ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ด้วยคะแนนที่สูงถึงร้อยละ 97.07 จากผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” ในปี 2564 สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานกองทุนฯ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้งบประมาณจากภาษีประชาชน ถูกใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยคืนสู่ประชาชนเอง

ตลอดระยะเวลา 19 ปี ของกองทุนบัตรทอง ได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องทุกๆ ด้าน และในปีงบประมาณ 2566 ที่จะมาถึงนี้ นับเป็นอีกปีหนึ่งของการก้าวย่างเพื่อขยายความครอบคลุมและทั่วถึง รองรับต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง เพื่อดูแลคนไทยทุกคน      

จากวงเงินจำนวน 204,140.02 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2566 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลมานี้ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 5,248.24 ล้านบาท ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุภาพแห่งชาติเป็นประธาน เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 แล้ว   

ทั้งนี้ได้จัดสรรงบประมาณเป็น 10 รายการ ประกอบด้วย 1.บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 161,602.67 ล้านบาท บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 3,978.48 ล้านบาท 3.บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 9,952.17 ล้านบาท บริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง 1,071.48 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 1,490.29 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน 1,265.65 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ 188.85 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2,772 ล้านบาท เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ 437.37 ล้านบาท และค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 21,381.11 ล้านบาท   

1

สำหรับในส่วนของงบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 161,602.67 ล้านบาทนี้ หรือเฉลี่ย 3,385.98 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ ได้จัดสรรเป็นงบบริการผู้ป่วยนอก 1,344.40 บาท ผู้ป่วยใน 1,477.01 บาท บริการกรณีเฉพาะ 399.49 บาท บริการฟื้นฟูมรรถภาพด้านการแพทย์ 17.23 บาท บริการการแพทย์แผนไทย 19.16 บาท และค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน 128.69 บาท

ภายใต้การจัดสรรงบประมาณนี้ มีการเพิ่มเติมบริการใหม่ อาทิ การดูแลภาวะความดันเลือดในปอดสูงในทารกแรกเกิด (Persistent Pulmonary Hypertension of the Newborn), บริการทันตกรรม Vital Pulp Therapy, บริการรากฟันเทียม, บริการห้องฉุกเฉินคุณภาพภาครัฐ, ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ, บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี, เพิ่มยา จ.2 จำนวน 14 รายการ, บริการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลัน, บริการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษ และขยายบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

พร้อมกันนี้ สปสช.ได้ดำเนินการปรับการบริหารจัดการที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ ได้แก่ บริการโรคโควิด-19 จากเดิมที่แยกการบริการจัดการโดยใช้งบประมาณ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่ปรับให้อยู่ในงบบัตรทองที่ครอบคลุมทั้ง บริการโควิดผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การป้องกันและการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีฉีดวัคซีนโควิด-19, การเดินหน้ายกระดับบัตรทองอย่างต่อเนื่อง, เพิ่มการเข้าถึงยา ทั้งยารักษามะเร็ง และยาที่มีส่วนผสมของกัญชา (บัญชียาหลักแห่งชาติ), เพิ่มการเข้าถึงบริการเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูงโดยปรับการจ่ายตามรายการบริการ, เพิ่มสัดส่วนสมทบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับจังหวัดตามความพร้อมแต่ละฟื้นที่ และเพิ่มบริการผ่าตัดข้อเข่าและผ่าตัดต้อกระจกที่เปิดให้มีการปรับเป้าหมายตามบริบทพื้นที่เช่นกัน

นอกจากนี้ในส่วนบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงนั้น ได้มีการปรับการจ่ายที่เป็นไปตามแผนการดูแลแต่ละบุคคล (Care plan) พร้อมตัดรอบการจ่ายทุก 15 วัน, ปรับบริการไตวายเรื้อรังที่ให้ดูแลโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางพร้อมกับเพิ่มทางเลือกจ่ายชดเชยเป็นเงินสำหรับน้ำยาล้างไตและยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง (EPO) เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนของหน่วยบริการ สปสช.ได้ดำเนินการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบที่ช่วยสนับสนุนการบริการและเพิ่มความสะดวกผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการบูรณาการระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อคืนข้อมูลให้กับหน่วยบริการและประชาชน การจัดทำระบบเชื่อมข้อมูลบริการเพื่อลดภาระการส่งข้อมูลของหน่วยบริการ การเพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบการจ่าย ได้แก่ การพิสูจน์ตัวตน ระบบตรวจก่อนจ่าย การใช้ระบบตรวจสอบ AI Audit และเน้นการจ่ายตามผลงานบริการในทุกรายการ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัดทำกลไกทบทวนอัตราจ่ายตามรายการบริการโดยมีคณะทำงานทบทวน การปรับระบบขยายบริการข้ามเขตและการจัดทำระบบเชื่อมโยงการบริการมากกว่าหนึ่งหน่วยบริการ อย่างกรณีนวัตกรรมย่านโยธี เป็นต้น

สำคัญที่สุดในปี 2566 นี้คือการเพิ่มบทบาท อปสข. ร่วมให้คำแนะนำ ความเห็นต่อหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าบริการเพื่อให้เป็นไปตามบริบท และให้เกิดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม

การบริหารจัดการงบประมาณบัตรทองที่ปรากฏนี้ ไม่ได้มาจากผลการดำเนินงานของ สปสช.เท่านั้น แต่เกิดจากความร่วมมือของทุกๆ ฝ่ายที่ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอ ที่ได้ร่วมกันสะท้อนความคิดเห็น จากการเปิดกว้างการมีส่วนร่วมทั้งในระดับส่วนกลางและพื้นที่ จนทำให้งบประมาณบัตรทองในแต่ละปีรวมถึงในปีนี้ เกิดการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพให้กับประชาชน สู่ความเป็นเจ้าของระบบร่วมกัน