ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.เปิดเวที “สร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” วงถกถ่ายทอดแนวคิดการวางแผนการดูแลล่วงหน้า “ACP” ออกแบบอนาคตกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ลดการรักษาที่ไม่ก่อประโยชน์ใน รพ. หนุนคนไทยทำได้ตั้งแต่ยังไม่ป่วย-สูงวัย ช่วยกำหนดบั้นปลายการตายที่ดีได้ ภายใต้การวางระบบดูแลแบบประคับประคองร่วมกันในสังคม


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม รวม 13 องค์กร ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” ภายใต้แนวคิด “วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง” ระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย. 2565 เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งมุ่งหวังให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย เปิดเผยว่า การที่คนจะมีการตายที่ดีได้นั้นจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในช่วงระยะท้ายของชีวิต ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญคือการวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning) หรือ ACP ที่จะทำให้เราสามารถออกแบบอนาคตได้ว่าหากเกิดสถานการณ์เจ็บป่วยใดขึ้นแล้ว เราต้องการให้แพทย์ดูแลในแนวทางใด ซึ่งการดูแลแบบประคับประคอง ยังเป็นหนึ่งในแนวทางที่องค์การอนามัยโลก (WHO) สนับสนุน เพื่อให้แต่ละประเทศมีการดำเนินงานภายใต้บริบทในระบบสุขภาพของตน

รศ.พญ.ศรีเวียง กล่าวว่า การที่จะทำให้คนสามารถเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองได้มากขึ้น อาจต้องเริ่มจากการดูแลในโรงพยาบาลใหญ่ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นปลายทางของการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เมื่อผู้ป่วยถึงจุดที่ไปต่อไม่ไหว จำเป็นต้องมีการพัฒนาทีม Palliative Care ที่มีคุณภาพ ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาตัวเลขจากการวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลจำนวนถึง 18% เข้าเกณฑ์ผู้ป่วย Palliative Care แต่ทีมที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีไม่เพียงพอ ฉะนั้นยังจะต้องมีการพัฒนาระบบ Primary Palliative Care หรือการให้แพทย์พยาบาลทั่วไปเข้าใจในหลักการ และให้การดูแลแบบประคับประคองในรายที่ไม่ซับซ้อนได้

“ที่สำคัญคือจะต้องมีการรณรงค์เรื่อง ACP เพราะการวางแผนล่วงหน้า จะช่วยลดการกลับเข้ารักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ในโรงพยาบาลได้ ขณะเดียวกันทีมของโรงพยาบาลก็จะต้องมีการเชื่อมประสานกับเครือข่ายในชุมชน เพราะบ้านจะเป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่เหมาะสมที่สุด ในรายที่การรักษาตัวโรคนั้นไม่สามารถทำได้แล้ว จะเป็นการดูแลเรื่องของจิตใจ จิตสังคม ไปถึงจิตวิญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีระบบการดูแลประคับประคองในชุมชนที่แข็งแรง” รศ.พญ.ศรีเวียง กล่าว

รศ.พญ.ศรีเวียง ยังกล่าวด้วยว่า จากการศึกษาโรงพยาบาลใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบว่าผู้ป่วยมีการทำ ACP ไว้น้อยมาก และที่สำคัญคือผู้ป่วยน้อยรายที่จะมีส่วนร่วมในการพูดคุยวางแผนการดูแล ส่วนใหญ่จะเป็นญาติหรือครอบครัวที่เป็นคนทำในตอนที่ผู้ป่วยไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว ในขณะที่ระยะเวลาก็ทำเพียง 5 วันก่อนเสียชีวิต แบบนี้เป็นต้น อย่างไรก็ตามแม้จะเห็นว่ามีการทำที่ยังช้าและไม่มากนัก แต่ผู้ป่วยที่มีการทำ ACP ก็จะมีการใช้ระยะเวลาอยู่ในโรงพยาบาลสั้นกว่า เผชิญการรักษาที่รุกราน (Invasive procedure) น้อยกว่า และค่าใช้จ่ายก็ต่ำกว่า โดยเฉพาะสิ่งสำคัญคือไม่ทำให้ผู้ป่วยทรมาน

1

ศ.คลินิก นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานกรรมการกำกับทิศการขับเคลื่อน ACP กล่าวว่า ทิศทางของประเทศไทยจะต้องทำให้ประชาชนตื่นตัวในเรื่องสิทธิด้านสุขภาพของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมตัววางแผนในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตให้มากขึ้น เช่นเดียวกับบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขเองก็ต้องตื่นตัว เพราะในอนาคตเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบการแพทย์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยผู้ป่วยบางรายอาจไม่จำเป็นต้องเข้าสถานพยาบาล แต่เราสามารถดูแลได้ที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม นอกจากประชาชนและบุคลากรจะมีความเข้าใจแล้ว ระบบบริการเองก็ต้องรองรับ ซึ่งขณะนี้กรมการแพทย์ยืนยันแล้วว่า ปัจจุบันเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตมีโครงสร้างรองรับแล้ว ภายใต้ Service Plan ด้าน Palliative Care แม้แต่ละแห่งยังอาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน แต่ก็จะต้องพยายามเพิ่มศักยภาพของการบริการให้สูงขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกันสิทธิของประชาชนในเรื่องนี้เองก็ต้องถูกกำหนดเป็นชุดสิทธิประโยชน์ด้วย

“นับจาก 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป เราจะมีการกระจายอำนาจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรงนี้คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ หากในอนาคตข้างหน้าการบริหารจัดการเรื่องการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต เป็นท้องถิ่นที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็จะทำให้ปัญหาถูกแก้ไขได้โดยพื้นที่ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนตามบทบาทของแต่ละภาคส่วน ทั้งภาครัฐ วิชาการ และประชาชน จะทำให้เราเดินหน้าไปด้วยกันได้” ศ.คลินิก นพ.สุพรรณ กล่าว

2

ขณะที่ น.ส.วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death กล่าวว่า เห็นด้วยว่าการสร้างความตระหนักในการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า หรือ ACP จะเป็นตัวชี้ขาดในเรื่องการเข้าถึงสุขภาวะในระยะท้าย ทำให้ความปรารถนาของผู้ป่วยเป็นรูปธรรม รวมถึงต้องทำให้นโยบาย กลไก และระบบชุมชนเกื้อกูลกับการดูแล เพราะในปัจจุบันพบว่าหลายครอบครัวไม่มีผู้ดูแลผู้ป่วย ไปจนถึงผู้สูงวัยจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้งอยู่คนเดียว ฉะนั้นจะต้องร่วมกันสนับสนุนระบบสังคมให้เกิดกลไกการดูแลที่ดี เช่น ออกแบบระบบการดูแลตามบ้าน

น.ส.วรรณา กล่าวว่า ในส่วนของการสร้างความตระหนัก อยากรณรงค์ให้ทุกคนตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ก็สามารถมีการทำ ACP ไว้ล่วงหน้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นผู้ป่วยหรือเป็นผู้สูงวัย เพราะการทำไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ป่วยหรือยังอายุน้อย ย่อมดีกว่าการไปทำใน 4-5 วันสุดท้าย ซึ่งจะพลาดโอกาสในการวางเป้าหมายแท้จริงที่ต้องการได้ และสุดท้ายเรื่องนี้ไม่สามารถเคลื่อนได้ด้วยภาคสาธารณสุขอย่างเดียว แต่ทุกภาคส่วนจะต้องมามีส่วนร่วมในการดูแลชีวิตบั้นปลายที่ดีของผู้คนไปด้วยกัน

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาระบบ กลไก การสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน อย่างไรก็ตามยังคงมีความท้าทาย ทั้งในการพัฒนาระบบบริการดูแลแบบประคับประคอง รวมถึงการรับรู้ของประชาชนต่อการวางแผนชีวิตล่วงหน้า การออกแบบความต้องการหรือไม่ต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิต ตามเจตนารมย์ของมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

“การจัดงานสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4 จะเป็นการสร้างความเข้าใจนโยบาย ทำให้บุคลากรสาธารณสุขรวมถึงประชาชนทั้งประเทศ ได้รับทราบถึงหัวใจของมาตรา 12 ที่มุ่งเน้นส่งเสริม คุ้มครองให้เกิดการเข้าถึงสิทธิของผู้ป่วย ที่จะรับหรือไม่รับการรักษาที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้าย รวมไปถึงการสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง ได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการ และขยายผลการขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกันในระยะยาวต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว