ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บรรยากาศคณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นพ.วรภัทร วงษ์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการภารกิจด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จ.นครปฐม ลงพื้นที่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (ชาย) จ.นนบุรี เพื่อเยี่ยมชมการคัดกรองสายตาเด็กในกลุ่มที่มีปัญหาด้านสายตา พร้อมมอบแว่นตาตามสิทธิประโยชน์สำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ

สำหรับสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดีฯ ภายใต้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลเด็กพิการทางสมองและปัญญา โดยมีอายุแรกรับตั้งแต่ 7-14 ปี ครอบครัวยากจน ถูกทอดทิ้ง พลัดหลง ขาดผู้อุปการะ หรือครอบครัวเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ไม่มีครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีเด็กในความอุปการะ จำนวน 540 คน และพบเด็กที่มีปัญหาทางด้านสายตา จำนวน 41 คน 

อย่างไรก็ดี บ้านราชาวดีฯ ได้มีการตรวจคัดกรองเบื้องต้นที่นำโดยทีมพยาบาลวิชาชีพภายในสถานสงเคราะห์คัดกรองเด็กที่มีปัญหาสายตา ขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับ สปสช. ผ่านช่องทางออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพราะบ้านราชาวดีฯ มีเด็กที่เรียนหนังสือที่มีปัญหาทางด้านสายตาและบ้านราชาวดีฯ ไม่ได้มีงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในส่วนนี้ 

เมื่อเป็นเช่นนั้น สปสช. จึงอำนวยความสะดวกในการแนะนำประสานหน่วยบริการให้ ได้แก่ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ฯ ทำให้เกิดการคัดกรองสายตาเด็กที่มีปัญหาในบ้านราชาวดีฯ ทั้งหมดอีกครั้ง รวมไปถึงมีการมอบยาหยอดตาสำหรับเด็กที่มีปัญหาตาแดงด้วยเช่นกัน 

สำหรับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ฯ เป็นโรงพยาบาลด้านจักษุแห่งเดียวของกรมการแพทย์ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมอนามัย กรมการแพทย์ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย สปสช. สมาคมนักทัศนมาตรศาสตร์ไทย และภาคีเครือข่ายมาตั้งแต่ต้น ผลักดันสิทธิประโยชน์ทางด้านสายตาในเด็กอายุ 3-12 ปีทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาด้านสายตาได้รับแว่นตาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับการคัดกรองสายตาเด็กนั้นเกิดจากการประกาศสิทธิประโยชน์เรื่องแว่นตาในเด็กอายุ 3-12 ปี ที่มีปัญหาทางด้านสายตา ซึ่งเด็กที่บ้านราชาวดีฯ นับเป็นกลุ่มเปราะบาง และมีความพิการร่วมด้วย และการลงคัดกรองที่บ้านราชาวดีฯ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งก็จะมีการขยายไปยังสถานสงเคราะห์ไปยังอีก 3-4 แห่งในบริเวณพื้นที่ด้วยเช่นกัน รวมไปถึงสถานสงเคราะห์ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็กอีกหลายส่วน โดย สปสช. จะขยายผลทั้งเรื่องการดูแล คัดกรองให้เด็กที่มีปัญหาทางด้านสายตาในเบื้องต้นเข้าสู่ระบบการดูแลจากผู้ให้บริการ 

ทั้งนี้ สปสช. ยังกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ซึ่งจะมีคณะกรรมการภายใต้การดูแลขององค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น (อปท.) ส่วนนี้จะเป็นอีกส่วนหนึ่งของการผนึกกำลังที่จะเข้ามาช่วยให้โครงการทำได้จริง