ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

8 องค์กรด้านสุขภาพ-พระพุทธศาสนา ร่วมสานพลังดูแลสุขภาพพระภิกษุ-สามเณร กว่า 34,000 รูป ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั่วประเทศกว่า 407 แห่ง เชื่อมโยงความรู้-ทรัพยากร สู่การสร้างประโยชน์สุขภาพต่อชุมชน-สังคม


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จับมือ 7 องค์กรด้านสุขภาพและคณะสงฆ์ ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือสานพลัง “ขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565 โดยมี พระราชวัชราภรณ์ ประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นประธานพิธีลงนาม ณ หอประชุมรัชมังคลาจารย์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

ทั้งนี้ การลงนามดังกล่าว เป็นการสานพลังขับเคลื่อนสุขภาวะในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ของ 8 หน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกับพระสงฆ์ สามเณร บุคลากรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ชุมชน และสังคม ในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เชื่อมโยงความร่วมมือและบูรณาการองค์ความรู้ ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานการสร้างประโยชน์สุขภาพต่อโรงเรียนพระปริยัติธรรม ชุมชน และสังคม เกิดการประเมินผลการขับเคลื่อนธรรมนูญโรงเรียนพระปริยัติธรรม อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การสร้างองค์กรสุขภาวะอย่างยั่งยืนตามหลัก "บวร"

สำหรับองค์กรทั้ง 8 ที่ร่วมกันลงนาม ประกอบด้วย สช., สำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.), มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.), มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.), กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีคณะสงฆ์ที่รักษาการประธานเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาเขต 1-14 ผู้บริหารและนักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะทำงานขับเคลื่อนฯ โดยพระมหาประยูร โชติวโร พระมหาวิจิตร กลฺยาณ ร่วมเป็นสักขีพยาน

1

พระราชวัชราภรณ์ ประธานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เปิดเผยว่า ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั่วประเทศ มีพระสงฆ์และสามเณรที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่ประมาณ 34,000 รูป ส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวที่ขาดโอกาสด้านการศึกษาในภาคปกติ ซึ่งวัดให้การอุปถัมภ์ดูแลพระสงฆ์และสามเณรเหล่านี้ โดยบางรูปเริ่มมีสุขภาพไม่ดี เป็นโรคอ้วนจากการฉันอาหารที่มาจากญาติโยมนำมาถวาย หรือจากการประกอบอาหารของแม่ครัวของวัดเอง

"การทำบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการทำงาน ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เห็นความสำคัญของสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร ในโรงเรียนปริยัติธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดีของพระสงฆ์และสามเณรในโรงเรียนต่อไป" พระราชวัชราภรณ์ กล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะมุ่งสานพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์ โดยเฉพาะสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่มีภาวะโภชนาการเกิน ขาดความเอาใจใส่สุขอนามัยส่วนบุคคล และองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง

“ความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งสร้างความตระหนักถึงปัญหา และแนวโน้มที่ผลกระทบส่งผลต่อสุขภาวะ เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพในโรงเรียนพระปริยัติธรรมให้มีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว

นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการ พศ. กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เพื่อต้องการให้สุขภาพของพระสงฆ์และสามเณร ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม 407 แห่งทั่วประเทศ มีสุขภาพที่ดี ซึ่งสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นเหมือนต้นกล้าในการสืบทอดทางศาสนา และเมื่อลาสิกขาก็จะเป็นกำลังสำคัญในการนำหลักธรรมไปปฏิบัติ สร้างสังคมที่เป็นสุข โดยการดำเนินงานจะจัดทำธรรมนูญเชิงนโยบายเป็นกรอบสำคัญของการทำธรรมนูญสุขภาพของแต่ละโรงเรียน ในการดูแลสุขภาวะของภิกษุ สามเณรต่อไป

ทั้งนี้ทาง พศ. ยินดีสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายประสานขอความร่วมมือผู้เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและพัฒนา การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตลอดถึงการร่วมมือในการแก้ปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์ สามเณร ชุมชน และสังคม ให้มีสุขภาวะที่ดี ยั่งยืนต่อไป    

พระเทพเวที, รศ.ดร. รองอธิการบดี มจร. กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายทั้ง 8 หน่วยงานมีเจตนารมณ์ดี ที่ต้องการให้โรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้ง 407 โรงทั่วประเทศ เกิดสุขภาวะที่ดีส่งเสริมศาสนทายาท ให้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจดี โดยข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้พระสงฆ์ สามเณร และบุคลากรโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ได้รับการดูแลสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้ธรรมนูญสุขภาพฯ เป็นกรอบการสร้างสุขภาวะในโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ร่วมกับชุมชน และสังคม

3

ขณะที่ พระเทพวัชรเมธี, ผศ.ดร. อธิการบดี มมร. กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าว จะเป็นกรอบหลักในการดูแลสุขภาวะทางกายของพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ที่มีญาติโยมเป็นผู้อุปถัมภ์ เพราะพระไม่สามารถเลือกฉันได้ โดยญาติโยมเหล่านี้มีส่วนช่วยส่งเสริม สนับสนุนด้านสุขภาพกาย ใจ ให้มีกำลังที่ดีในการเล่าเรียนศึกษา ซึ่งทาง มจร. และ มมร. ยินดีสนับสนุนนโยบาย ดังกล่าว 

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย สธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยร่วมขับเคลื่อนประด็นสุขภาพของพระภิกษุ และสามเณร ผ่านงานของ สธ. ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ มีศูนย์อนามัย 13 เขต ที่ดูแลพระภิกษุและสามเณร โดยเฉพาะโครงการดูแลพระภิกษุ สามเณรในโรงเรียนที่สำคัญ ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือและภาคอีสาน 69 โรง เพราะกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้มีปัญหาด้านโภชนาการเกิน เหมือนกับโรงเรียนในเขตเมือง แต่มีปัญหาภาวะโภชนาการขาด เช่น เตี้ย ผอม และสุขอนามัยส่วนบุคล

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมากรมอนามัยมีโครงการสนับสนุนทางวิชาการ และผลิตสื่อต่างๆ อยู่จำนวนมากในการเฝ้าระวังตนเอง เช่น สมุดบันทึกสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร, คู่มือสถานที่จำวัดสำหรับพระภิกษุสามเณร โรงเรียนพระปริยัติธรรม, การกำจัดขยะ ที่อยู่อาศัย และช่วงโควิดที่ผ่านมา มีการออกแนวทางปฏิบัติรับมือโควิด-19 ทั้งนี้ กรมอนามัยยินดีสนับสนุน และถือเป็นภาระกิจสำคัญในการสนับสนุนองค์ความรู้ สำหรับพระสงฆ์ สามเณร และจะใช้เครือข่ายที่มีในการส่งเสริมสุขภาพพระภิกษุ สามเณร ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ต่อไป

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจสุขภาพสามเณรทั่วประเทศ พบสามเณรมีภาวะโภชนาการเกิน (ท้วม เริ่มอ้วน และอ้วน) 22% มากกว่าเด็กชายไทยที่มีภาวะโภชนาการเกินอยู่ที่ 18% ซึ่ง สสส. ร่วมกับคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการการพัฒนาสื่อโภชนาการสามเณรสมวัย พัฒนานวัตกรรมสื่อองค์ความรู้ แนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการฉันอาหารของสามเณรที่เสริมสร้างสุขภาพที่ดี นำไปสู่การเป็นแกนนำความรู้ในการดูแลสุขภาวะเผยแพร่แก่ชุมชนและสังคมในวงกว้าง

"การจัดทำ MOU ความร่วมมือกับภาคีทั้ง 7 องค์กร จะช่วยตอบโจทย์สุขภาวะของพระสงฆ์ สามเณรได้ตรงจุด เชื่อว่าหากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ต้องเชื่อมประสานกันอย่างมีพลังทั้ง ความรู้ นโยบาย และการปฏิบัติ วันนี้การ MOU จะเป็นสะพานเชื่อมในเชิงนโยบายร่วมกัน สสส. จะช่วยเสริมการขับเคลื่อนภาคปฏิบัติการในระดับพื้นที่ สนับสนุนองค์ความรู้ สร้างต้นแบบความรู้ในพื้นที่ ที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ และขับเคลื่อนเชิงนโยบายร่วมกัน" ดร.ประกาศิต กล่าว

ด้าน นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. ยินดีสนับสนุนข้อมูลองค์ความรู้เรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และความรู้ความเข้าใจเรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ของพระภิกษุ สามเณร ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ที่มีอยู่ทั่วประเทศจำนวน 407 แห่ง เพื่อทำให้พระสงฆ์ สามเณร ได้เข้าถึงข้อมูล สิทธิสุขภาพ การเข้าถึงบริการสิทธิสุขภาพพื้นฐาน ตลอดจนรับรู้ข้อมูลเรื่องกองทุน กปท.

"กองทุน กปท. จะเป็นงบประมาณที่จะช่วยสนับสนุนในการดำเนินการดูแลสุขภาพของพระภิกษุ สามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ในแต่ละพื้นที่ และสนับสนุนให้องค์กรชุมชน ประชาชน ภาคเอกชน หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ ชุมชน" นพ.อภิชาติ กล่าว