ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จักษุแพทย์ รพ.ศูนย์อุดรธานี เผย ‘โครงการเด็กไทยสายตาดี’ ทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิต-การมองเห็นที่ดีขึ้น คาดปีหน้าอัตราการตรวจคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กจะเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ หลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย


นพ.พิชชา พนาวัฒนวงศ์ จักษุแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี กล่าวถึง ‘โครงการเด็กไทยสายตาดี’ ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กชั้นประถมศึกษาและตัดแว่นให้ฟรี ว่า โครงการนี้ทำให้เด็กได้รับการตรวจสายตาอย่างละเอียด เพราะมีการหยอดยาลดเพ่ง (cyclogyl) ทำให้สามารถวัดค่าความผิดปกติของสายตาเด็กได้อย่างถูกต้องมากที่สุด ต่างจากการวัดสายตาที่ร้านแว่นซึ่งส่วนมากจะได้รับแว่นสายตาที่มีค่า over ขึ้นไป

นพ.พิชชา กล่าวต่อไปว่า โดยปกติเด็กที่มาพบจักษุแพทย์มักมีปัญหาสายตาที่รุนแรง ส่วนที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางส่วนมากจะไปตัดแว่นที่ร้านแว่นทั่วไป ทว่า การวัดสายตาในเด็กนั้นจะต่างจากผู้ใหญ่ เพราะเด็กจะมีการเพ่งหรือการโป่งของเลนส์ตาได้มากกว่า นี่เป็นจุดที่ผู้ปกครองไม่ค่อยทราบ เมื่อพาไปตัดแว่นที่ร้านแว่นก็จะไม่ได้รับการหยอดยาทำได้แว่นตาที่มีค่าสายตาไม่ถูกต้อง ส่งผลให้มีอาการไม่สบายตาหรือปวดศรีษะ ดังนั้นบางส่วนจึงกลับมาหาจักษุแพทย์อีกครั้ง

ทั้งนี้ การวัดสายตาด้วยการหยอดยาจะต้องทำโดยจักษุแพทย์เท่านั้น ซึ่งในโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่มีจักษุแพทย์หรือไม่มียาตัวนี้ก็จะไม่สามารถตรวจได้เลย และร้านแว่นทั่วไปจะไม่สามารถมียานี้หยอดตาให้ได้ แม้แต่ร้านแว่นที่มีนักทัศนมาตรก็ไม่สามารถหยอดยาตัวนี้ได้ จึงเป็นข้อจำกัดในการวัดสายตาเด็ก

อย่างไรก็ดี เมื่อราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และ สปสช. ทราบถึงปัญหาในส่วนนี้ จึงได้ทำโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้สิทธินี้อย่างเท่าเทียมกัน

“รู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจวัดสายตาแก่เด็กในโครงการนี้ และรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ ยินดีที่ได้เห็นปฏิกิริยาแรกๆ หลังจากเด็กได้สวมแว่นตาที่เหมาะกับสายตาของตัวเอง เด็กบางคนยิ้ม บางคนวิ่งด้วยความดีใจ มั่นใจมากขึ้น บางคนก็ดีใจจนซอยเท้าหรือกระโดดตัวลอยก็มี แว่นตาทำให้เด็กมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น บางคนอายุ 10 ปีหรือแม้แต่ 20 ปีก็มี ที่ไม่รู้ตัวว่าสายตาผิดปกติ พอได้รับแว่นตาแล้วถึงรู้ว่าโลกนี้ไม่ได้เบลอแบบที่คิด และจากการสอบถามผู้ปกครองพบว่าเมื่อได้รับแว่นตาแล้วสามารถมองเห็นกระดานให้ห้องเรียนชัดเจน การเดินการวิ่งก็เห็นชัดและมั่นใจมากขึ้น” นพ.พิชชา กล่าว

นพ.พิชชา กล่าวทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการตรวจวัดสายตาเด็ก พบว่ายังมีเด็กอีกจำนวนมากที่สายตาผิดปกติและเข้าไม่ถึงบริการ โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลจากตัวเมือง ส่วนมากตนจะออกตรวจในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 โดยเฉพาะที่ จ.สกลนคร ที่มีความตั้งใจดำเนินโครงการนี้อย่างดีเยี่ยม ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่ยังมีการคัดกรองสายตาเด็กได้น้อย อาจเกิดจากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์และเข้าไปตรวจวัดสายตาได้ยาก แต่ขณะนี้การระบาดเริ่มคลี่คลายและเด็กกลับเข้าชั้นเรียนแล้ว เชื่อว่าในปีต่อไปอัตราการตรวจวัดสายตาผิดปกติในเด็กจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้