ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรพ. ลงนาม MOU ร่วมกับ สถาบัน ECRI ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมกันขับเคลื่อนยกระดับความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (2P Safety) ในประเทศไทย วางเป้าวิเคราะห์ข้อมูลรายงานความปลอดภัยของผู้ป่วยเพื่อสรุปประเด็นความน่ากังวลด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย 10 อันดับแรกของไทย ตลอดจนสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้านสุขภาพ

วันที่ 29 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสถาบัน ECRI สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยและเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพในระดับสากลที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ การดูแลผู้ป่วย ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (2P Safety) โดยมี พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. และนายเอริค วู ผู้อำนวยการ ECRI สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นผู้แทนของทั้ง 2 หน่วยงานในการลงนาม

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า ในปี 2549 ได้มีการเผยผลสำรวจความเสียหายจากการให้บริการที่ป้องกันได้ โดยพบว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 3 อันดับแรกคือเรื่องความคลาดเคลื่อนทางยา ความผิดพลาดในการสื่อสาร และ ความผิดพลาดในกระบวนการดูแลผู้ป่วย ส่วนมากมีอุบัติการณ์ในโรงพยาบาลชุมชนมากกว่าโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์ ขณะเดียวกัน บุคลากรก็ขาดความสุขและความปลอดภัยในการทำงาน มีเหตุการณ์รถส่งตัวผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุจนเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เหตุการใช้ความรุนแรงในโรงพยาบาล หรือเมื่อมีการรักษาผิดพลาดก็ถูกผู้ป่วยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จนต้องใช้งบประมาณเพื่อชดเชยความเสียหายจากการให้บริการมากขึ้น 10 เท่าในระยะ 10 ปี

หลังจากข้อมูลนี้มีการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ สรพ. ได้พยายามส่งเสริมเรื่อง 2P Safety โดยเรียนรู้จากสถานการณ์เหตุไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก นำไกด์ไลน์ที่เกี่ยวข้องกับ 2P Safety ขององค์การอนามัยโลก (WHO) มาเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบในประเทศไทย มีการกำหนดให้ 2P Safety เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข จัดทำเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยและของบุคลากรและสร้างระบบ National Reporting and Learning System (NRLS) เพื่อรับรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลในการเรียนรู้และสร้างระบบป้องกันความเสี่ยงในโรงพยาบาล การทำโครงการ 2P Safety Hospital และสุดท้ายคือการบูรณาการเรื่อง 2P Safety เข้าไปเป็นมาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล

1

พญ.ปิยวรรณ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีโรงพยาบาล 856 แห่งหรือ 58% ของโรงพยาบาลทั้งหมด สมัครใจเข้าร่วมเป็น 2P Safety Hospital และมีการรายงานเหตุไม่พึงประสงค์เข้าสู่ระบบ NRLS กว่า 2.2 ล้านเหตุการณ์ สิ่งที่น่าสังเกตคือจำนวนเคสที่รายงานเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นทุกปี แต่พบว่าระดับความรุนแรงของเหตุไม่พึงประสงค์ตั้งแต่ระดับ E ขึ้นไป ลดลงจาก 9.38% เหลือ 7% หมายความว่าโรงพยาบาลมีการเรียนรู้และสร้างระบบบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผู้ป่วย

อย่างไรก็ดี แม้การพัฒนางานด้าน 2P Safety จะก้าวหน้าขึ้นมาก แต่ สรพ.ยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีในการสนับสนุนองค์ความรู้และวิเคราะห์ระบบ และหวังว่าความร่วมมือกับ ECRI ในครั้งนี้จะเข้ามาตอบโจทย์ และช่วยกันยกระดับการขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ การดูแลผู้ป่วย และความปลอดภัยของผู้ป่วยในทุกๆระดับ โดยความร่วมมือนี้จะครอบคลุมเรื่องการร่วมกันออกแบบงานสัมมนา/โรดโชว์ทางการศึกษา เพื่อสนับสนุนชุมชนในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพที่เร่งด่วนในประเทศไทย เนื้อหาของการสัมมนาจะเน้นที่การเรียนรู้ด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการดูแลอย่างปลอดภัย รวมทั้งจะร่วมกันจัดทำเอกสารสรุปประเด็นความน่ากังวลด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย 10 อันดับแรก (Top 10 Patient Safety concerns for Thailand healthcare provider)  สำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพของประเทศไทย ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลการรายงานความปลอดภัยของผู้ป่วย เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยของผู้ป่วย ผ่านการแบ่งปันการเรียนรู้ร่วมกับกับชุมชนที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ

ด้านนายเอริค วู กล่าวว่า เมื่อ 5 ปีก่อนตนได้พูดคุยกับ พญ.ปิยวรรณ เมื่อ 5 ปีก่อน และทราบว่ามีความท้าทายอย่างมากที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบสุขภาพเชื่อในเรื่องการจัดการความเสี่ยง เชื่อในเรื่อง 2P Safety อย่างไรก็ดี จากที่ได้พบเห็นสถานการณ์ในปัจจุบัน ตนเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงเกิดขึ้นในประเทศไทยและต้องขอแสดงความยินดีที่ สรพ. สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม

"ความร่วมมือในครั้งนี้ เราหวังว่าจะสามารถทำให้ 2P Safety เป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญในระบบสุขภาพ หวังว่าจะได้พบปะกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อจะได้แบ่งปันสิ่งที่เราทำและช่วยท่านออกแบบพัฒนาระบบ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับเอเชีย ในโอกาสนี้ ผมต้องขอขอบคุณ สรพ. และประเทศไทย ที่ให้โอกาส ECRI ในการทำงานร่วมกันอย่างอย่างใกล้ชิด เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และเรียนรู้ไปด้วยกัน"นายเอริค กล่าว