ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ยก จ.สกลนคร เป็นตัวอย่างการดำเนินงานคัดกรองและจัดบริการมอบแว่นตาฟรีสำหรับเด็กที่มีสายตาผิดปกติ ชี้สามารถคัดกรองเด็ก ป.1 ได้ 70-80% ของทั้งจังหวัด ด้าน รอง สสจ. เผยปัจจัยความสำเร็จเกิดจากการทำงานแบบบูรณาการทั้งภาครัฐ ท้องถิ่นและภาคเอกชน 


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการคัดกรองและการจัดบริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีสายตาผิดปกติในกลุ่มเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศ โดย สปสช. สนับสนุนค่าแว่นตาให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 เป็นต้นมา พบว่าในภาพรวมขณะนี้ยังมีการตรวจคัดกรองสายตาเด็กได้ไม่มาก อาจจะต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจและดูตัวอย่างพื้นที่ที่ดำเนินการได้อย่างโดดเด่นว่าทำอย่างไร

1

2

ทพ.อรรถพร ยกตัวอย่าง จ.สกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถดำเนินการคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กได้อย่างโดดเด่น มีการทำงานอย่างบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งจักษุแพทย์ที่มีความเข้มแข็ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และครูในโรงเรียนต่างๆ ที่ร่วมมือกันจนสามารถคัดกรองสายตาเด็ก ป.1 ได้ 70-80% ของทั้งจังหวัด

“สิทธิประโยชน์เรื่องการคัดกรองสายตา ถ้ามองเผินๆดูเหมือนง่าย ครูตรวจคัดกรองสายตาผิดปกติ ส่งต่อที่โรงพยาบาล ถ้าพบว่าสายตาผิดปกติก็ใส่แว่น แต่ในทางปฏิบัติมีความซับซ้อนมากกว่านั้น จะทำอย่างไรให้ครูทุกโรงเรียนสังเกตความผิดปกติก็ปัญหาหนึ่ง และเมื่อจำเป็นต้องส่งต่อมาที่โรงพยาบาลจากขนส่งกันมาอย่างไรก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ดังนั้นความสำเร็จของที่ จ.สกลนคร ต้องบอกว่าเป็นเรื่องการทำงานแบบบูรณาร่วมกันทุกภาคส่วน และอยากเชิญชวนว่าพื้นที่ไหนเทศบาลไหนถ้าอยากจัดทำโครงการนี้ ตอนนี้ สปสช.บรรจุเข้าไว้ในสิทธิประโยชน์แล้ว ท่านสามารถดำเนินการแล้วเบิกมาที่ สปสช. ได้เลย” ทพ.อรรถพร กล่าว

2

ด้าน พญ.ธีรารัตน์ พลราชม รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานจัดระบบคัดกรองและบริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีสายตาผิดปกติของ จ.สกลนคร ว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงโควิด-19 ทางจังหวัดสกลนครได้เตรียมความพร้อมจัดอบรมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ของแต่ละอำเภอในการวัดสายตาเด็ก มีการประสานครูอนามัยโรงเรียนทุกพื้นที่ในการค้นหาเด็กที่มีความผิดปกติ มีการจัดพยาบาลเวชปฏิบัติทางตาทำหน้าที่เป็นโหนด (node) รวมทั้งหมด 5 node ใน 5 โรงพยาบาล เมื่อโรงเรียนและ รพ.สต. ส่งเด็กมาที่โรงพยาบาลแล้ว พยาบาลเวชปฏิบัติทางตาจะประเมินและส่งต่อให้จักษุแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย อีกทั้งเมื่อได้รับแว่นแล้ว ยังมีการติดตามผลผ่านระบบการแพทย์ทางไกลหรือ telemedicine อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมจากโรงพยาบาลเอกชนใน จ.สกลนคร ที่เข้าไปช่วย รพ.สต. คัดกรองในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนมากกว่า 500 คน เช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ช่วยจัดรถรับส่งในกรณีที่เด็กมีต้องเดินทางไปพบจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาล รวมทั้ง สปสช.เขต 8 ก็ช่วยเรื่องการจัดการประสานงานการทำงานต่างๆ 

3

4

“กิจกรรมนี้ได้รับผลตอบรับดีทั้งผู้ปกครองและเด็ก ถ้าผู้ปกครองไปตัดแว่นให้เด็กเอง บางรายก็ไม่มีทุนทรัพย์หรือไม่มีเวลาเดินทางเข้ามาในตัวอำเภอ การทำงานเชิงรุกเข้าไปค้นหาเด็กจึงเป็นประโยชน์ในการเรียนหนังสือและป้องกันไม่ให้มีปัญหาสายตาเพิ่มมากขึ้นในอนาคต” พญ.ธีรารัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด สปสช. ร่วมกับเทศบาลนครสกลนคร จัดพิธีมอบแว่นตาให้แก่เด็กที่มีสายตาผิดปกติตามโครงการเด็กสกลสายตาดีชีวีมีสุข เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีเด็กในพื้นที่เทศบาลนครสกลนครได้รับการตรวจคัดกรอง 4,258 คน มีสายตาผิดปกติที่ต้องได้รับแว่น 757 คน 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

5