ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อุปนายกสภาเภสัชกรรม ระบุ รับยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่ร้านยายังมีปัญหา ทุกวันนี้ ‘ใบสั่งยาจากแพทย์’ ไหลมาที่ร้านยาน้อยมาก ขณะที่บริษัทที่ขึ้นทะเบียนโมลนูพิราเวียร์ และมีสิทธิ์เพื่อขายให้ร้านยา มีเพียงแห่งเดียว


ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า หลังจากที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เคาะให้วันที่ 1 ก.ย. 2565 ร้านยาขายยาต้านโควิด-19  ได้ตามใบสั่งแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสภาเภสัชกรรม และร้านยาประเภทที่มีใบ ขย 1 ที่มีเภสัชกรประจำ มีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสโควิด-19 อาทิ ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ ผ่านร้านยาได้ตามเงื่อนไขที่ว่าจะขายให้เฉพาะผู้ที่มีใบสั่งยาจากแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น

ภก.ปรีชา กล่าวว่า สำหรับการจ่ายยาต้านไวรัสนั้น เภสัชกรไม่สามารถจ่ายยาให้แก่ประชาชนได้หากไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีประชาชนเดินเข้ามาขอซื้อยาเนื่องจากมีความกังวลว่าตนเองจะติดเชื้อโควิด-19 ฉะนั้นหากไม่มีใบสั่งจากแพทย์ก็ไม่สามารถซื้อหรือขายยาได้ตามกฎหมาย เพราะร้านยาจะต้องมีการทำรายงานว่าใครเป็นผู้รับ และต้องมีหลักฐานใบสั่งยาจากแพทย์เพื่อใช้เก็บเป็นข้อมูลเอาไว้หากถูกเรียกตรวจสอบในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้พบว่ายังไม่ค่อยมีใบสั่งยาจากแพทย์มาที่ร้านยาเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงพยาบาลเองก็มียาต้านไวรัสและสามารถจ่ายให้ประชาชนได้ทันที ขณะเดียวกันหากแพทย์จะออกใบสั่งยาให้ผู้ป่วยก็อาจจะไม่ทราบว่าจะต้องจ่ายไปร้านยาที่ใด ตรงนี้สะท้อนว่ายังไม่มีการประสานงานกันและยังขาดการเชื่อมต่อ ซึ่งทางสภาเภสัชกรรมก็พร้อมที่จะเป็นหน่วยงานประสานช่วยดูว่าในพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีร้านยาใดที่จะเป็นหน่วยจ่ายยาให้แก่โรงพยาบาลหรือคลินิกแพทย์

“นโยบายออกมาแต่กลับไม่มีการสอบถามผู้ปฏิบัติว่าจะมีปัญหาหรือไม่ มีความพร้อมหรือไม่ แพทย์พร้อมที่จะจ่ายใบสั่งแพทย์ออกมาหรือไม่ โรงพยาบาลพร้อมที่จะจ่ายมาหรือไม่ ร้านยามีความพร้อมหรือยัง ตราบใดก็ตามภาครัฐไม่มีการยืนยันว่าจะจ่ายใบสั่งแพทย์ออกมาให้ผู้ป่วย ร้านยาก็ไม่มีใครกล้าสต็อกยาที่ร้านยา ประชาชนก็เข้าถึงไม่ได้อยู่ดี เพราะไม่มีใบสั่งจากแพทย์มาที่ร้านยา” ภก.ปรีชา ระบุ

ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้ ขณะเดียวกันยาโมลนูพิราเวียร์ซึ่งเป็นยาที่มีความใหม่ ขณะนี้มีผู้นำเข้าได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวม 3 บริษัท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาโดยตรง 1 แห่ง ส่วนอีก 2 บริษัทเป็นตัวแทนนำเข้า แม้จะมีการขึ้นทะเบียนแต่ยังติดสัญญาที่กำหนดว่าสามารถขายให้ได้เฉพาะโรงพยาบาลและคลินิกอย่างเดียว ไม่สามารถขายที่ร้านยาได้ ฉะนั้นจึงเหลือแต่บริษัทผู้ผลิตเจ้าของผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่มีสิทธิขาย