ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 ได้รับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ “ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 (เดือน เม.ย.-มิ.ย.) ปี 2565” โดยแบ่งออกเป็น 1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสอง ปี 2565 2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ 3. บทความเรื่อง “วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร : มาตรการและแนวทางยกระดับให้ไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน” 

สำหรับ 1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสอง ปี 2565 พบว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ได้แก่

- การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 จาก 42,698 คน เป็น 64,304 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 50.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากโรคที่มากับฤดูฝน นอกจากนี้ ต้องมีการติดตามการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งไม่เหมาะสมและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้อย่างทั่วถึง อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรติดตามและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิดและกำชับประชาชชนให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลป้องกันตนเองจากโควิด-19

- การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 โดยต้องติดตามและเฝ้าระวังผู้ดื่มรายใหม่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความหลากหลายทั้งปริมาณแอลกอฮอล์ รสชาติ กลิ่น ความสวยงามของบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ดึงดูดกลุ่มเด็กและผู้หญิงมากขึ้น และมีการทำเนื้อหาเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ที่เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยปัญหาสุราร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่า มีการโพสต์เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนสื่อออนไลน์ จำนวน 2,684 โพสต์ ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบการโฆษณาในช่องทางต่าง ๆ และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

- การเกิดอุบัติเหตุการจราจรทางบก มีจำนวน 18,418 ราย ลดลงร้อยละ 27.4 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2564 โดยมีผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 16.3 ผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 35.8 ซึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจราจรจากบุคคลที่สูงที่สุด คือ การขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด รองลงมา คือ การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

1

นอกจากนี้ พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123 บัญญัติให้ผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยหรือที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก (มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565) ดังนั้น จึงควรมีมาตรการสนับสนุนการเข้าถึงที่นั่งนิรภัย เช่น โครงการคนละครึ่ง มาตรการลดต้นทุนผู้ขายหรือลดภาษีนำเข้า รวมถึงโครงการยืมคืนที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหมุนเวียนเพื่อใช้ในชุมชน

ในส่วนของ 2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ

- รู้จักรู้ทันผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การดูแลสุขภาพเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและผู้คนให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และรูปร่างหน้าตามากขึ้นจึงเริ่มบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจข้อมูล พบว่า ประชาชนร้อยละ 70 มีความเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรับประทานเป็นประจำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าคนไทยจะมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้นแต่บางส่วนยังมีทัศนคติและความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่รอบด้าน

ดังนั้น ประชาชนควรมีความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น (1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นเพียงการรับรองว่าวัตถุดิบและกระบวนการผลิตจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางประเภทมีโทษเนื่องจากสารประกอบบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อผู้บริโภค และ (3) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมากยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงผลกระทบต่อร่างกาย ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีแนวทางการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกซื้อและมีระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลได้สะดวกมากขึ้น

- การทำงานของผู้สูงอายุตอนต้น กลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญและประเด็นที่ต้องคำนึงถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรส่งผลให้ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีนโยบายและมาตรการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คือ การส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงวัยจำนวนมากยังมีศักยภาพในการช่วยขับเคลื่อนประเทศและยังเป็นการชดเชยการขาดแคลนแรงงานได้ในบางส่วน

โดยแนวทางการส่งเสริมการทำงานของกลุ่มผู้สูงอายุ ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุตอนต้นทักษะสูงเป็นหลัก เนื่องจากยังมีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานต่ำและยังมีจำนวนกำลังแรงงาน โดยจะต้องศึกษาความต้องการทำงานของคนกลุ่มนี้และมีมาตรการจูงใจที่จะส่งเสริมและดึงดูดให้แรงงานกลุ่มนี้กลับเข้ามาทำงาน ส่วนผู้สูงอายุต้อนต้นทักษะต่ำซึ่งมักมีปัญหาเกี่ยวกับรายได้ จำเป็นต้องมีมาตรการด้านรายได้เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานที่มีรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น

สุดท้าย 3. บทความเรื่อง “วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร : มาตรการและแนวทางยกระดับให้ไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน”

- ประชากรจำนวน 193 ล้านคนใน 53 ประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารซึ่งมีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกิดภัยพิบัติ การขาดแคลนน้ำ และการระบาดของโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ โดยข้อมูลของ Global Food Security Index (GFSI) ระบุว่า ในปี 2564 ไทยมีความมั่นคงด้านอาหารอยู่ในอันดับที่ 51 จาก 113 ประเทศทั่วโลกซึ่งอยู่ในระดับที่สูง สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างดี แต่หากพิจารณาความมั่นคงทางอาหารตามนิยามขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ยังมีประเด็นที่ไทยต้องให้ความสำคัญ 

2

ได้แก่ (1) การมีอาหารเพียงพอ โดยไทยมีความมั่นคงทางอาหารในเชิงปริมาณที่เพียงพอแต่ยังมีประเด็นด้านความยั่งยืนของปริมาณอาหารระยะยาว เนื่องจากไทยนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอาหารเป็นมูลค่าสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งหากมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารได้ (2) การเข้าถึงอาหารในปี 2563 ไทยมีผู้ขาดสารอาหารร้อยละ 8.8 ของประชากรทั้งหมดหรือคิดเป็นจำนวน 6.2 ล้านคน เนื่องจากครัวเรือนมีรายได้น้อยและมีปัญหาการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าและความปลอดภัย

(3) การใช้ประโยชน์จากอาหาร คนไทยยังมีความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่สอดรับกับการมีโภชนาการที่ดี ทำให้ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอรวมทั้งการสร้างขยะอาหารยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และ (4) การมีเสถียรภาพด้านอาหารหรือการเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ โดยไทยไม่มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนอาหารอย่างกะทันหัน เนื่องจากมีการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอาหารและน้ำในช่วงวิกฤตต่าง ๆ โดยให้ชุมชนมีบทบาทในการผลิตอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือนและชุมชน

อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือเปราะบางมีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับมือกับความไม่มั่นคงทางอาหารที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอาหาร การสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารให้เป็นมาตรฐานเดียว การปรับปรุงและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านสินค้าเกษตรและอาหาร การสร้างระบบการบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารในภาวะวิกฤตและการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารระดับครัวเรือนและชุมชน