ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จักษุแพทย์ รพ.สกลนคร เผย การดำเนินโครงการตรวจคัดกรองสายตานักเรียนชั้นประถม จ.สกลนคร สำเร็จกว่า 80%  ปัจจัยสำคัญมาจากการทำงานแบบ ‘บูรณาการ’ ในพื้นที่


นพ.ปวีณ ภูจันทึก จักษุแพทย์จากโรงพยาบาลสกลนคร กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนเพื่อค้นหาความผิดปกติทางสายตาในส่วนของ จ.สกลนคร โดยระบุว่า ด้วยความร่วมมือของโรงพยาบาลสกลนครและภาคีเครือข่ายต่างๆ วางแผนการคัดกรองสายเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 - ป.6 ทั้งจังหวัด และสามารถคัดกรองได้ประมาณ 80% ของกลุ่มเป้าหมาย หรือประมาณ 65,000 คน จากจำนวนทั้งจังหวัด 81,344 คน โดยมีนักเรียนที่สายตาผิดปกติและได้รับการตัดแว่นฟรีจำนวน 205 คน

สำหรับระบบการจัดการที่วางแผนไว้นั้น เริ่มตั้งแต่จักษุแพทย์เข้าไปอบรมคุณครูว่าการวัดสายตาเด็กต้องทำอย่างไร โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งการให้ความรู้ผ่าน ยูทูบ และวิดีโอของกรมอนามัย ขณะเดียวกัน ยังเปิดช่องทางการให้คำปรึกษาแนะนำผ่านโทรศัพท์หรือ Telemedicine  ในกรณีที่คุณครูมีข้อสงสัยหรือยังวัดสายตาไม่เป็น ก็สามารถปรึกษาจักษุแพทย์เข้ามาได้

ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดระบบบริการ ยังมีการแบ่งโหนด (Node) ออกเป็น 5 โหนดกระจายตามอำเภอต่างๆ และนัดหมายวันให้เด็กนักเรียนเข้ามารับบริการในคราวละมากๆ เพื่อจะได้วัดแว่นตาในคราวเดียว

“การกระจายโหนดก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเรียนจะได้ไม่ต้องมาที่อำเภอเมืองทั้งหมด แล้วหมอกับทีมวิ่งลงไปหาเด็กไม่ใช่ให้เด็กวิ่งมาหาเรา และเราทำแบบ mass เพื่อความสะดวก โรงเรียนไหนสะดวกก็ให้ไปที่โหนดนั้นในวันเดียว พอถึงวันนัดเราจะรวมจักษุแพทย์และพยาบาลเวชปฏิบัติตาทั้งจังหวัดไปให้บริการที่โหนดนั้นๆ ” นพ.ปวีณ กล่าว

1

นอกจากนี้ เมื่อเด็กได้รับการคัดกรองและส่งตัวมาหน่วยบริการแล้ว ยังมีความร่วมมือร่วมใจของทีมพยาบาลเวชปฏิบัติทางตาและจักษุแพทย์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ในการวัดแว่นสายตา รวมทั้งตรวจความผิดปกติทางสายตาอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้แว่นตาด้วย

นพ.ปวีณ กล่าวว่า ‘การทำงานเป็นทีม’ คือคีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุดในการทำให้โครงการประสบความสำเร็จ เริ่มตั้งแต่ระดับเส้นเลือดฝอยคือคุณครูในแต่ละชั้นเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ที่เป็นผู้คัดกรองสายตาเด็กเบื้องต้น จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ เพราะการคัดกรองเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาทั้งจังหวัดต้องอาศัยกำลังจากครูจำนวนมาก

“ทุกฝ่ายมีความประทับใจในโครงการนี้และเห็นตรงกันว่าการลงทุนกับเด็กเป็นการลงทุนที่มีค่าเสมอ เพราะเด็กเล็กๆ เหล่านี้ในอนาคตจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่และจะทำอะไรให้กับสังคมได้มากขึ้น ดังนั้น เราเห็นความสวยงามของโครงการว่าการให้แว่นตาเด็ก ลงทุนเพียงคนละ 600 บาท แต่ทำให้เขามีอนาคตใหม่ที่สดใสได้รวดเร็วทันใจโดยไม่ต้องผ่าตัดหรือทำอะไรอีก ความประทับใจนี้นำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติของทุกๆคน” นพ.ปวีณ ระบุ

นพ.ปวีณ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่อื่นๆ ที่อาจจะยังคัดกรองสายตาผิดปกติของเด็กได้จำนวนไม่มาก แนะนำว่าในส่วนของจักษุแพทย์นั้น จะต้องผ่านพ้นความกลัวให้ได้ จักษุแพทย์หลายๆ คนกลัวว่าการวัดแว่นเด็กเป็นเรื่องยาก มีความซับซ้อน เสียเวลานาน เด็กร้องกระจองอแง ฯลฯ แต่ถ้าผ่านพ้นความกลัวนั้นด้วยกระบวนการที่มีลำดับขั้นตอน ทำงานแบบ mass วัดแว่นตาทีเดียว เหนื่อยวันเดียวแต่รวมใจกันทำ ก็สามารถทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ ไม่ได้เสียเวลาอย่างที่คิด เช่น ที่โรงพยาบาลสกลนครมีจักษุแพทย์เพียง 2 คน แต่สามารถทำโครงการนี้ได้เพราะได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น คุณครู พยาบาลและแพทย์ ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันจึงประสบความสำเร็จ ดังนั้นถ้าทำงานเป็นทีมแล้วโครงการนี้ไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลย