ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในระยะ 2-3 ปีของการระบาดของโรคโควิด-19 หากยังจำกันได้ ในช่วงแรกๆ สังคมตื่นตระหนกเป็นอย่างมากเพราะโรคนี้เป็นโรคใหม่ที่ประเทศไทยไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างชัดเจน รัฐกำหนดมาตรการคุมเข้ม ปิดสถานที่ หรือปิดบริการบางอย่างถูกนำมาใช้จนเกิดผลกระทบไปตามๆกัน

บริการด้านทันตกรรม เป็นบริการหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง เพราะเวลาทำการรักษา ทันตแพทย์จะอยู่ใกล้ชิดกับช่องปากของคนไข้ และหัตถการบางอย่างก็เกิดการฟุ้งกระจายของละอองน้ำ/น้ำลาย เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเป็นอย่างมาก ดังนั้น ในระยะแรกๆที่เกิดการระบาด หน่วยบริการทันตกรรมต่างๆ จึงงดให้บริการ

อย่างไรก็ดี การจะงดให้บริการอย่างสิ้นเชิงเลยก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้โดยเฉพาะหน่วยทันตกรรมของรัฐ สิ่งที่ทำได้คือปรับแนวทางการจัดบริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดในแต่ละช่วง ซึ่งในจุดนี้เอง กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลกะพ้อ จ.ปัตตานี สามารถพัฒนาระบบงานทันตกรรมในสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

ทพ.พิสุทธิ์ อำนวยพาณิชย์ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลกะพ้อ กล่าวถึงแนวทางการจัดระบบรองรับผู้ป่วยทันตกรรมในสถานการณ์โควิด-19 ว่า ในช่วงแรกของการระบาดประมาณ เดือน มี.ค. 2563  เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อทางระบบหายใจที่ติดต่อกันได้ง่าย จึงเกิดความกังวลอย่างมากในวงการทันตกรรมทั่วประเทศ แต่การงดให้การรักษาทันตกรรมโดยสิ้นเชิงก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ทั้งการที่ต้องทนทุกข์จากความปวดและอาจทำให้โรคลุกลามมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาแนวทางจัดการที่เหมาะสมที่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ ขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการรักษาทันตกรรมได้ด้วย แนวทางในระยะแรก หรือการระบาดระลอกแรก จึงลดความเสี่ยงของการติดเชื้อตั้งแต่ขั้นตอนการรับผู้ป่วย ตัดผู้ป่วยที่อาจเป็นโควิดไม่ให้เข้ามาสู่ระบบ และทำเฉพาะหัตถการที่ไม่มีละอองฟุ้งกระจาย เช่น ถอนฟัน ถ้าผ่านการคัดกรองก็ยังให้บริการอยู่

1

อย่างไรก็ดี เมื่อใช้แนวทางนี้ไปได้พักหนึ่ง ปรากฏว่าได้รับเสียง complain จากผู้รับบริการอย่างมาก ผู้ป่วยไม่พอใจที่มาถึงโรงพยาบาลแล้วไม่ได้รักษาเพราะคัดกรองไม่ผ่าน อีกทั้งไม่ค่อยรับฟังเหตุผลเมื่อเจ้าหน้าที่อธิบาย

ขณะเดียวกัน เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือน เม.ย.–ก.ค. 2563 ในช่วงนั้นสถานการณ์การระบาดเริ่มรุนแรงมากขึ้น เริ่มมีการประกาศล็อกดาวน์ห้ามเข้าออกพื้นที่บางส่วนใน จ.ปัตตานี จึงมีการปรับระบบเสียใหม่ นำไกด์ไลน์การปฏิบัติทางทันตกรรมในสถานการณ์โควิด-19 ของทันตแพทยสภามาใช้ โดยให้การรักษาผู้ที่ไม่มีประวัติเสี่ยงต่อโควิด-19 เฉพาะงานฉุกเฉินเท่านั้น และต่อมาเมื่อสถานการณ์เริ่มเบาบางลงก็รับเฉพาะงานหัตถการที่ไม่มีการฟุ้งกระจายของละอองฝอย

อย่างไรก็ดี เมื่อนำระบบนี้มาใช้ยิ่งมีเสียง complain จากประชาชนในพื้นที่มากกว่าเดิม ทางกลุ่มงานทันตกรรมจึงพยายามลด pain point ของผู้ป่วย ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงรู้ตัวก่อนตั้งแต่ที่บ้าน จะได้ไม่ต้องมาเสียเที่ยวเปล่า โดยใช้โปรแกรมจองคิวทันตกรรมออนไลน์ ให้ผู้ป่วยจองคิวได้ด้วยตนเองล่วงหน้า 2 สัปดาห์ และก่อนถึงวันรักษา 1 วันจะมีการโทรศัพท์ไปคัดกรองผู้ป่วยที่จองคิวไว้ ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงก็จะจัดให้ไปพบแพทย์เพื่อการรักษาหรือกักตัวแทน นอกจากนี้ยังพบว่ามีคนไข้บางส่วนที่หลุดคัดกรองเข้ามา เช่น โทรไปถามตอบอย่างหนึ่ง พอมาซักประวัติหน้าคลินิกเป็นอีกอย่างหนึ่ง จึงเปลี่ยนวิธีคัดกรอง จากการสัมภาษณ์มาใช้แบบสอบถาม (เช็คลิสต์) แทน

ทพ.พิสุทธิ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากเดือน ก.ค. 2563 ไปจนถึงต้นปี 2564 สถานการณ์การระบาดบรรเทาลงไปมาก กลุ่มงานทันตกรรมจึงกลับมาเปิดให้บริการทันตกรรมทุกชนิดแก่ผู้ที่ไม่มีประวัติเสี่ยง แต่ก็ยังคงใช้ระบบจองคิวต่อไปเพราะรู้สึกว่าใช้แล้วได้ผลดี อย่างไรก็ตาม ระบบจองคิวก็ยังมีข้อจำกัด ยังมีกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการ ก็คือกลุ่มผู้สูงอายุที่ใช้โปรแกรมจองคิวออนไลน์ไม่เป็น รวมทั้งกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปีและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ดังนั้นจึงพัฒนาระบบบริการทันตกรรม มุ่งแก้ไขปัญหาของกลุ่มคนเหล่านี้โดยตรง โดยในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 55 ปี จะเปิดช่องทางพิเศษ สามารถโทรมาจอง หรือ ฝากกับ อสม. มาจองคิวทำฟันก็ได้ ส่วนเด็กอายุน้อยต่ำกว่า 12 ปี ก็เปิดช่องทางพิเศษ มีวันที่ให้บริการเฉพาะเด็กวันหนึ่ง ร่วมกับการตรวจและรับเด็กจากโรงเรียนมารักษาเพื่อลดภาระผู้ปกครอง และสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงนั้น ทีมงานจะลงไปดูแลให้ถึงที่บ้าน

2

ระบบนี้ดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งเดือน พ.ค. 2564 การระบาดของโควิด-19 ก็กลับมาอีกครั้งในนามของสายพันธุ์โอมิครอน ขณะนั้นทันตแพทยสภาออกแนวทางปฏิบัติตามการบริการทันตกรรมวิถีใหม่ (ฉบับใหม่) โดยแนะนำให้จัดโซนนิ่งระดับหมู่บ้าน พื้นที่ไหนระบาดหนักจะงดรับคนไข้จากโซนนั้น กลุ่มงานทันตกรรมจึงนำแนวทางนี้มาปรับใช้ อย่างไรก็ดี ลึกๆในใจของผู้ปฏิบัติงานยังรู้สึกว่าแนวทางนี้ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องมากนักเพียงแต่ไม่มีทางเลือกอื่นจึงต้องใช้วิธีนี้ไปก่อน และ ต่อมาเริ่มมีการนำชุดตรวจ ATK เข้ามาใช้ กลุ่มงานทันตกรรมจึงยกเลิกการโซนนิ่งแล้วใช้การตรวจ ATK ก่อนทำฟันแทน โดยตรวจเฉพาะหัตถการที่มีการฟุ้งละออง และใช้ระบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ผลจากการเปลี่ยนแปลงมาตรการที่นำมาใช้ตลอดการพัฒนาระยะต่าง ๆ ที่ผ่านมา ช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับและพึงพอใจต่อระบบรับผู้ป่วยทันตกรรมที่พัฒนาขึ้นใหม่มากขึ้น โดยระดับความพึงพอใจของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 63.3% เป็น 92.6% และผลงานนี้ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ผลงานการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล ดีเด่น (Poster Presentation) ในงานประชุมวิชาการ HA National Forum ครั้งที่ 22 เมื่อในเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมาอีกด้วย