ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การพลัดตกหกล้ม ถือเป็นภัยสุขภาพของ “ผู้สูงอายุ” ที่อาจนำไปสู่ความพิการ คุณภาพชีวิตลดลง หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่า การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุไม่ใช่แค่เรื่องอุบัติเหตุ หากแต่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและกล้ามเนื้อกระดูก ข้อต่อ และระบบประสาทที่เสื่อมถอยลงในผู้สูงอายุ

หนึ่งในนั้นคือ “โรคกระดูกพรุน” เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ซึ่งจากการทบทวนบทความวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยคณะนักวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า การให้วิตามินดีและแคลเซียมเสริมให้กับผู้สูงอายุ ช่วยลดอุบัติการณ์การพลัดตกหกล้มได้

สำหรับปัจจัยจากโรคกระดูกพรุนที่ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากพลัดตกหกล้ม สามารถแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างและสลายกระดูกขาดสมดุล มวลกระดูกลด กระดูกบาง เปราะหักง่าย, พบมากในผู้สูงอายุอายุ 65 ปีขึ้นไป /หญิงหมดประจำเดือน, ได้รับวิตามินดีและบริโภคแคมเซียมไม่เพียงพอ, ขาดการออกกำลังกาย ซึ่ง 1 ใน 3 ของผู้หญิงสูงอายุอยู่ในภาวะ ‘ขาดวิตามินดี’

2. การขาดวิตามินดีนำไปสู่การขาด ‘แคลเซียม’ เนื่องจากวิตามินดีช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม, เมื่อผู้สูงอายุแคลเซียมลดลง ร่างกายจะสลายมวลกระดูกเพื่อรักษาสมดุล, เมื่อร่างกายขาดแคลเซียมนานส่งผลให้กระดูกเปราะ, นำไปสู่โรคกระดูกพรุน โดยงานวิจัยชี้ว่า การให้วิตามินดีและแคลเซียมอาจลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กระดูกหักและหกล้มได้

มีการศึกษาว่าการให้วิตามินดี-แคลเซียมเสริม ลดโอกาสเกิดกระดูกสะโพกและกระดูกบริเวณอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระดูกสันหลังหักในผู้สูงอายุได้ โดยลดอุบัติการณ์ “สะโพกหัก” ได้ 16 % และลดอุบัติการณ์ “กระดูกหัก” (ที่ไม่ใช่กระดูกสันหลัง) ได้ 4 %

มากไปกว่านั้น ยังพบว่าการมีวินัยในการรับประทานวิตามินและแคลเซียม ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นโรคไตหรือหัวใจ ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ก่อนรับประทาน

คำแนะนำเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคกระดูกพรุนของไทย

แคลเซียม :
อายุ < 50 ปี 800 mg ต่อวัน
อายุ > 50 ปี/หญิงวัยหมดประจำเดือน 1,000 mg ต่อวัน
(ไม่แนะนำให้กินมากกว่า 1,500 mg ต่อวัน)

วิตามินดี 800-2,000 ยูนิตต่อวัน