ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้โรคมะเร็งกลายเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทยไปมากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (2555 – 2563) อาจมาจากความร้ายกาจโดยธรรมชาติของเซลล์มะเร็งเอง ซึ่งมีความสามารถเหมือน ‘สายลับ’ ในการหลบหลีกผู้รักษาความปลอดภัย หรือ ‘ภูมิคุ้มกัน’ รวมถึงหลอกผู้เป็นหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยอย่าง ‘เซลล์เม็ดเลือดขาว’ ไม่ให้ตรวจจับได้ว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ซึ่งต้องถูกกำจัดออกไป

ข้อมูลล่าสุดจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งจำนวน 84,697 ราย และปีเดียวกันนั้นสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยอีกว่า มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 2,890 ราย

อย่างไรก็ดีการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นทำให้ประมาณ 4-5 ปีก่อน โลกของเรามีวิธีการรักษามะเร็งที่เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันบำบัด” (Immunotherapy) ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถให้ภูมิคุ้มกันและเม็ดเลือดขาวในการดักจับรวมถึงลดความสามารถในการหลบหลีกของเซลล์มะเร็ง ทำให้สามารถจับทำลายได้เสมือนเชื้อโรคทั่วไปที่เข้ามาในร่างกาย นำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการหายขาดได้

นอกจากนี้วิธีดังกล่าวยังสามารถลดผลข้างเคียงอันเป็นตัวการความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย อีกทั้งผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา และฮอร์โมน อีกด้วย

นพ.ศรัณย์ กิจศรัณย์ ประธาน Service Plan สาขามะเร็ง เขตสุขภาพที่ 10 อธิบายว่า ยาที่ให้คนไข้ไปไม่ได้มีผลข้างเคียงโดยตรงกับคนไข้ ไม่เหมือนเคมีบำบัด เพราะเคมีบำบัดคือการไปฆ่าเซลล์ ดังนั้นเซลล์มะเร็งก็โดนทำลาย และเซลล์ร่างกายก็จะโดนด้วย โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเยอะๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือด พวกเยื้อบุทั้งหลายแหล่ มันเลยมีเรื่องของผมร่วง เจ็บปาก มีเรื่องของเกร็ดเลือดต่ำ

นพ.ศรันย์ บอกอีกว่า ถึงจะลดผลข้างเคียงได้โดยตรง แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงอยู่ แม้เปอร์เซ็นต์การเกิดขึ้นไม่ได้เยอะมาก โดยลักษณะอาการจะคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น ไทรอยด์อักเสบ ลำไส้อักเสบ ปอดอักเสบ ฯลฯ ซึ่งยาแต่ละตัวที่ใช้สำหรับภูมิคุ้มกันบำบัดมีความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นภายหลังการรักษาจึงจำเป็นที่จะต้องสังเกตอาการและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

สำหรับประเทศไทยแม้ในหลายโรงพยาบาลจะมีบริการการรักษานี้แล้วก็ตาม ทว่าไม่ค่อยแพร่หลายนักในกลุ่มประชาชนคนทั่วไป มีเพียงคนจำนวนน้อยที่เข้าถึงได้ เนื่องจาก ‘ค่าใช้จ่าย’ ด้านยาที่ใช้ในการรักษาต่อครั้งมีราคาแพง (แน่นอนว่าไม่ได้ใช้แค่ครั้งเดียว โดยเฉพาะโรคซับซ้อนอย่างโรคมะเร็ง)

1

ในปัจจุบันที่เรายังต้องพึ่งพายาและเทคโนโลยีของต่างประเทศอยู่นั้น ทำให้การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 3 – 15 ล้านบาทต่อผู้ป่วยหนึ่งคน นอกจากนี้ควรกล่าวด้วยว่าภูมิคุ้มกันบำบัดยังไม่สามารถรักษามะเร็งได้ครอบคลุมทุกชนิดอีกด้วย

อาจด้วยเหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้ยาที่ใช้ในกระบวนการรักษา เช่น Pembrolizumab ฯลฯ ยังไม่ได้ถูกนำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ฉะนั้นผู้ใช้สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง ไม่สามารถใช้ยาดังกล่าวในการรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่สำหรับสิทธิสวัสดิการข้าราชการสามารถสำรองจ่ายได้

“การจะเบิกได้จะขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ ถ้าตรงกับข้อบ่งชี้สามารถสำรองจ่ายได้ คือจ่ายค่ายาไปก่อนแล้วไปทำเรื่องเบิกกับต้นสังกัด เพราะในส่วนนี้ก็คือทางกรมบัญชีกลางไม่ได้ให้ใช้เบิกจ่ายตรง เพราะค่ายามีมูลค่าสูง” นพ.ศรัณย์ กล่าว

กระนั้นหากผู้ป่วยต้องการรักษามะเร็งด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด บางบริษัทยาก็จะมีโครงการที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น เช่นในกรณีของ ทองพูน ชาละมณีพร อายุ 64 ปี ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงและคอหอยระยะลุกลาม ชาวอุบลราชธานี โดยญาติต้องการให้รับยาภูมิคุ้มกันบำบัด แต่ตัวยาไม่สามารถเบิกได้ ทางโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานีจึงให้ผู้ป่วยรับบริการผ่านโครงการซื้อยาฉีดหนึ่งครั้งแถมอีกหนึ่งครั้งของบริษัทยา ส่วนบริการรักษาร่วมอื่นๆ ให้ผ่านโครงการมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ของสิทธิบัตรทอง

อย่างไรก็ดี ทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็พยายามที่จะศึกษาวิจัยเพื่อที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาเหล่านั้นถูกลงและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยขณะนี้ทางทีมนักวิจัยกำลังศึกษาวิธีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดจำนวน 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ 1. กลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดี้เพื่อการรักษา (anti-PD-1) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 3 การเพาะเลี้ยงเซลล์ 2. กลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดรักษามะเร็ง (CAR T Cell) อยู่ในขั้นตอนที่ 3 เช่นกัน และ 3. กลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง โดยอยู่ในขั้นตอนที่ 1 คือการวิจัยจากหนูทดลอง โดยคาดว่าอาจใช้ได้จริงราวปี 2566-2573

อ้างอิงข้อมูล :
newcoverformom (moph.go.th)
ทะเบียนมะเร็ง 2563 (nci.go.th)
ภูมิคุ้มกันบำบัดมีกี่แบบ – CU Cancer Immunotherapy Excellence Center (chula.ac.th)
การพัฒนายาแอนติบอดีต้นแบบต่อ PD-1 เพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งแบบภูมิคุ้มกันบำบัด (hsri.or.th)