ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ดีเดย์ 1 ต.ค. 65 กองทุนบัตรทอง รุก “สิทธิประโยชน์ใหม่” ปี 2566 ดูแล “ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง” ขยายเพิ่มเติมหลากหลายบริการ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นยิ่งขึ้น พร้อมพัฒนาการบริหารจัดการที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน     


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือที่รู้จักในชื่อกองทุนบัตรทอง สปสช. ยังคงเดินหน้าและพัฒนาระบบอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยในปีงบประมาณ 2566 ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ สปสช.จะเริ่มเดินหน้าดำเนินการกองทุนฯ ตามแผนบริหารจัดการที่วางไว้โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน 

สิทธิประโยชน์ใหม่ที่ สปสช. ได้ดำเนินการเพิ่มเติมให้กับประชาชนในปีนี้ ได้แก่ การดูแลภาวะความดันเลือดในปอดสูงในทารกแรกเกิด (Persistent Pulmonary Hypertension of the Newborn) เป้าหมายบริการจำนวน 320 ราย, บริการทันตกรรม Vital Pulp Therapy หรือการรักษาเนื้อเยื่อในฟันกรามแท้ จำนวน 56,300 ราย, บริการรากฟันเทียม จำนวน 15,200 ราย, บริการห้องฉุกเฉินคุณภาพภาครัฐ จำนวน 53,184 ราย, ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ จำนวน 48,554 ราย, บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 27,000 ราย, เพิ่มยาจำเป็นแต่มีราคาแพง ในกลุ่มบัญชียา จ (2) จำนวน 14 รายการ ดูแลผู้ป่วย 9,634 ราย, บริการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลัน จำนวน 30,283 ราย, บริการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษ จำนวน 7,598 ราย และเพิ่มเติมบริการที่คลินิกการพยาบาลฯ กายภาพบำบัด คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรม และคลินิกทันตกรรม 2,002,295 ราย รวมถึงบริการ Home Ward 

ขณะที่บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในปี 2566 นี้  สปสช. ได้เพิ่มเติมบริการเช่นกัน ได้แก่ การตรวจไวรัสตับอักเสบบี (HBe Ag) ในหญิงตั้งครรภ์ บริการคัดกรองธาลัสซีเมียในสามีหรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย บริการคัดกรองซิฟิลิสในสามีหรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย บริการสายด่วนเลิกบุหรี่และสายด่วนสุขภาพจิต บริการคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด บริการคัดกรองมะเร็งและมะเร็งช่องปาก บริการคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry (TMS) ในเด็กแรกเกิด บริการคัดกรองและค้นหาวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงสูง และบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สปสช. ได้ดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ ได้แก่ บริการโรคโควิด-19 จากเดิมที่แยกการบริการจัดการโดยใช้งบประมาณ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่ปรับให้อยู่ในงบบัตรทองที่ครอบคลุมทั้ง บริการโควิดผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การป้องกันและการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีฉีดวัคซีนโควิด-19, การเดินหน้ายกระดับบัตรทองอย่างต่อเนื่อง, เพิ่มการเข้าถึงยา ทั้งยารักษามะเร็ง และยาที่มีส่วนผสมของกัญชา (บัญชียาหลักแห่งชาติ), เพิ่มการเข้าถึงบริการเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูงโดยปรับการจ่ายตามรายการบริการ, เพิ่มสัดส่วนสมทบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับจังหวัดตามความพร้อมแต่ละพื้นที่ และเพิ่มบริการผ่าตัดข้อเข่าและผ่าตัดต้อกระจกที่เปิดให้มีการปรับเป้าหมายตามบริบทพื้นที่เช่นกัน

ส่วนบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงนั้น ได้มีการปรับการจ่ายที่เป็นไปตามแผนการดูแลแต่ละบุคคล (Care plan) พร้อมตัดรอบการจ่ายทุก 15 วัน, ปรับบริการไตวายเรื้อรังที่ให้ดูแลโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางพร้อมเพิ่มทางเลือกจ่ายชดเชยเป็นเงินสำหรับน้ำยาล้างไตและยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง (EPO) เป็นต้น

“ปี 2566 นี้ สปสช. ได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์บริการให้กับผู้ใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นบริการคัดกรอง บริการตรวจรักษา และบริการฟื้นฟูฯ ที่จำเป็นต่อการดูแล โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อดูแลสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว