ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อปี 2560 มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เข้ารับการรักษาที่ “โรงพยาบาลแพทย์รังสิต” ด้วยอาการปวดขา โดยมี พญ.จุฑามาศ หาญณรงค์ เป็นผู้ให้การรักษา

แพทย์หญิงได้วินิจฉัยว่าคนไข้เป็น “โรคเส้นเอ็นอักเสบ” และได้สั่งยาฉีดไดโคลฟีเนคฉีด พร้อมทั้งยากิน ได้แก่ นอร์จีสิค บูรเฟน และทรามอล

สำหรับยากิน ทั้งนอร์จีสิค และ บูรเฟน เป็นยาที่คนไข้เคยได้รับไปก่อนหน้านี้บ้างแล้ว

คนไข้ได้รับยาฉีดและยากิน เวลาประมาณ 18.16 น. และออกจากโรงพยาบาลราว 18.30 น.

เมื่อกลับถึงบ้าน ผู้ป่วยมีอาการขาอ่อนแรง หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก แม้ว่าจะพ่นยาขยายหลอดลม (มีโรคประจำตัวหอบหืด) ก็ไม่ดีขึ้น

“หายใจไม่ออก ไม่ไหว” คือคำพูดสุดท้าย ก่อนที่คนไข้รายนี้จะวูบหมดสติไป

พี่สาวตัดสินใจโทรสายด่วน 1669 แต่ระหว่างนั้นมีรถแท็กซี่ผ่านมาด้วย เลยตัดสินใจเรียกรถแท็กซี่ไปโรงพยาบาล และระหว่างทางได้มีการถ่ายตัวผู้ป่วยไปยังรถฉุกเฉิน ปั๊มหัวใจ และส่งตัวไปยังโรงพยาบาลใกล้ๆ

เวลา 19.30 น. คนไข้ความดันโลหิตตก โคม่า ไม่หายใจ ต้องใส่ท่อช่วย สมองเสียหาย ม่านตาสองข้างเบิกโพรง ไม่ตอบสนองต่อแสง ขนาดม่านตา 5 มิลลิเมตร

ต่อมาคนไข้ถูกส่งต่อไปยัง “โรงพยาบาลแพทย์รังสิต” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสังคมอยู่ ซึ่งโรงพยาบาลแพทย์รังสิตก้ได้รับตัวเอาไว้ในห้องไอซียู มีการใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา

คนไข้มีอาการปวดขา ในวันที่ 23 ก.ค. 2560 และสามวันถัดมา คือวันที่ 26 ก.ค. 2560 ผลการเอกซเรย์สมอง พบว่า สมองบวม ก้านสมองตาย และเสียชีวิตลงในวันที่ 12 ส.ค. 2560

รวมเวลารักษาตัว 20 วัน แพทย์ลงความเห็นว่า ติดเชื้อในกระแสโลหิตและปอดอักเสบ

แน่นอน ญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตไม่พอใจ จึงยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ในวันที่ 17 ม.ค. 2561 โดยมีจำเลย 3 ราย ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม จำเลยที่ 1 บริษัท ปทุมรักษ์ จำกัด จำเลยที่ 2 และ พญ.จุฑามาศ จำเลยที่ 3

จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นผู้จัดหาสถานพยาบาลให้ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมใช้บริการ จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมาย ประกอบธุรกิจให้บริการสถานพยาบาลชื่อโรงพยาบาลแพทย์รังสิต และให้บริการผู้ใช้สิทธิประกันสังคมภายใต้การควบคุมคุณภาพของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลแพทย์รังสิต

ตอนหนึ่งของคำฟ้อง ระบุว่า “การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามฟ้องข้อ 2 เป็นการรักษาโรคด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นแพทย์ผู้รักษาโรคจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้น แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย

“กล่าวคือ จำเลยที่ 3 สั่งยาฉีดไดโครฟีเนคให้แก่ผู้ตายที่มีโรคหอบหืดประจำตัว ทั้งๆ ที่เป็นยาที่ไม่ควรใช้ในคนไข้โรคหอบหืด และหลังฉีดยาไม่ได้สั่งให้มีการเฝ้าดูอาการผิดปกติรุนแรงถึงตายที่อาจเกิดขึ้นได้หลังฉีดยา เช่น อาการแพ้ยา หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก ความดันโลหิตตก

“ปกติหลังฉีดยา ต้องเฝ้าดูผู้ป่วยใกล้ชิดเป็นเวลา 15 นาที และให้ผู้ป่วยนั่งคอยอีก 15 นาที จึงให้กลับออกจากโรงพยาบาล จึงเป็นเหตุให้ผู้ตายเกิดแพ้ยารุนแรง หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก เสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งที่หากจำเลยที่ 3 ไม่สั่งยาที่ไม่ควรใช้ และได้มีการสังเกตอาการ ผู้ตายย่อมสามารถรับการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

“มิใช่ปล่อยไปมีอาการเมื่อถึงบ้านและกลับมาโรงพยาบาลไม่ทัน จำเลยที่ 3 จึงกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้ง 3 และต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ...”

ในมุมของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 และ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วม

ย้อนกลับไปยังศักยภาพและความสามารถของผู้ตาย โดยผู้ตายเป็นลูกจ้างบริษัทฝาจีบ จำกัด มีรายได้เดือนละ 1.5 หมื่นบาท ผู้ตายอายุ 27 ปี มีโอกาสทำงานอีก 33 ปี คิดเป็นเงิน 5,940,000 บาท

นอกจากนี้ ผู้ตายเคยให้เงินแก่โจทก์ที่ 1 ตามหน้าที่บุตร เดือนละ 8พันบาท นั่นทำให้โจทก์ที่ 1 ต้องขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 33 ปี คิดเป็นเงิน 3,168,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นสามี และโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรของผู้ตายต้อง ขาดไร้อุปการะ เฉลี่ยคนละวันละ 300 บาท เป็นเงินเดือนละ 9,000 บาท จนถึงโจทก์ที่ 2 มีอายุ 60 ปี เป็นเวลา 34 ปี คิดเป็นเงิน 3,672,000 บาท และจนโจทก์ที่ 3 บรรลุนิติภาวะเป็นเวลา 20 ปี คิดเป็นเงิน 2,160,000 บาท ค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นในการจัดพิธีศพผู้ตาย 200,000 บาท

รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,140,000 บาท

แน่นอนว่า การต่อสู้ของคนไข้เป็นเรื่องที่สาหัสสากรรจ์ โดยคดีนี้สู้กัน 3 ศาล กินเวลาราว 5 ปี ถึงได้ข้อสรุป

เมื่อศาลชั้นต้น เเละศาลอุทธรณ์เเผนกคดีผู้บริโภคพิพากษา “ยกฟ้อง” โจทก์จึงต้องยื่นฎีกาต่อไป และศาลฎีกาเเผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565 คือ “วันพิพากษา”

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้ว เห็นสรุปว่า ทางนำสืบของจำเลยที่ 2-3 ไม่ปรากฏว่านอกจากยากลุ่มเอ็นเสดแล้ว ไม่มียาอื่นที่จะนำมาใช้รักษาอาการปวดของผู้ตายได้ อีกทั้งจำเลยที่ 3 ก็ยอมรับว่าอาการปวดของผู้ตายไม่มากถึงขนาดจำเป็นต้องฉีดยา

จำเลยที่ 3 จึงสมควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ตายโดยหลีกเลี่ยงการให้ยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้า กล้ามเนื้อ หากจำเป็นต้องให้ยาดังกล่าวโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ควรต้องให้ด้วยความระมัดระวัง เป็นพิเศษ แต่ได้ความจากจำเลยที่ 3 ว่า ผู้ตายไม่ได้มีอาการปวดรุนแรงจึงไม่ได้ติดตามอาการหลังฉีดยา

แสดงว่าจำเลยที่ 3 สั่งยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อให้แก่ผู้ตาย โดยไม่ได้สั่งให้มีการเฝ้าระวังอาการอันไม่พึงประสงค์หลังฉีดยา

ที่พยานจำเลยซึ่งเป็นพยาบาลผู้ฉีดยาให้แก่ผู้ตาย เบิกความว่า หลังจากฉีดยาเสร็จพยานให้ผู้ตายนอนพักที่เตียงเพื่อสังเกตอาการประมาณ 10 นาที จากนั้นได้สอบถามอาการจากผู้ตายทราบว่าอาการดีขึ้นและผู้ตายได้เดินออกไปรับยาที่ห้องจ่ายยานั้น ปรากกจากสำเนาบทความตอบปัญหาเรื่องยาโดยเภสัชกรหน่วยคลังข้อมูลยาว่า การฉีดยาไดโคลฟีแนคเข้ากล้ามเนื้อยาจะออกฤทธิ์ภายใน 10-22 นาที สอดคล้อง กับที่จำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า ยาที่ฉีดให้ผู้ตายจะออกฤทธิ์ ประมาณ 10-30นาที

ดังนี้ แม้จะฟังว่าพยาบาลผู้ฉีดยาได้เฝ้าระวังอาการหลังฉีดยาของผู้ตายจริงก็เป็นการใช้เวลาในการเฝ้าระวังไม่เพียงพอต่อการประเมินอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดจากยาฉีดยา พยานหลักฐานจำเลยที่ 2-3 ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 3 ให้การรักษาผู้ตายซึ่งมีอาการหอบหืดด้วยยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และไม่ได้สั่งให้เฝ้าระวังอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นหลังฉีดยาเป็นการให้การรักษาที่ เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมภายใต้ความสามารถและข้อจำกัดตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ในสถานการณ์นั้น

ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า หลังผู้ตายเสียชีวิต จำเลยที่ 3ได้ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังแพทยสภาแล้ว แต่ไม่เคยถูกเรียกไปสอบสวนและไม่เคยถูกลงโทษนั้น เห็นว่าเเม้คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า จำเลยที่ 3 มิได้ประพฤติผิดข้อบังคับแพทยสภาฯ ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวช กรรม ชุดที่ 7 ซึ่งเห็นสอดคล้องกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยที่มีความเห็นว่า จำเลยที่ 7 ให้การรักษาผู้ตายด้วยยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นยาเดิมที่ผู้ตายเคยได้รับ และเฝ้าสังเกตอาการเบื้องต้นไม่มีภาวะแทรกซ้อนจึงให้กลับบ้าน เป็นการให้การรักษา ถูกต้องเหมาะสมตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ในขณะนั้นแล้ว แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้มติของคณะกรรมการแพทยสภามีผลผูกพันศาลในการวินิจฉัยคดี มติของคณะกรรมการแพทยสภาเป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง

หากมติดังกล่าวได้มีการพิจารณากันอย่างรอบด้านจากข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและมีมติตามความเห็นที่สมเหตุสมผลย่อมเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักให้ศาลรับฟังประกอบการวินิจฉัย แต่มติของคณะกรรมการแพทยสภาที่ส่งมายังศาลชั้นต้นในคดีนี้ ไม่มีรายละเอียดพอที่จะพิจารณาว่าเป็นไปดังที่ได้กล่าวมาหรือไม่ เพียงใด จึงไม่มีน้ำหนักให้นำมารับฟัง

เมื่อจำเลยที่ 2-3 ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าการให้การรักษาผู้ตายของจำเลยที่ 3 เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการละเมิดต่อผู้ตาย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย

ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า สั่งให้ฉีดยาไดโคลฟีแนคแก่ผู้ตายเพราะผู้ตายยืนยันให้ฉีดยานั้น เห็นว่าผู้ป่วยทั่วไปรวมทั้งผู้ตายซึ่งไม่มีความรู้ทางการแพทย์ ย่อมไม่อาจทราบถึงอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดจากการใช้ยา การจะให้การรักษาด้วยยาชนิดใดและวิธีการอย่างไรย่อมเป็นดุลพินิจของแพทย์ผู้ตรวจรักษาที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาเป็นสำคัญ หากจำต้องทำตามความต้องการของผู้ป่วยเสมอไปไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกเหตุที่สั่งฉีดยาตามคำยืนยันของผู้ตายมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้

ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาลแพทย์รังสิต การที่จำเลยที่ 3 มานั่งตรวจรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต แม้จะมาเป็นครั้งคราวและได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 2 เป็นรายชั่วโมง แต่เป็นการตรวจรักษาผู้ป่วยในนามของโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตรวจรักษาผู้ตาย

จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของตนได้กระทำไปในการตรวจรักษาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสาม สำหรับจำเลยที่ 2,3 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 และ 3 ร่วมกันชำระค่าปลงศพ 5 หมื่นบาทแก่โจทก์ทั้งสาม ค่าขาดไร้อุปการะ 5 เเสนบาท แก่โจทก์ที่ 1 ค่าขาดไร้อุปการะ 3 เเสนบาท แก่โจทก์ที่ 2 และค่าขาดไร้อุปการะ 7 เเสนบาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 ม.ค.61) ถึงวันที่ 10 เม.ย.64 และอัตรา ร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เม.ย.64 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

นายภิญโญภัทร์ ชิดตะวัน ทนายความ กล่าวว่า ต้องขอบคุณศาลฎีกาที่เมตตา โดยศาลฎีกาได้วางหลักสำคัญไว้หลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องการฉีดยารักษาย่อมเป็นดุลยพินิจของแพทย์ เป็นการจบข้อถกเถียงเพราะศาลฎีกาตัดสินแล้ว และได้เป็นแนวทางการวินิจฉัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในยุคที่ประชาชนต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นในสถานการณ์แพร่ระบาดโรคต่างๆ และแพทย์จะได้กรุณาระวังมากยิ่งขึ้นด้วย

1