ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. ลงพื้นที่ ติดตามความปลอดภัยทางม้าลายหน้าโรงเรียน จ.ขอนแก่น พบว่า ภายหลังเกิดกรณีหมอกระต่าย ทำให้คนมีความตระหนักมากขึ้น จอดรถให้คนข้าม-ไม่จอดทับทางม้าลาย พร้อมกำชับรณรงค์ลดความเร็ว-สวมหมวกนิรภัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแบบครบวงจร


น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะ ลงพื้นที่ไปยังบริเวณหน้าโรงเรียนกัลยาณวัตร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อติดตามมาตรการปรับปรุงทางม้าลายและติดตั้งสัญญาณเตือนไฟ

พ.ต.ท.พิทักษ์เขต สิงห์พิทักษ์ รองผู้กำกับการจราจรตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพการจราจรในเขตเทศบาลนครขอนแก่น มีจำนวนรถและประชากรที่เพิ่นขึ้นมาก ขณะที่เส้นทางการจราจรมีเท่าเดิม บางคนที่ไม่คุ้นชินกับเส้นทางการจราจรใน จ.ขอนแก่น อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุง่าย

1

พ.ต.ท.พิทักษ์เขต กล่าวต่อไปว่า เรื่องการจราจรทางผู้บังคับการได้เน้นเรื่องการกวดขันวินัยจนาจรให้กับประชาชนเป็นหลัก โดยจัดตารางการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจให้สอดคล้องกับช่วงเวลา เส้นทาง และปริมาณรถบนท้องถนน เช่น ในแยกที่มีการสัญจรเยอะ หรือ จุดเสี่ยงสำคัญ จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรอยู่ประจำการ 2-3 นาย ส่วนในแยกบริการเสริมตามหน้าโรงเรียน จะมีเจ้าหน้าที่จราจรคอยอำนวยความสะดวกร่วมกับเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน

“ในเรื่องของทางม้าลาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีแนวปฏิบัติให้สำรวจจุดเสี่ยงทางข้ามทั่วประเทศเลย ซึ่งทางขอนแก่นเราได้ประสานกับท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลนครขอนแก่น ให้ช่วยทาสีตีเส้นใหม่ จะเห็นว่าทางม้าลายในเขตเทศบาลมีทั้งขาวดำและขาวแดง เพื่อให้ประชาชนสามารถมองเห็นในระยะไกล จะมีป้ายแจ้งเตือนว่ามีทางม้าลาย ติดทางขอบถนนฝั่งซ้าย มีไฟกระพริบ อย่างเช่น ที่บริเวณหน้าโรงเรียนกัลยาณวัตร ก็จะมีสัญลักษณ์ทางข้ามม้าลาย ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากเทศบาลนครขอนแก่น ส่วนตามหน้าโรงงานหรือเขตตลาด เขตชุมชน ที่มีการสัญจรของประชาชนจำนวนมาก ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการเช่นกัน” พ.ต.ท.พิทักษ์เขต ระบุ

2

นอกจากนี้ ยังได้กำชับเรื่องความเข้มงวดในวินัยจราจร โดยจะดำเนินการจับปรับคนที่ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ซึ่งทำการจับกุมอยู่เป็นระยะ อย่างไรก็ดีภายหลังเหตุการณ์หมอกระต่าย พบว่าสังคมมีความตระหนักมากขึ้น

สอดคล้องกับการเปิดเผยสถิติการเก็บข้อมูลทางม้าลาย 12 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยพบว่า ในเดือนพฤษภาคม มีการหยุดรถให้คนข้ามถนนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากเดิมที่มีเพียงร้อยละ 8-9 สะท้อนให้เห็นว่าคนเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับทางม้าลายมากขึ้น

..รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ กล่าวว่า กลุ่มคนเดินเท้าถือเป็นกลุ่มผู้ใช้ถนนที่มีความเปราะบางมากที่สุด และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด สิ่งสำคัญทางม้าลายควรเป็นพื้นที่ที่เป็น “สิทธิความปลอดภัยของทุกคนที่ใช้รถและใช้ถนน”

ดังนั้นเราควรช่วยการดูแลทางม้าลายให้เป็นที่ปลอดภัย เพราะเชื่อว่าทุกคนคือหนึ่งในผู้ที่ต้องเดินเท้าเช่นเดียวกัน และมาตรการสำคัญคือเรื่องของการจำกัดความเร็ว โดยเฉพาะในเขตชุมชนจะช่วยลดอุบัติเหตุและลดความรุนแรงได้ โดยมองว่าโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความตระหนักเรื่องกฎจราจร และสามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้

2

ทั้งนี้ โดยสรุปสิ่งที่ต้องทำเพื่อลดความสูญเสียให้ได้ แบ่งออกเป็น 3 ข้อ ได้แก่ 1. การหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ฝึกฝนให้เด็กมองซ้ายมองขวา 2.จำกัดการใช้ความเร็วบริเวณหน้าโรงเรียน หรือในพื้นที่ชุมชนความเร็วแนะนำไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ 3. การสวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับขี่และคนซ้อน โดยอย่ามองว่าการเดินทางในระยะสั้นๆ และไม่สวมหมวกนิรภัยคงไม่เป็นอะไร เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ

“อย่างในตัวเมืองขอนแก่น ทั้งถนนสายหลักและสายรอง โดยเฉพาะสายรองจะมีคนใช้ถนนเยอะ รวมถึงบริเวณหน้าโรงเรียน การดูแลความเร็วและทางม้าลายให้ปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นก็รณรงค์เรื่องสวมหมวกนิรภัยอยู่ด้วย ซึ่งช่วยให้เกิดความปลอดภัยแบบครบวงจร” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าว

3

ขณะที่ ร.ต.อ.วัฒนา พิมพิลา รองสารวัตรจราจรตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น กล่าวว่า สภาพการจราจรในขอนแก่นชั่วโมงเร่งด่วนก็จะมีรถหนาแน่น เป็นห่วงนักเรียนนักศึกษาเวลาข้ามถนนมาก จึงอยากขอความร่วมมือให้ใช้ความระมัดระวัง อย่าวิ่ง ค่อย ๆ เดิน เวลาจะข้ามถนนให้มองซ้ายมองขวาให้ดี โดยเฉพาะจุดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือจุดที่ไม่สัญญาณไฟ รวมถึงคนขับรถเองก็ต้องใช้ความระมัดระวัง เมื่อเห็นสัญญาณไฟ ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

“ผมเป็นครูพิเศษที่จะไปอบรมให้นักเรียนด้วยครับ เวลาได้ไปบรรยายในโรงเรียนต่างๆ ผมก็จะนำความรู้เรื่องกฎจราจร ในเรื่องของประสบการณ์ การข้ามถนน ในเรื่องของการทำหน้าที่เป็นจิตอาสา การหยุดรถ ห้ามรถ ในส่วนนี้พยายามให้น้องๆ หนูๆ หรือแม้กระทั่งผู้ปกครองที่เดินทางไปรับส่งบุตรหลาน ได้รับความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์ในการใช้รถใช้ถนน ในการข้ามทางม้าลาย เพื่อความปลอดภัยของทุกคนครับ” ร.ต.อ.วัฒนา กล่าว