ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สื่ออเมริกันรายงาน แหล่งข่าวกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นให้ข้อมูลกับสื่อท้องถิ่นว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังซุ่มตั้งองค์กรด้านสุขภาพร่วมกับองค์การอนามัยโลก เน้นบทบาทผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. สื่อสัญชาติอเมริกัน Breitbart News Network รายงานข่าวโดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวเกียวโด ซึ่งนำเสนอข่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกำลังหารือกับองค์การอนามัยโลก เพื่อผลักดันการตั้งองค์กรใหม่ เน้นวาระสร้างหลักประกันสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา

Breitbart รายงานว่าแหล่งข่าวภายในกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นให้ข้อมูลกับสำนักข่าวเกียวโดว่า เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก นพ.โดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus)

ทั้งคู่เห็นร่วมกันว่าควรมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อจัดตั้งองค์กรใหม่ภายใต้ร่มขององค์การอนามัยโลก และจะเปิดตัวองค์กรนี้ในระหว่างการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ในเมืองฮิโรชิมะ ในเดือน พ.ค. ปีหน้า

กลุ่มประเทศ G7 ประกอบด้วยประเทศพัฒนาชั้นนำระดับโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา ฝรั่งเศ เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

สำนักข่าวเกียวโดยังให้ข้อมูลอีกว่า ญี่ปุ่นมีพยายามสร้างบทบาทบนเวทีโลกในด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะญี่ปุ่นมีประสบการณ์และความก้าวหน้าในด้านนี้ จากการริเริ่มมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จตั้งแต่ปี 2504

องค์กรใหม่ที่เกิดขึ้น จะเน้นภารกิจสร้างความตระหนักต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกำหนดกรอบการทำงานป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ รวมทั้งโคโรนาไวรัส

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว สอดคล้องกับมติองค์การอนามัยโลกในปี 2555 ให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระระดับโลกที่นานาประเทศควรช่วยกันผลักดันให้สำเร็จ

โดยตั้งเป้าว่าทุกประเทศต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations) หรือ Sustainable Development Goals

ในปัจจุบัน ยังมีประชากรโลกอีกครึ่งหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และยังเสี่ยงล้มละลายเพราะจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ตั้งแต่มีการกำหนดวาระ องค์การอนามัยโลกพยายามส่งเสริมให้กลุ่มประเทศต่างๆ สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น ในกรณีของอียิปต์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากองค์การอนามัยโลกในการแก้ไขกฎหมายประกันสุขภาพ เพื่อเปิดช่องทางให้รัฐบาลสามารถใส่เงินในระบบสุขภาพได้อย่างถูกกฎหมาย

คูเวตก็ได้รับการสับสนุนจากองค์การอนามัยโลกเช่นกัน รัฐบาลคูเวตได้ปรับเปลี่ยนระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ และบูรณาการยุทธศาสตร์การเงินการคลังด้านสุขภาพเข้าไปในแผนสุขภาพระดับประเทศ

กลุ่มประเทศอิสลาม ได้แก่ อิหร่านและซูดาน ก็มีการยกระดับระบบการจัดซื้อจัดจ้างในองค์กรด้านประกันสุขภาพ เพื่อให้รัฐบาลสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชนได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ในกรณีของซูดาน กระทรวงสาธารณสุขทำงานร่วมกับองค์กรนานาชาติ จัดทำข้อเสนอปฎิรูปกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลซูดานยังทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme หรือ UNDP) เพื่อต้านคอรัปชั่นในระบบสุขภาพ

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังร่วมมือกับเครือข่ายจัดหาวัคซีน “กาวี” หรือ GAVI และกองทุนโลก (Global Fund) ในการกระจายสิทธิประโยชน์วัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา และหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี โรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย

อ่านบทความต้นฉบับได้ที่: https://www.breitbart.com/asia/2022/08/12/report-japan-w-h-o-plan-universal-health-care-body-poor-nations/