ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

*สิ่งที่ท่านกำลังอ่านอยู่ในขณะนี้ มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Plan 75 วันเลือกตาย*

“วันนี้รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายแผน 75 รัฐจะให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ที่ประสงค์จะปลิดชีวิตตนเองเพื่อแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น” ข้อความตอนหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่อง “Plan 75 วันเลือกตาย” ที่กล่าวถึงสังคมผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น บนความเนือยนิ่งของเส้นเรื่องได้อย่างคมคาย

ภาพยนตร์ฉายภาพให้เห็นถึงวิธีคิดในมุมกลับ กล่าวคือเมื่อ “ผู้สูงอายุ” ถูกมองว่าเป็น “ภาระ” ของสังคม รัฐบาลจึงเขียนกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป สามารถเข้าร่วมโครงการ “การุณยฆาต” ได้ หนำซ้ำยังมีเงินมอบให้อีก 1 แสนเยน เพื่อใช้ในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างมีความสุข

1

แน่นอนทุกคนต่างมีเหตุผลของตัวเอง และ “ความตาย” อาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่มนุษย์สามารถแสดงเจตจำนง หรือ “เลือก’ ได้

สำหรับประเทศไทย ทุกวันนี้กฎหมายยังไม่อนุญาตให้แพทย์ทำ “การุณยฆาต” ได้ มีโทษเทียบเท่าฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

แต่เราสามารถเลือกที่จะ “ตายดี” ได้ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่นับเป็นกฎหมายที่รับรองสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนา “ไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดความตายในวาระสุดท้ายของชีวิต” ผ่านหนังสือ “Living Will”

เพื่อที่จะได้ไม่ต้อง “จากไป” อย่างอ้างว้างท่ามกลางสายระโยงระยาง หรือถูกเจาะร่างกายเป็นรูพลุนที่โรงพยาบาล แต่สามารถใช้ชีวิตในช่วงท้ายอย่างเต็มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่บ้านอันแสนอบอุ่น ท่ามกลางคนรัก รับการรักษาแบบประคับประคอง และออกเดินทางไกลด้วยความสงบ

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวเอาไว้ผ่านงาน “มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” ภายใต้แนวคิด “วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง” เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 โดยระบุตอนหนึ่งว่า การแสดงเจตนาความต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตเป็นหนึ่งในการวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Plan) ที่นับเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติ คอรบครัวและแพทย์ที่ให้การรักษาเมื่อถึงเวลาที่ผู้ป่วยไม่อาจสื่อสารได้

2

อย่างไรก็ดี วิธีการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขนั้นทำได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และมีสติสัมปชัญญะดีพอที่จะสื่อสารได้ตามปกติ และสามารถเขียนได้ด้วยตนเอง โดยสามารถเขียนที่ใดก็ได้ แต่เพื่อความรอบคอบในการทำหนังสือฯ นั้นควรขอคำแนะนำจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข

ขณะเดียวกันหากผู้แสดงเจตนาไม่สามารถเขียนเองได้ก็สามารถให้ผู้อื่นช่วยเขียนหรือพิมพ์ข้อความแทนได้ โดยให้ระบุชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เขียนเอาไว้ และลงชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้แสดงเจตนา ซึ่งกรณีพิมพ์ลายนิ้วมือให้มีพยานลงนามรับรองลายนิ้วมือนั้นทั้ง 2 คน

แน่นอนว่าการทำหนังสือฯ ควรมีพยานรู้เห็นด้วย หรือจะไม่มีก็ได้ แต่เพื่อประโยชน์ในการยืนยันกรณีที่มีข้อสงสัยเรื่องความถูกต้อง ซึ่งพยานจะเป็นใครก็ได้ เช่น สมาชิกในครอบครัว คนใกล้ชิดที่ไว้วางใจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข

อีกหนึ่งส่วนที่มีความสำคัญสำหรับการเขียนหนังสือแสดงเจตนา นั่นก็คือข้อมูลที่ต้องระบุในหนังสือฯ ให้ครบถ้วนไม่ว่าจะเป็น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้แสดงเจตนา วัน เดือน ปีที่ทำหนังสือฯ รวมไปถึงเป็น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ทำหนังสือฯ และอาจระบุชื่อบุคคลเพื่อทำ หน้าที่อธิบายความประสงค์ที่แท้จริงของผู้ทำหนังสือฯ ที่ระบุไว้ไม่ชัดเจน สำหรับบุคคลผู้ถูกระบุชื่อดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อ และหมายเลขบัตรประชาชนไว้ในหนังสือแสดงเจตนาด้วย

นอกจากนี้ยังต้องระบุถึง “ประเภทของบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการรับ” เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ ฯลฯ รวมไปถึงรายละเอียดอื่นๆ เช่น ความประสงค์ในการเสียชีวิต ณ สถานที่ใด ความประสงค์ที่จะได้รับการเยียวยาทางจิตใจ และการปฏิบัติตามประเพณี ความเชื่อทางศาสนา