้รับโจทย์การประกวดก็มีการรวมตัวกันเพื่อหาข้อมูลและวางแผนในการพัฒนานวัตกรรมและข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งมองว่าเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หากไม่แก้ปัญหาอะไรจะทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณมากขึ้น 1 ล้านล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดิน 3.5 ล้านล้านบาท ในการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง

ดังนั้นการป้องกันปัญหาสุขภาพก่อนเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงจึงเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนหนึ่งหากประชาชนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่มีราคาแพงได้ จะช่วยให้ลดการทุพพลภาพ ต้องพึ่งพิงได้จึงคิดค้นแอพฯ ที่รวมอุปกรณ์การแพทย์หมุนเวียน สำหรับยืมได้ และเสนอให้ภาครัฐนำนโยบายนี้ไปพิจารณาต่อ และพัฒนานวัตกรรมให้สามารถใช้ได้จริง

5

5