ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาพบรรยากาศคณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต12 สงขลา ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่ผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงที่บ้านแบบครบวงจร ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนบ้านให้เป็นเตียงโรงพยาบาล” ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง 

สังคมไทยก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุ และจะมีผู้เข้ารับบริการสุขภาพมากขึ้นในอนาคต ซึ่งการดูแลในโรงพยาบาลอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างครอบคลุม ต้องอาศัยระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง รวมทั้งการมีส่วนร่วมจัดบริการของชุมชน เพื่อให้เกิดการดูแลแบบครบวงจรตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาในโรงพยาบาล และการดูแลระยะยาวในชุมชน 

นั่นทำให้ รพ.สต. เขาไม้แก้ว เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงระบบบริการปฐมภูมิที่มีชุมชนได้มีส่วนร่วมดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นระบบบริการสุขภาพในอนาคตที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการเชื่อมโยงระบบการดูแลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนใน 4 ด้าน คือ การเข้าถึงบริการการแพทย์ การเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ การเข้าถึงสวัสดิการ และการเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ผ่านการบูรณาการจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งเครือข่ายประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาไม้แก้ว 

สำหรับแนวคิด “เปลี่ยนบ้านเป็นเตียงโรงพยาบาล” ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการที่ผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่จะมีเจ้าหน้าที่ทีมบริการอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย สหวิชาชีพ ทีมหมอครอบครัว ทีม care giver ทีม อสม. และทีมจากอบต.เขาไม้แก้ว พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยมีระบบกองทุนอุปกรณ์การแพทย์หมุนเวียน เช่น เตียงผู้ป่วย ถังออกซิเจน รถเข็น รวมถึงการสนับสนุนจากโรงพยาบาลแม่ข่าย คือ โรงพยาบาลอำเภอสิเกาอีกส่วนหนึ่งที่สนับสนุนด้านยา อุปกรณ์การแพทย์ ฯลฯ 

ทั้งนี้ สปสช. เองต้องการสนับสนุนให้มีการกระจายการบริการให้มากขึ้น โดยในอนาคตอยากจะให้มีการบริการการแพทย์ทางไกล หรือ Telehealth ที่ผู้ป่วยได้คุยโดยตรงกับแพทย์เจ้าของไข้ และมารับยาที่ รพ.สต. ซึ่งจะช่วยเพิ่มการบริการให้กับประชาชน โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นเดียวกับ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังประมาณ 10 ราย รวมกันพูดคุยกับแพทย์ผ่านระบบ Telehealth โดยให้ อสม. ไปรับยาและส่งให้ผู้ป่วยถึงบ้าน ซึ่งในระหว่างนั้นผู้ป่วยก็สามารถรับคำแนะนำการรับประทานยาจากเภสัชกรผ่านทางโทรศัพท์ที่ อสม. ประสานให้ ถือเป็นการยกระดับบริการให้แก่ประชาชนอีกด้วย