ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ลองนับดูกันว่า ในแต่ละมุมถนนที่คุณเดินผ่าน คุณเห็น “ร้านขายยา” ผ่านตากี่ร้าน ? หรือในละแวกที่อยู่อาศัยของคุณมีร้านขายยาตั้งอยู่เท่าไหร่ ?

แน่นอนว่าคำตอบคงแตกต่างกันไปตามบบริบทของพื้นที่ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า ร้านยาเป็นอีกหนึ่งสถานบริการที่พวกเราทุกคน “เข้าถึงง่ายที่สุด”

“ในอดีตที่ผ่านมาร้านยาไม่ค่อยมีบทบาท หรือเป็นที่ยอมรับมากในหมู่ประชาชน ฉะนั้นการนำร้านขายยาเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของประเทศเป็นสิ่งที่เราเองจะต้องมาสร้างมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับในกลุ่มประชาชนทั่วไปให้ได้มากที่สุด”

นั่นคือสิ่งที่ ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม สะท้อนให้เห็นภาพของร้านยาในอดีต ผ่านการบรรยาย “ความมั่นคงของร้านยากับบริการทางวิชาชีพ: การนำร้านยาเข้าระบบบริการสุขภาพของประเทศ” จนมาสู่ความพยายามปรับบทบาทร้านยาให้เข้ามามีบทบาทต่อระบบบริการสุขภาพของประเทศ บนมาตรฐานที่จะตอบโจทย์การบริการปฐมภูมิให้แก่ประชาชน

ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อธิบายว่า ที่ผ่านมาได้มีการผลักดันเพื่อให้เกิดการยอมรับใน 3 กองทุนสุขภาพของประเทศ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งทั้ง 3 กองทุนก็ได้ไว้วางใจให้ร้านยาเข้ามามีบทบาทบริการประชาชน เห็นได้จากการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI)

จากบริการดังกล่าว ก็ได้มีเสียงสะท้อนจากประชาชนกลับไปยังกองทุนทั้ง 3 ว่า “รู้สึกพึงพอใจ” บริการที่ได้รับจากร้านยา ส่งผลสืบเนื่องให้ร้านยาสามารถเข้าสู่ “ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ” ได้อย่างเต็มรูปแบบ 100%

เช่นเดียวกับ รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ หนึ่งในคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมวาระที่ 10 พ.ศ. 2565-2567 ที่ระบุถึงวิสัยทัศน์ของสภาฯ เอาไว้ว่าจะเป็นสภาวิชาชีพที่มีความเข้มแข็ง ทำให้การประกอบวิชาชีพของเภสัชกร หรืองานเภสัชกรรมนั้นมีความเจริญก้าวหน้า ในวิชาชีพทุกส่วนทั้งเภสัชกรร้านยา เภสัชกรในโรงพยาบาล ฯลฯ

แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่ถือเป็นหัวใจของวิสัยทัศน์สภาฯ ในชุดนี้ก็คือ “อยากให้เภสัชกรได้รับความไว้ว้างใจจากประชาชน” โดยสภาฯ จะสนับสนุนทุกอย่างที่สามารถทำได้ ทั้งในส่วนของการผลักดันไปด้วยกันรวมไปถึงการทำงานของร้านยา

สำหรับในการทำงานนั้นจะมีเป้าหมายในแต่ละเรื่อง เช่น หากเป็นโรงพยาบาล สภาฯ ก็มีความตั้งใจทำเรื่องตำแหน่งงาน หากเป็นร้านยาก็จะอยากจะทำเรื่องของปฐมภูมิ เพราะ “ร้านยาเป็นหน่วยปฐมภูมิที่แท้จริง” ทั้งเรื่องการใช้ยาสมเหตุสมผล และอาจะขยายไปการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ซึ่งถ้าถึงจุดหนึ่งก็จะกลายเป็นเภสัชกรครอบครัวของประชาชนได้

“เภสัชกรที่ทำร้านยาตัวเองจะรู้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามถ้าประชาชนเชื่อใจ เขาก็จะมาหาเราทั้งครอบครัว เพราะเขาเห็นว่าเราเป็นคนหนึ่งในครอบครัวที่อยากจะปรึกษา ซึ่งเครื่องมือที่ช่วยในยุคนี้ นั่นก็คือ Telepharmacy ฉะนั้นเราไม่ได้ละเลยว่าประชาชนจะเดินมาหาเราที่ร้าน หรือร้านจะต้องอยู่ในทำเลที่ดีที่ประชาชนจะเข้ามาหาเภสัชกรได้ง่ายๆ ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนการมี Telepharmacy จะทำให้บริการไปถึงประชาชนได้” รศ.ภญ.สุณี ระบุชัด

หากมองถึงการขับเคลื่อนที่ผ่านมาในอดีตจากสภาฯ หลายๆ ยุคที่พยายามจะขับเคลื่อนกว่าจะให้ความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ยาก “รศ.ภญ.สุณี” ย้อนไปถึงช่วงที่ทำโครงการรับยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจนั้นยังไม่สามารถที่จะขึ้นทะเบียน หรือเข้าเป็นหน่วยร่วมบริการได้ จนกระทั่งมีการผลักดันกฎหมายเกิดขึ้น

นำมาสู่การเกิดโครงการรับยาใกล้บ้านฯ ซึ่งร้านยาสามารถเข้าเป็นหน่วยร่วมบริการได้ ซึ่งจากการดำเนินงานในส่วนนี้พบว่าผลการประเมินออกมาดี เพราะสามารถลดระยะเวลารอคอย และลดความแออัดหน้าห้องยาได้แม้ไม่มากก็ตาม และสิ่งที่ประชาชนสะท้อนออกนั่นก็คือชื่นชอบที่จะคุยเภสัชกรที่ไม่ใช่แค่เรื่องยา แต่หมายรวมไปถึงเรื่องการดูแลด้วย

สำหรับการขับเคลื่อนงานเภสัชกรรมปฐมภูมิที่ผ่านมาของคณะกรรมการสภาฯ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมานั้นได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ ตั้งคณะกรรมการเภสัชกรทางไกล การดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common illness) จัดทำหลักสูตรระยะสั้นเรื่องเภสัชกรรมปฐมภูมิ ทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการพัฒนางานเภสัชกรรมปฐมภูมิ โดยให้ร้ายขายยา “เป็นหน่วยร่วมบริการในระบบบัตรทอง” รวมไปถึงมี e-prescription ร่วมกับ Good Doctor และมียุทธศาสตร์เภสัชกรรมปฐมภูมิ

ทว่าเมื่อมีภาระงานที่มากขึ้นก็จะต้องมี “ศูนย์พัฒนาการบริการทางวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม” เพื่อ 1. พัฒนาการบริการทางวิชาชีพเภสัชกรรม ทั้งในส่วนของร้านยา โรงพยาบาลและชุมชน 2. สร้างมาตรฐานงานบริการทางวิชาชีพทั้งในส่วนของร้านยาโรงพยาบาล และชุมชน 3. พัฒนาศักยภาพของเภสัชกรให้มีความรู้ความสามารถในการบริการทางวิชาชีพ 4. ประสานงานกองทุนสุขภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเภสัชกรร้านยา หรือโรงพยาบาลให้มีการทำงานที่เชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพไร้รอยต่อ  และ 5. จัดการความรู้ และงานวิจัยด้านบริการทางวิชาชีพ

“สำหรับการทำงานเรื่องร้านยากับงานปฐมภูมิ ถ้ามองการดูแลประชาชนจะต้องมองครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งสภาฯ จะมองตั้งแต่ประชาชนและกลุ่มเสี่ยง คัดกรองความเสี่ยงมีอายุน้อยกว่า 35 ปี และมากกว่า 35 ปี เป็นบริการส่งเสริมและป้องกัน และนำเข้าสู่ระบบ ซึ่งกลุ่มนี้จะดูแลทุกสิทธิ สำหรับประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อยก็จะดูแลเรื่อง common illness ประชาชนที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ก็จะมีการจ่ายยา เติมยา ฯลฯ รวมไปถึงการเยี่ยมบ้าน ซึ่งตรงนี้เป็นบริการที่สภาฯ ขายบริการให้แก่ สปสช.” รศ.ภญ.สุณี กล่าว

สิ่งที่จะเกิดในปีงบประมาณ 2566 นี้ คือการที่ “ร้านยา” เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพการให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นบริการส่งเสริมป้องกันโรคที่จะให้บริการประชาชนทุกสิทธิการรักษา รวมไปถึงบริการเมื่อเกิดความเจ็บป่วยเล็กน้อยอีกด้วย

สำหรับบริการที่จะเกิดขึ้นจากร้านยา GPP (Good Pharmacy Practice) และร้านยาคุณภาพในงานส่งเสริมและป้องกันโรคปีงบประมาณ 2566 จะประกอบไปด้วย 1. บริการยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน 2. บริการจ่ายยาเม็ดคุมดำเนิดฉุกเฉิน 3. บริการจ่ายถุงยางอนามัยและให้คำปรึกษา 4. บริการตรวจและประเมินความดันโลหิต ดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว ความเครียดและซึมเศร้า ความเสี่ยงต่อการใช้บุหรี่ แอลกอฮอล์และสารเสพติด และการให้คำปรึกษาแนะนำ

รวมไปถึง 5. บริการประเมินและคัดกรองความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ความเครียดและซึมเศร้า ความเสี่ยงต่อการใช้บุหรี่ แอลกอฮอล์และสารเสพติด และการให้คำปรึกษาแนะนำ 6. การตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์ (จ่ายไม่เกิน 4 ครั้งต่อคนต่อปี) 7. บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก และการให้คำแนะนำ ติดตาม (1 ครั้งทุกปี)

นอกจากนี้ยังมีบริการ “Common illness” ที่จะให้บริการที่ร้านยาคุณภาพ ประกอบด้วย 1. บริการทางเภสัชกรรมในความเจ็บป่วยเล็กน้อยที่พบบ่อยในร้านยา เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ-กระดูก ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 โรคผื่นผิวหนัง ฯลฯ 2. บริการจ่ายยาและจัดการการใช้ยาแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโครงการลดความแออัดโมเดล 3 ฯ ร้านยา 3. บริการจ่ายยาและจัดการการใช้ยาแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโครงการลดความแออัดโมเดล 3 โดยเภสัชกรทางไกล

ท้ายที่สุด รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ระบุถึงเป้าหมายที่ต้องการคือการปรับบทบาทร้านยาให้เป็นการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมให้ชัดเจนขึ้น ฉะนั้นการเข้าร่วมโครงต่างๆ จะเห็นว่าเป็นการเน้นให้บริการทางวิชาชีพเป็นหลัก และเป็นการบริการวิชาชีพที่ชัดเจนมากขึ้นจากเดิมที่เป็นการขายยา ซึ่งตรงนี้คิดว่าถ้าปรับบทบาทภาพของการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรมากกว่าการเป็นผู้ขายยาจะชัดเจนมากขึ้น และคิดว่าจะเป็นประเด็นสำคัญของร้านยา

สิ่งสำคัญคืออยากให้ร้านยาเข้าร่วมมากขึ้น ถ้าเป้าหมายคือการจะร่วมกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือต้องมีร้านยากระจายได้อย่างทั่วถึง

“ก็ได้มีการพูดเชิงเล่นเชิงจริงว่าต้องตั้งเป้าหมาย 1 ตำบล 1 ร้านยา จริงๆ เป็น 1 ร้านยาคุณภาพ ถ้าสมมติว่าเรามีได้แบบนี้ โครงการทุกอย่างของประกันสุขภาพจะต้องลงที่ร้านยาแน่ เพราะแปลว่าเรากระจายทั่วถึง ทำให้ประชาชนเข้าถึงและสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน” รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ ระบุ