ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สภาเภสัชกรรม” จับมือ สปสช.-ร้านขายยา ให้บริการประชาชนคัดกรองโรค-แจกยาคุมกำเนิด-ถุงยางอนามัย-ดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย พร้อมเพิ่มบริการในปี 2566 ให้ครอบคลุมประชาชน-พื้นที่มากขึ้น


รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเภสัชกรรมปฐมภูมิ สภาเภสัชกรรม เปิดเผยกับ “The Coverage” เปิดเผยว่า ในปี 2565 สภาเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และร้านขายยา ในการให้บริการประชาชนหลายรายการ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย ใกล้บ้าน และไม่มีความเสี่ยงจากโรคโควิด-19

สำหรับตัวอย่างโครงการที่ได้ร่วมมือกันนั้น อาทิ การแจกชุดตรวจโควิด-19 Antigen Test Kit (ATK) ให้แก่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่มีความเสี่ยง โดยหลังจากประเมินความเสี่ยงผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังแล้ว สามารถแสดงผลตรวจ และสแกน QR Code เพื่อรับ ATK ได้ที่ร้านขายยากว่า 2,000 แห่ง ทั่วประเทศ

นอกจาก แจก ATK แล้ว เภสัชกรที่ประจำอยู่ในร้านขายยาจะแนะนำวิธีการใช้งาน และเมื่อผลตรวจออกมาว่าเป็นบวก ก็สามารถเข้าสู่ระบบดูแลตัวเองที่บ้าน หรือ Self-Isolation ร่วมกับร้านขายยาได้ทันที โดยบริการดูแลตัวเองที่บ้านนี้ครอบคลุมทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ

รศ.ภญ.สุณี กล่าวต่อไปว่า ในปี 2565 ยังมีบริการการแจกยาคุมกำเนิดและถุงยางอนามัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพื่อป้องกันโรคติดต่อหรือติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งประชาชนทุกสิทธิสามารถเข้ารับบริการได้ผ่านแอปฯ เป๋าตัง อย่างไรก็ดีขณะนี้ยาคุมกำเนิดอาจจะยังมีข้อจำกัดเรื่องชนิดของยา ซึ่งทางสภาเภสัชกรรมก็ได้มีการต่อรองราคายาคุมกำเนิดให้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปี 2566 จะมีชนิดยาคุมที่ตอบโจทย์กับผู้รับบริการได้หลายชนิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ยาคุมกำเนิดจะมีข้อห้ามใช้อยู่พอสมควร ทำให้ต้องมีการปรึกษาเภสัชกร และต้องมีการซักประวัติเบื้องต้นก่อน ซึ่งจำเป็นจะต้องดูข้อห้ามใช้ก่อนว่าบุคคลที่จะเข้ามารับบริการมีข้อห้ามใช้ยาหรือไม่ และการเลือกชนิดของยาคุมกำเนิดก็จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ เนื่องจากผู้หญิงแต่ละคนมีฮอร์โมนแตกต่างกัน

รศ.ภญ.สุณี กล่าวว่า ร้านขายยาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในบางพื้นที่ก็มีการให้บริการคัดกรองความเสี่ยงสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และมากกว่า 35 ปี โดยจะเป็นการคัดกรองให้คำแนะนำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาก เช่น การคัดกรองโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าเมนูผ่านแอปฯ เป๋าตังเพื่อเข้ารับบริการได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในการคัดกรองความเสี่ยงนั้น สำหรับประชาชนอายุ 15-35 ปี สามารถเข้าคัดกรองเรื่องโรคความดัน โรคเบาหวาน ดัชนีมวลกาย ความเครียด โรคซึมเศร้า บุหรี่ แอลกอฮอล์ ฯลฯ ได้ ซึ่งเภสัชกรประเมินแล้วพบว่ามีความเสี่ยงก็จะส่งต่อเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลด้านสุขภาพต่อไป ขณะเดียวกันสำหรับประชาชนที่อายุมากกว่า 35 ปีนั้น จะมีการเพิ่มบริการการเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว เพื่อดูโรคเบาหวานเพิ่ม เนื่องจากผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปีนั้นจะมีภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากขึ้น และเมื่อพบว่าเป็นโรคเบาหวานก็จะมีการส่งต่อไปที่หน่วยบริการเพื่อทำการวินิจฉัยต่อเช่นกัน

รศ.ภญ.สุณี กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปี 2566 นั้น นอกจากการแจกยาคุมกำเนิดที่จะมีความหลากหลายมากขึ้น ยังมีการเพิ่มบริการการแจกยาคุมฉุกเฉินด้วย รวมไปถึงการคัดกรองโรคเบื้องต้นก็จะมีการขยายไปทั่วประเทศจากเดิมที่อยู่ในแค่บางพื้นที่ของ กทม. เท่านั้น ซึ่งการคัดกรองสภาเภสัชกรรมจะมีการกำหนดมาตรฐานของร้านขายยา เช่น ร้านยาทุกร้านต้องเป็นหน่วยร่วมบริการกับ สปสช. และจะต้องเปิดบริการอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีเภสัชกรประจำเพื่อให้ประชาชนที่จะเข้ามารับบริการเกิดความมั่นใจ

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มบริการการตรวจปัสสาวะด้วยแผ่นตรวจปัสสาวะเพื่อดูการตั้งครรภ์ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่อยากตั้งครรภ์ ซึ่งเมื่อตรวจแล้วพบว่าตั้งครรภ์เภสัชกรก็จะให้คำแนะนำเรื่องการฝากครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์นั้นมีคุณภาพ และ 2. กลุ่มที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ตรงนี้ก็จะมีกระบวนการส่งต่อเพื่อให้ผู้หญิงได้รับคำแนะนำจากหน่วยบริการต่อไป ซึ่งในการรับแผ่นตรวจนั้นจะได้รับไม่เกิน 4 ครั้งต่อคนต่อปี เป็นไปตามเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด

“ในปี 2566 สปสช. จะทำแอปฯ เป๋าตังที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ยาคุมกำเนิด ยาคุมฉุกเฉิน ถุงยางอนามัย และยังมีเรื่องการตรวจคัดกรองความเสี่ยง และยังมีการให้ยาเสริมธาตุเหล็ก และโฟลิกสำหรับหญิงที่มีโอกาสตั้งครรภ์ เพื่อให้ทารกที่กำลังคลอดออกมานั้นแข็งแรง เพราะทุกวันนี้เด็กเกิดน้อยลง เราก็อยากให้เด็กเกิดมาแล้วมีคุณภาพ” รศ.ภญ.สุณี กล่าว

รศ.ภญ.สุณี กล่าวว่า ยังมีบริการที่ให้ร้านขายยานั้นดูแลเรื่องของการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 รวมไปถึงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคผิวหนังเบื้องต้น ฯลฯ ขณะเดียวกันกิจกรรมดังกล่าวจะดูแลเฉพาะประชาชนสิทธิบัตรทองเท่านั้น

อย่างไรก็ดี กิจกรรมที่เป็นการแจกยา ให้คำแนะนำแบบสั้น หรือบริการการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจะผ่านแอปฯ เป๋าตังใช้ได้ทุกสิทธิการรักษา แต่ถ้าเป็นโรคอย่างง่ายเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถเข้ามารับบริการที่ร้านขายยาได้ แต่ในกรณีที่ประชาชนมีแอปฯ แต่ใช้ไม่เป็นก็สามารถเข้ามาขอคำแนะนำได้ที่ร้านขายยาได้เช่นกัน

ทั้งนี้ สภาเภสัชกรรมถือว่าเป็นศูนย์รวมการเชื่อมโยงของระหว่างร้านขายยา และ 3 กองทุนสุขภาพ และยังเป็นแหล่งฝึกให้กับร้านขายยาให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมไปถึงสนับสนุนเภสัชกรผ่านศูนย์พัฒนาการบริการทางวิชาชีพเภสัชกรรมที่กำลังจะจัดตั้งในเดือน ก.ย. นี้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่เภสัชกร และเป็นหน่วยประสานกับองค์กรต่างๆ เช่น โรงพยาบาล สปสช. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อให้ระบบการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น