ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 และเมื่อบุคลากรฯ เจ็บป่วยจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ อาจนำไปสู่การแพร่เชื้อสู่ผู้ร่วมงาน ผู้ป่วยอื่นๆ รวมถึงสมาชิกในครอบครัว

“โครงการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรการกักตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงถือกำเนิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรสง) และ องค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การดำเนินการวิจัยดังกล่าว เป็นผลการศึกษาของคณะนักวิจัยเครือข่ายโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่า มาตรการกักตัวสำหรับบุคลากรฯ ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เหมาะสมกับแนวทางการบริหารทรัพยากรสุขภาพในประเทศไทย ควรพิจารณาประเด็นใดบ้างและอย่างไร

นั่นเพราะเมื่อบุคลากรฯ ถูกกักตัว แม้จะยังไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อ แต่ในระดับบุคคลย่อมก่อให้เกิดความเครียด-วิตกกังวล กระทบต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิต ในระดับชาติ ย่อมหมายถึงการสูญเสียกำลังคนด้านสาธารณสุขในระยะเวลาหนึ่ง

การศึกษาครั้งนี้ ดังเป็นการศึกษาไปข้างหน้า  (prospective cohort study) เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ในบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีการเฝ้าระวังหรือกักตัว 14 วัน โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจยืนยันผลและประเภทของการตรวจ ตลอดจนการติดตามอาการแสดงและการวัดคุณภาพชีวิต

จากการศึกษาพบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 3 ราย จาก 153 ราย (ร้อยละ 2.08) มีผลการตรวจ RT-PCR เป็นบวก ระยะฟักตัวของโรคในกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 6.33 วัน โดย 2 ใน 3 คน มีอาการแสดง แต่ไม่อยู่ในข่ายเป็นผู้ป่วยหนักและหายเป็นปกติดีในระยะเวลาไม่เกินสองสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าบุคลากรที่ติดเชื้อระหว่างการกักตัวทั้ง 3 ราย มีระดับภูมิต้านทานก่อนวันแสดงผลการติดเชื้อไม่กี่วันหรือไม่กี่ชั่วโมงที่ระดับ 380-1,150 AU/mL ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อและควรได้รับวัคซีนเพิ่มเติม

ดังนั้นการเร่งรัดให้วัคซีนในกลุ่มบุคลากรก็เป็นอีกมาตรการสำคัญ อย่างไรก็ตามจากการศึกษานี้พบว่ามีบุคลากรส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมรับวัคซีนเลย เพราะอาจคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงน้อยหรือกังวลเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีน

ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลที่ปฏิบัติงานในแผนกฉุกเฉิน นับเป็นกลุ่มเสี่ยงการสัมผัสชนิดเสี่ยงสูงมากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากบุคลากรที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยตรง อาจเป็นเพราะกลุ่มหลัง ตระหนักถึงความเสี่ยงทำให้เกิดการป้องกัน ระมัดระวังตนเองอย่างรัดกุมและมีอุปกรณ์ป้องกันตนเอง PPE ที่ครบถ้วน ในขณะที่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในแผนกอื่นมีความตระหนักน้อยกว่าหรือขาดอุปกรณ์ป้องกันอย่างเพียงพอ

คณะผู้วิจัย ได้สรุปผลและต่อยอดเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันตนเองให้กับบุคลากรฯ อย่างเพียงพอและครบถ้วน 2. พัฒนาระบบการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรฯ เช่น จัดให้มีเวรการทำงาน แยกเป็นกลุ่มๆ และแต่ละกลุ่มไม่มีโอกาสสัมผัสกัน

3. สื่อสารให้บุคลากรฯ ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างบุคลากรด้วยกันเอง จะลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในกลุ่มนี้ได้มาก เพราะหากมีติดเชื้อของบุคลากรกลุ่มนี้จะมีผลกระทบจำกัดไม่ต้องกักตัวบุคลากรทั้งหมดในโรงพยาบาล

4. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องเข้ารับการกักตัวนั้น มักมีความเครียดในช่วง 1-5 วันแรกที่ต้องแยกกักตัว ในระหว่างที่ไม่ทราบสถานะการติดเชื้อ ซึ่งภายหลังจากการกักตัวและทราบสถานะว่าไม่ติดเชื้อ คุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์สูงขึ้นเป็นลำดับ ฉะนั้นภาครัฐควรมีแนวทางในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของบุคลากรที่สัมผัสแบบเสี่ยงสูงในภายหลัง