ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรพ.มอบรางวัล 2P Safety Tech ประจำปี 2565 แก่ 8 ทีมที่พัฒนานวัตกรรมความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข


สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดแข่งขันการนำเสนอผลงานนวัตกรรม 2P Safety Tech ในงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 8 ทีมเข้าแข่งขันในครั้งนี้

ทั้งนี้ รางวัลในการแข่งขันมีทั้งหมด 4 ประเภท ประกอบด้วยรางวัล The Best of Change รางวัล The Best of Care รางวัล The Best of Collaboration และรางวัล Rising Star

สำหรับทีมที่ชนะรางวัลประเภท The Best of Change มี 2 ทีม ประกอบด้วย 1. โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จ.สมุทรสงคราม ในผลงาน Somdej EVD Safety and Sure ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือติดตามภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (ICP Monitoring) สำหรับใช้ในการผ่าตัดสมอง โดยเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์ตรวจสอบค่าความดันในกะโหลกศีรษะในระหว่างการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำและปลอดภัยมากกว่าเดิม โดยนวัตกรรมดังกล่าวมีการพัฒนามาแล้ว 3 เวอร์ชั่น ซึ่งเวอร์ชั่นล่าสุดสามารถมอนิเตอร์ ICP ได้ทั้ง 2 ข้าง มีการเก็บข้อมูลที่แม่นยำ เวลาเฉลี่ยในการวัดลดลง และระดับความพึงพอใจของผู้ใช้งานมีมากกว่า 90%

2. โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา ในผลงาน Digital Transformation โดยเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาแก้ปัญหาความล่าช้าของระบบขนส่งผู้ป่วยในโรงพยาบาล ประกอบด้วย 4 โซลูชั่น ได้แก่ 1.SMART HY-Display เป็นการแสดงหน้าจอกระบวนการทำงานของการขนส่ง ตั้งแต่ร้องขอจนถึงปิดงาน เพื่อให้ผู้ขอใช้บริการและผู้ป่วยได้เห็นขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน 2.SMART HY-Evaluation การประเมินงานของเจ้าหน้าที่เปลในรูปแบบการวิเคราะห์ผ่านโปรแกรม Excel และแบบเรียลไทม์ 3.SMART HY-Log App เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาให้เป็น Web Application เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากผู้ขอใช้บริการไปสู่เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้าย และ 4.SMART HY-Stock เป็นระบบเปลอัจฉริยะซึ่งถูกพัฒนาจากระบบการเข้า-ออกงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ด้วย QR Code เพื่อประโยชน์ในการดูจำนวนเปลนอนและเปลนั่งแบบเรียลไทม์

ขณะที่รางวัล The Best of Care มีผู้ชนะ 1 ทีม คือ โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา ด้วยนวัตกรรม ICU without walls ซึ่งเป็นระบบการจัดสรรเตียงห้อง ICU ที่จัดสรรตามระดับความหนักเบาและโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วย โดยนำระบบ AI เข้ามาช่วยประเมินว่าผู้ป่วยรายใดควรได้รับการจัดสรรเตียง

อนึ่ง นอกจากรางวัล The Best of Care แล้ว ผลงานนวัตกรรม ICU without walls ยังได้รับรางวัลป๊อปปูล่าร์โหวตจากผู้เข้าร่วมประชุมในงานนี้ด้วยอีก 1 รางวัล

ทั้งนี้ ICU without walls จะมีซอฟต์แวร์ 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นซอฟต์แวร์แสดงสถานะเตียง ICU ตามระดับความรุนแรง ทำให้ทราบว่าคนไข้รายใดอาการหนัก รายใดอาการเบา เพื่อให้แพทย์พิจารณาว่ากรณีจำเป็นต้องย้ายห้องเพื่อให้มีเตียงว่างจะเลือกย้ายผู้ป่วยรายใด และ ส่วนที่ 2 เป็นซอฟต์แวร์จองเตียงออนไลน์ เมื่อลงทะเบียนขอเตียงเข้ามาแล้ว ระบบจะประเมินวิเคราะห์จัดลำดับผู้ป่วยที่จะได้เตียงตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น โรคทางอายุรกรรม ศัลยกรรม โรคประจำตัว โรคปัจจุบันของผู้ป่วย หัตถการที่ต้องการใน ICU ความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค

ด้านรางวัล The Best of Collaboration มีผู้ชนะ 1 ทีม คือ โรงพยาบาลระยอง จ.ระยอง ด้วยนวัตกรรม Mobile Application for Stroke Digital Fast Track & Identification เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยเปลี่ยนระบบข้อมูลจาก Silo based ที่แต่เดิมโรงพยาบาลเครือข่ายต่างคนต่างบันทึกข้อมูล เป็นแบบ Single database ข้อมูลในโรงพยาบาลเครือข่ายเป็นข้อมูลชุดเดียวกันทั้งหมด และมีระบบ tracking คนไข้ได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ทำให้เตรียมพร้อมการรักษาได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นข้อมูล real time สามารถเห็น timeline, sequence และมี notification ได้เมื่อใกล้เกินเวลา ช่วยให้ทีมผู้ดูแลสามารถเตรียมการเพื่อให้การรักษาได้ทันเวลาขึ้น

ขณะเดียวกัน ในส่วนของรางวัล Rising Star มีทีมที่ได้รับรางวัล 4 ทีม ประกอบด้วย 1. โรงพยาบาลบึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ผลงานนวัตกรรม แอปพลิเคชันระบบติดตามอาการผู้ป่วยขณะรักษาทางทันตกรรม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยเป็นแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนที่ทำงานร่วมกับ Pulse Oximeter มีราคาถูก ใช้งานง่ายเพียงเสียบเครื่อง Pulse Oximeter ที่ปลายนิ้วผู้ป่วย ระบบจะแจ้งเตือนหากผู้ป่วยมีสัญญาณว่ากำลังเข้าสู่ภาวะหมดสติหรือภาวะวิกฤติขณะทำฟัน ทำให้ทันตแพทย์มีความมั่นใจในการให้บริการมากขึ้น

2. โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก นวัตกรรม 2P Safety in ER ซึ่งเป็นการนำระบบ IoT มาช่วยแก้ปัญหาการระบุตัวผู้ป่วยผิดพลาด โดยใช้ RFID Tracing Identification เป็น wristband และมีแอปฯ NAH 2P Safety แสดงรูปภาพและข้อมูลผู้ป่วย มีการยืนยันผู้ป่วยก่อนทำหัตถการทุกครั้ง ตลอดจนมีระบบ Triage AI โดยใช้ NAH AI logic ในการประเมินระดับอาการผู้ป่วย

3. โรงพยาบาลค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ นวัตกรรม Smart MDC (Smart Medical Device Center) เป็นการนำ RFID tag ที่เหมาะสมมาติดกับเครื่องมือแพทย์แล้วบูรณาการกับระบบ Smart CSSD ช่วยให้สามารถติดตามสถานะเครื่องมือผ่าตัด มีระบบแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงวงรอบการ calibrate โดยจะแจ้งเตือนไปยังผู้รับผิดชอบผ่านอีเมล

และ 4. โรงพยาบาลสกลนคร จ.สกลนคร นวัตกรรมระบบจ่ายอัตโนมัติเพื่อจัดยาและจ่ายฉุกเฉิน (Stat Dose Quick Stock) เป็นระบบการจัดเตรียมยาจำเป็นเร่งด่วน (Stat Dose) ช่วยให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วย stroke และ sepsis เข้าถึงยาได้เร็วขึ้น แก้ปัญหาระยะทางที่อยู่ห่างกันของคลังยาและห้องฉุกเฉินซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับยาล่าช้า โดยระบบนี้มีการพัฒนาตู้ Stat Dose และจัดยาที่จะเข้าไปอยู่ในตู้ตามลำดับสีของห้องฉุกเฉิน โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือดและยาปฏิชีวนะ มีระบบคลังยาแยกมีระบบควบคุมรายงานจำนวนยาคงเหลือและระบบแจ้งเตือนเมื่อแพทย์สั่งจ่ายยา ทำให้พยาบาลสามารถเดินไปรับยาที่ตู้ Stat Dose ได้อย่างรวดเร็ว