ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ซอฟแวร์ปัญญาประดิษฐ์ AI Chest 4All’ นวัตกรรม ‘วิเคราะห์โรคผ่านฟิล์มเอ็กซเรย์’ ผลงานความร่วมมือ ‘ม.ธรรมศาสตร์-กรมการแพทย์’ คว้ารางวัลเลิศรัฐ ด้านบริการภาครัฐระดับดีเด่น ปี 2565 จาก ก.พ.ร.


นวัตกรรมการตรวจคัดกรองโรคผ่านรูปฟิล์มเอกซเรย์ “AI Chest 4all (DMS-TU) For Thai People” ผลงานจากความร่วมมือของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ สถาบันทรวงอก โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 สาขาบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น ประเภทขยายผลมาตรฐานการบริการ โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานของรัฐที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรมและเป็นที่พึงพอใจ

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. เปิดเผยว่า มธ. ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อรับใช้ประชาชน และหนึ่งในความภาคภูมิใจของ มธ. ในปีนี้ ก็คือผลงานนวัตกรรม AI Chest 4All ภายใต้ความร่วมมือของ มธ. และ โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ในการคิดค้นซอฟแวร์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยเหลืองานด้านการแพทย์ของประเทศไทย และเพิ่งได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 สาขาบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น ประเภทขยายผลมาตรฐานการบริการ

สำหรับนวัตกรรม AI Chest 4All มีความแม่นยำในการตรวจคัดกรองโรคโดยเฉลี่ยทุกโรคกว่า 90% ซึ่งในปัจจุบันมีโรงพยาบาลกว่า 200 แห่งแล้วที่นำนวัตกรรมนี้ไปใช้ เนื่องจากสามารถใช้งานได้ง่าย เพียงมีคอมพิวเตอร์สำหรับลงโปรแกรมและอินเตอร์เน็ตก็สามารถใช้ได้เลย

ในส่วนการทำงาน AI ตัวนี้จะเข้าไปอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ เมื่อมีคนมาเอกซเรย์ตรวจร่างกายและได้เอกสารแสดงข้อมูลเป็นภาพถ่ายเอกซเรย์ ภาพถ่ายนี้จะถูกส่งต่อให้ยังปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะทำการประมวลผล ว่าภาพถ่ายเอกซเรย์นั้นมีความปกติหรือผิดปกติ กำลังเป็นโรคอะไร และรอยของโรคอยู่ตรงไหน โดยใช้เวลาราว 50 msec ซึ่งถือว่าเร็วมาก หากรวมกับเวลาที่ใช้ในการรับ-ส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต จะใช้เวลารวมประมาณ 1 วินาที หลังจากนั้น เมื่อภาพเอกซเรย์ถูกประมวลผลเสร็จสิ้นจะส่งผลกลับไปแสดงบนหน้าจอควบคุมเครื่องเอกซเรย์ของโรงพยาบาล

นอกจากนี้ AI Chest 4All ยังมีระบบการจัดระเบียบคิวเพื่อให้สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นในแต่ละ 1 วินาที จะสามารถรองรับได้หลายร้อยการใช้งานจากโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย รวมไปถึงยังสามารถขยายการให้บริการเพิ่มขึ้นได้อีก

รศ.เกศินี เผยว่า ในอนาคตอันใกล้ทาง มธ. จะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในเรื่องการเชื่อมต่อระบบจัดเก็บและสื่อสารข้อมูลทางการแพทย์ (PACS) กับ AI Chest 4All เพื่อให้ทาง สธ. สามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการช่วยเหลืองานด้านการแพทย์ของประเทศไทยได้

ทางด้าน รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์   คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะผู้คิดค้นนวัตกรรม กล่าวว่า นวัตกรรมนี้พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับกับสถานการณ์โรคที่คนไทยประสบบ่อย ได้แก่ วัณโรค มะเร็งปอด ความผิดปกติของหัวใจ ความผิดปกตภายในทรวงอก (Intra-Thoracic) รวมไปถึงการตรวจคัดกรองปอดอักเสบ (Pneumonia) อีกทั้งความผิดปกติภายนอกทรวงอก (Extra-thoracic) เช่น กระดูกผิดปกติ ฯลฯ

“ก่อนหน้านี้เราใช้ AI ในการมาบอกว่าตรงไหนที่น่าจะเป็นรอยโรค แต่ตอนนี้เราให้แพทย์มาระบุเลยนะครับว่ารอยโรคอยู่ตรงไหน ตรงนี้ก็จะยิ่งแม่นยำขึ้นไปอีก อำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น” รศ.ดร.จาตุรงค์ ระบุ

รศ.ดร.จาตุรงค์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตจะมีการขยายผลเพื่อให้การตรวจคัดกรองครอบคลุมโรคมากยิ่งขึ้น เช่น CT scan สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคทางหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือ MRI ในเฉพาะส่วนของรังสี ฯลฯ อย่างไรก็ดียังมี Product ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์อื่นๆ ที่กำลังพัฒนาอยู่ ซึ่งจะมุ่งเน้นให้เกิดกับประชาชนมากที่สุด โดยให้สามารถใช้งานได้ฟรี เช่น โรคซึมเศร้า (Depression) อัลไซเมอร์ ฯลฯ

อนึ่ง รางวัลเลิศรัฐ เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่มอบให้แก่หน่วยงานที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานทั้งปวง โดยแบ่งเป็น 3 สาขา ได้แก่ สาขาบริการภาครัฐ สาขาคุณภาพบริหารจัดการภาครัฐ และสาขาบริการราชการแบบมีส่วนร่วม