ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ชี้แจงแนวทางบริหารกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ปีงบประมาณ 2566 เพิ่มบทบาทสนับสนุนจัดหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เสนอแนวทางปรับกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับจังหวัด รองรับการถ่ายโอน รพ.สต. สนับสนุนงานด้านสุขภาพของ อบจ. ในอนาคต


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ปี 2566 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 โดยมีตัวแทนจากองค์การบริหารบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนหน่วยบริการ ตลอดจนองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯร่วมกัน

นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ปี 2566 นั้น สปสช.อยากเน้นเรื่องประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินกองทุน เพราะเมื่อดูจากแนวโน้มของเงินในบัญชีคงเหลือของกองทุนทั้ง 58 จังหวัดแล้ว มีแนวโน้มว่าปีงบประมาณ 2565 จะใช้งบไม่หมด ดังนั้นปีงบประมาณ 2566 จึงจะเน้น 2 แนวทางคือ 1. พิจารณาเงินงบประมาณขาเข้าตามความจำเป็น และเพิ่มกรอบการใช้เงินตามวัตถุประสงค์ เพราะหากดูรายละเอียดแล้ว บางจังหวัดยังดำเนินกิจกรรมไม่ครบถ้วนตามกรอบวัตถุประสงค์ของกองทุน ดังนั้นจังหวัดนั้นอาจต้องทำกิจกรรมเพิ่มเติมเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยวงเงินที่ สปสช.สมทบ ไม่เกิน 8 บาท(ต่อประชากรสิทธิบัตรทอง 30 บาทหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ณ 1 เม.ย. 2565) จึงขอให้ อบจ. ประมาณการรายจ่ายให้เพียงพอกับรายรับ และ 2. สนับสนุนการจัดหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ผู้มีสิทธิในพื้นเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ยังไม่ร่วมกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ซึ่งมีอยู่ 34 แห่งทั่วประเทศ หรือในพื้นที่ที่เงินกองทุน กปท.ไม่พอใช้ ก็สามารถร้องขอให้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดช่วยสนับสนุนได้ โดยขณะนี้ สปสช.อยู่ในระหว่างออกหลักเกณฑ์ แนวทางการปฏิบัติและจะประชาสัมพันธ์ให้ อบจ. ทราบต่อไป

นพ.อภิชาติ กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูฯ ในระยะถัดไปว่า กองทุนนี้ก่อตั้งมาประมาณ 10 กว่าปี ปัจจุบันมี อบจ. 58 จังหวัด จัดตั้งกองทุนนี้ และเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่าเกิดระบบการดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ครอบคลุมเกินกว่ามิติทางสุขภาพ อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่สามารถเติมเต็มช่องว่างในการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯ คือ 1.เพิ่มความครอบคลุมผู้มีสิทธิ คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะพึ่งพิง เช่น ในบางพื้นที่ที่ยังไม่มีการจัดตั้งกองทุน Long Term Care (การดูแลด้านสาธารณสุขแบบระยะยาว) ทาง อบจ.สามารถใช้กลไกของกองทุนฟื้นฟูฯเข้าไปช่วยดูแลเพิ่มเติมได้

2. การจัดบริการตามความจำเป็น เพราะคนพิการมี 7 ประเภท เช่น คนพิการทางสติปัญญา หูหนวก ตาบอด และมีบริการตามสิทธิประโยชน์ที่กำหนดใน พ.ร.บ.พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ กว่า 26 รายการ ซึ่งบางรายการยังไม่ได้กำหนดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น เด็กออทิสติก มีกิจกรรมเรื่องวารีบำบัด อาชาบำบัด ฯลฯ ไม่ได้กำหนดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เนื่องจากกองทุนฟื้นฟูฯมีข้อกำหนดที่เปิดกว้าง สามารถสนับสนุนบริการที่จำเป็นเหล่านี้เพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ เนื่องจากคนพิการย่อมเข้าใจปัญหาและความต้องการของคนพิการด้วยกันเอง หากสามารถดึงความคิดเห็นหรือความร่วมมือจากองค์กรคนพิการเข้ามาร่วมดำเนินงานด้วย ก็จะสามารถเติมเต็มความต้องการของคนพิการได้มากขึ้น

3. ความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพองค์กรคนพิการให้มีส่วนร่วมดูแลคนพิการ เพราะที่ผ่านมาองค์กรคนพิการมักมีกิจกรรมบริการที่สามารถให้บริการในกลุ่มของตัวเองได้ หากผู้บริหารกองทุนฯสามารถสร้างความร่วมมือกับองค์กรเหล่านี้ ก็จะสามารถเพิ่มเติมองค์ประกอบในการจัดบริการของกองทุนฟื้นฟูฯได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
 
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ในอนาคตอันใกล้นี้ยังจะมีเรื่องการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่ง อบจ.จะมีบทบาทด้านสุขภาพเพิ่มเติมมากขึ้น สปสช.จึงมีแนวคิดปรับเปลี่ยนกองทุนฟื้นฟูฯให้รองรับการถ่ายโอนและสนับสนุนการทำงานของ อบจ. โดยเสนอว่าให้ขยายขอบเขตบริการจากกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับจังหวัด โดยเพิ่มในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และรักษาโรคเบื้องต้นด้วย เพื่อเสริมการทำงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลที่มีอยู่แต่เดิมอยู่แล้ว และจะช่วยดูแลสุขภาพและการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนทั้งจังหวัด อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ยังเป็นแนวคิดและต้องหารือรายละเอียดกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องในอนาคต

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ