ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” เปิดประชุมวิชาการระดับชาติบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ-แผลผ่าตัดเล็ก เผย ครอบคลุมการผ่าตัด 65 โรค/อาการ ให้บริการครบ 13 เขตสุขภาพ ในทุกโรงพยาบาลศูนย์-โรงพยาบาลทั่วไป-โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง ช่วยลดค่าใช้จ่าย-ผู้ป่วยฟื้นตัวไว-ลดความแออัด-กลับไปใช้ชีวิตปกติและทำงานได้เร็วขึ้น สอดรับนโยบาย 3 หมอ มอบ อสม.ช่วยติดตามดูแลหลังพักฟื้นที่บ้าน


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผ่านการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านการพัฒนาระบบการให้บริการการผ่าตัดวันเดียวกลับ (ODS) และการผ่าตัดแผลเล็ก (MIS) ปี 2565 เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2565 ว่า สธ. ดูแลสุขภาพของประชาชนในทุกมิติ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันโรค การรักษาและฟื้นฟู เมื่อประชาชนมีสุขภาพดีก็จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ ตามนโยบาย Health for Wealth โดยมีการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ทั้งระบบบริการการผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery :ODS) และการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย แผลเล็กเจ็บน้อยฟื้นตัวไว (Minimal Invasive Surgery :MIS) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น กลับมาใช้ชีวิตตามปกติหลังการรักษาได้เร็วขึ้น และไม่กระทบภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

1

อย่างไรก็ตาม สธ. จัดให้มีระบบบริการดังกล่าวครอบคลุมแล้ว 65 โรค/อาการ ทั้ง 13 เขตสุขภาพ ทุกโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง รวมไปถึงอยู่ในสิทธิประโยชน์ของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งการดำเนินงานเรื่องนี้ยังสอดรับกับนโยบาย 3 หมอ โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้การดูแลตรวจวินิจฉัย รับการผ่าตัดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ติดตามดูแลเมื่อมาพักฟื้นที่บ้าน โดยมีโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด ODS จำนวน 74,619 ราย และ MIS จำนวน 21,874 ราย รวมทั้งหมด 96,493 ราย

"การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับและการผ่าตัดแผลเล็ก ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว มีมาตรฐานและความปลอดภัย ไม่ต้องมานอนรอก่อนผ่าตัด สามารถมาเช้าวันผ่าตัดและกลับบ้านได้ในวันเดียวกันหรือนอนค้างไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผลการรักษาดีมีประสิทธิภาพ เป็นทางเลือกให้ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อในโรงพยาบาล ลดความแออัด ช่วยให้แพทย์และพยาบาลมีเวลาให้บริการผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ก่อให้เกิดความทั่วถึงและเท่าเทียมกันในการรักษาเกิดการดูแลร่วมกันของสถานพยาบาลกับครอบครัวและชุมชน และความยั่งยืนของระบบสุขภาพ" นาย อนุทินกล่าว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า การผ่าตัดวันเดียวกลับเริ่มให้บริการประชาชนตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 และเพิ่มบริการผ่าตัดแผลเล็กในปี 2562 เข้าสู่ระบบบริการร่วม ประกอบด้วย การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดผ่านกล้อง และได้พัฒนาระบบบริการเรื่อยมาจนตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยและญาติได้อย่างดี มีโรคและหัตถการเข้ามาสู่ระบบบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น การส่องกล้องผ่าตัดถุงน้ำดี และขยายความครอบคลุมไปถึงการตรวจวินิจฉัยโรค เช่น การส่องกล้องตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ สำหรับ ODS Platform มีองค์ประกอบ คือ 1. การตรวจประเมินโดยทีมศัลยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ 2. การตรวจประเมินโดยวิสัญญีแพทย์ ด้วยวิธีการใดก็ได้ที่ผ่านการประเมินองค์ความรู้รับรอง เช่น การตรวจรักษาด้วยระบบทางไกล (Telemedicine) 3. การทำผ่าตัด/หัตถการและบันทึกการผ่าตัด เตรียมความพร้อมนัดล่วงหน้าก่อนทำการผ่าตัด 4. การติดตามผู้ป่วยหลังกลับบ้านใน 24, 48, และ 72 ชั่วโมง และ 5. บันทึกข้อมูลในระบบบริการ ODS & MIS Registry  ซึ่งเป็นแนวทางที่ให้ทุกหน่วยงานมาบูรณาการได้

3

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบถึงระบบบริการผ่าตัดวันเดียวกลับเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมสัมมนาในวันนี้ โดยมีผู้บริหารระดับสูง สธ. ผู้ให้บริการ ODS&MIS ทั้งในและนอก สธ.ทั่วประเทศ และผู้แทนภาคประชาชน คือ ประธาน อสม. 78 แห่งทั่วประเทศ รวม 600 คนเข้าร่วม เพื่อให้โรงพยาบาลที่ให้บริการ ODS&MIS ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ นำความรู้จากการประชุมไปประชาสัมพันธ์และถ่ายทอดสู่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมช่วยแนะนำช่องทางการรับบริการในภาครัฐและเอกชนแก่ประชาชนให้สามารถเลือกรับบริการของระบบบริการ ODS&MIS ได้ด้วยตนเอง รวมถึงมีการเสวนา การนำเสนอผลงานดีเด่นของโรงพยาบาลที่ให้บริการ ODS&MIS จาก 13 เขตสุขภาพ จำนวน 45 เรื่อง สำหรับการผ่าตัดวันเดียวกลับและผ่าตัดแผลเล็กในปี 2565 มีการให้บริการแล้วประมาณ 1.6 หมื่นราย ซึ่งมีการศึกษาว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยประมาณรายละ 2 หมื่นกว่าบาท