ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเดินทางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังจะดำเนินเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ซึ่งตลอดระยะเวลาในการเดินทางเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับบริการ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งการเข้ามามีส่วนร่วมในการพาประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

แน่นอนว่าการจะจัดบริการทุกสิ่งอย่างนั้น การบริหารจัดการงบประมาณก็ถือเป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน และด้วยในวาระการขึ้นงบประมาณใหม่ ปี 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. จึงมาอธิบายหลักคิดการบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองในปีงบงประมาณ 2566 ให้ได้กระจ่างแจ้งกัน

บริหารงบประมาณต้องคิดถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

นพ.จเด็จ ระบุว่า ก่อนการทำงบประมาณขาขึ้น จำเป็นต้องดูปัจจัยต่างๆ อย่างเช่น สถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าในปี 2566 ก็ยังไม่ได้หายไป รวมไปถึงการดูเงินเฟ้อในส่วนของยา สาธารณูปโภคที่โรงพยาบาลต้องใช้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงค่าแรงด้วย เพราะในช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อในส่วนของยายังติดลบ และเพิ่งจะผงกหัวขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

ขณะเดียวกันก็ต้องคาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนนี้ สปสช. จะต้องประเมินให้เรียบร้อยก่อน เช่น การดูการเปลี่ยนแปลงของโรค เพราะในช่วงโควิด-19 โรคบางโรคนั้นหายไป หรือลดลง

“ในช่วงโควิด-19 คนใส่หน้ากากมาก ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่ลดลง ฉะนั้นค่ารักษาไข้หวัดใหญ่ก็จะหายไป ประมาณ 4% แม้กระทั่งโรคอุจจาระร่วงก็ลดลง เพราะเชื้อติดกับมือ ซึ่งตอนนี้ก็ล้างมือ และใส่หน้ากากอนามัยกัน”

อย่างไรก็ ด้วยระบบของ สปสช. ต้องชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนเข้าสภา ในเรื่องที่ว่าบางบริการในมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นโรคบางโรคที่เป็นโรคทางเดินหายใจ ขณะเดียวก็ต้องคิดถึงโรคบางโรคที่ถูกเลื่อนในปีที่ผ่านมา เช่น โรคที่ต้องมีการผ่าตัดและถูกเลื่อนไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมไปถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) นั่นจึงทำให้เมื่อคิดงบประมาณจำเป็นจะต้องส่วนเหล่านี้มาคำนวณด้วย

1

จัดงบประมาณเป็นก้อนย่อย-ใช้เงินทุกบาทอย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดงบประมาณของ สปสช. จัดเป็นก้อนย่อย ไม่ได้จัดเป็นก้อนใหญ่ ซึ่งตรงนี้จะแยกให้เห็นว่าบริการใดที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง และสามารถอธิบายต่อ ครม. ได้หลังจากปิดงบประมาณไปแล้วไม่เกิน 3 เดือน ว่าเงินที่ได้นำไปใช้นั้นเกิดผลอย่างไร

ขณะเดียวกัน หากดูงบประมาณที่จะเข้ามาในระบบในปี 2566 จะอยู่ที่ จำนวน 142,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2565 จำนวน 140,000 ล้านบาท ตัวเลขกลมๆ เพิ่มขึ้นมาประมาณ 1,700 ล้าน หรือคิดเป็น 1% แต่เมื่อดูสิทธิประโยชน์ หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่มีมูลค่าถึง 1.7 หมื่นล้านบาท

2

ฉะนั้นแล้ว เมื่อนำของใหม่เข้ามาในระบบมากกว่าเงินที่เพิ่มขึ้น ในระบบงบประมาณเรียกว่ามีประสิทธิภาพ

“คุณสามารถเพิ่มเงินแค่นี้แต่ได้ของใหม่เพิ่มขึ้นเยอะแยะด้วยการที่เงินที่มีอยู่เดิม คุณต้องไปดูให้ละเอียดเลยว่าอะไรลดลง อะไรเพิ่มขึ้น ราคาบางตัวก็ลดลง ยาบางตัวลดลง ฉะนั้นจะบอกว่าต้องเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่จริง เดิมเราไม่ได้คิดแบบนี้ การที่เราไม่ได้คิดแบบนี้ทำให้ทุกปีเราก็ต้องบอกว่าเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ยาลดลง แต่คุณต้องไปดูว่ายาตัวไหนลดลงและมีผลต่องบประมาณแค่ไหน

เราไม่ได้เอายาทุกตัวมาดู เราเอาเฉพาะยาราคาแพง เช่น ยาเข็มละ 1 หมื่นบาท ปีหน้าอาจจะเหลือ 8,000 ก็ต้องปรับราคาลง ถ้าเอาราคาเดิมไปคูณกับปริมาณงานเดิมมันก็จะทำให้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เจตนาคือใช้ทุกบาททุกสตางค์ให้คุ้มที่สุด ไม่อย่างนั้นเราจะอธิบายกับรัฐบาลหรือประชาชนไม่ได้” นพ.จเด็จ กล่าว

ปี 2566 ต้องไม่เหมือนปี 2565

นพ.จเด็จ ยอมรับว่าปี 2565 หมดกับโควิด-19 มาก ฉะนั้นต้องถอดบทเรียนของออกมาให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น ระบบการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) มีการพูดคุยกับแพทย์ผ่านระบบแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine มีการส่งอุปกรณ์ อาหาร ฉะนั้นบทเรียนดังกล่าวก็จะถูกนำมาพัฒนาในปีนี้ที่เรียกว่า Home Ward หรือการใช้บ้านเป็นเตียงผู้ป่วย ซึ่งก็มีการเพิ่มในโรคที่คล้ายกับโควิด-19 

ยกตัวอย่างผู้ป่วยกรวยไตอักเสบที่จะมีการพูดคุยกับแพทย์ผ่านวิดีโอคอล จากนั้นก็จะมีพยาบาลเข้าไปฉีดยาให้โดยที่ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านไม่ต้องเดินทางมาที่สถานพยาบาล นั่นทำให้โรงพยาบาลมีเตียงว่างเพื่อรองรับผู้ป่วยหนัก รวมไปถึงการจ่ายยาให้ผู้ป่วยมะเร็งก็จะมีการสร้างกลไกให้ด้วยการให้ยาที่บ้าน นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ สปสช. จ่ายเงินเท่าเดิม

นั่นจึงทำให้เกิดการบริการมากขึ้น แต่จ่ายเท่าเดิม หรือบางอย่างที่ให้บริการเพิ่มขึ้น แต่จ่ายเงินถูกลง เช่นเดียวกับบริการล่าสุดที่เปิดตัวระบบ Telemedicine แบบผู้ป่วยนอก โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถสแกน QR Code และคุยกับแพทย์ได้เลย หากประเมินแล้วว่าติดเชื้อโควิด-19 ก็จะมีการส่งยาจากร้านขายยาใกล้บ้านไปให้

ทั้งหมดทั้งมวลนั้นจึงทำให้ นพ.จเด็จ มองว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่สังคมไทยรับได้ เชื่อว่าบริการปฐมภูมิจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วม ฉะนั้นจะทำให้ขยายบริการปฐมภูมิออกไปได้ไกล ขณะเดียวกันระบบทุติยภูมิ และตติยภูมิก็จะมารองรับโรคยากๆ เช่น มะเร็ง หัวใจ ฯลฯ ตรงนี้ สปสช. ก็จะมีบทบาทเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันกับหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงสาธารณสุขด้วย

 “ตอนนี้เกมเปลี่ยนไปหมด เทคโนโลยีเปลี่ยนไปหมด เพียงแต่เราจะทันหรือไม่ ฉะนั้นสุดท้าย สปสช. ก็จะขึ้นอยู่กับความเร็วว่าจะเปลี่ยนได้เร็ว ซึ่งโควิดสอนให้รู้ว่าต้องเร็ว จะเห็นว่าบางอย่างเปลี่ยนเร็วจนชาวบ้านตามไม่ทัน จริงๆ เจตนาคือเปลี่ยนไปตามสภาพ ฉะนั้นจะสื่อสารอย่างไรให้สาธารณะเข้าใจว่าสิ่งที่ สปสช. กำลังจะทำอยู่นั้น Based on วิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ความรู้สึกเรา” นพ.จเด็จ กล่าว

3

การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคยังเป็นหมุดหมายสำคัญ

“ปีที่ผ่านมาหรือปีหน้าที่จะทำ จะเห็นว่าเราเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมาก” นี่คือสิ่งที่ นพ.จเด็จ ระบุ เนื่องจากการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ยิ่งทำมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีโอกาสประหยัดเงิน เช่น การรณรงค์ให้คนไม่ป่วยเป็นโรคไตด้วยการป้องกัน ให้ประชาชนเข้าใจและปฏิบัติตนเพื่อยืดเวลาให้ไต เช่น การลดอาหารเค็ม หรือลดอาหารหวาน ฯลฯ การตรวจเบาหวาน ความดัน ซึ่งก็มีการลงไปตรวจเชิงลึกเพื่อค้นหา และนำผู้ป่วยออกมารักษาก่อน ซึ่งจะทำให้คนที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายลดลง และงบประมาณที่ต้องใช้แก่กลุ่มนี้ก็จะลดลงไปด้วย

ขณะเดียวกันในปีหน้าจะมีการตรวจยีนสำหรับสุภาพสตรีที่มีญาติเป็นโรคมะเร็งเต้านม จะทำให้ทราบได้ทันทีว่ามีโอกาสจะเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่แม้จะยังไม่มีอาการ ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะมีผู้หญิงที่ต้องตรวจประมาณ 6 หมื่นคน

“ถ้าเราเคยติดตาม แองเจลินา โจลี ตรวจยีนตัวนี้และตัดเต้านมทิ้ง เพราะรู้ว่าอีก 3-5 ปีเป็นมะเร็งเต้านมแน่ๆ เป็นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมะเร็ง ซึ่งการตรวจแบบนี้ใช้เงินค่าตรวจแต่ละครั้งจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าคุณปล่อยให้คนเป็นมะเร็งเต้านม คุณรักษาไปอีก 10 เท่า ฉะนั้นก็เชื่อไว้ก่อนว่าจะประหยัด 10 เท่าในอนาคต”

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีโจทย์ที่ท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการ เพราะการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคคือการนำคนที่ยังมีสุขภาพดีเข้าไปตรวจ แต่ถ้าเกิดการเจ็บป่วยก็ยังมีการรักษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ สปสช. คิดและพูดมานานแล้ว เพียงแต่ระบบยังไม่มุ่งเน้นในส่วนนี้เท่าที่ควร ทำให้ในปีที่ผ่านมา สปสช. จึงเน้นในส่วนนี้

“ตอนนี้บทบาทของ สปสช. คือต้องมองในระบบนี้ด้วย ถ้าจะมองเรื่องสร้างเสริมสุขภาพต้องเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาด้วย ทำให้เกิดความรวดเร็ว ผู้ป่วยเข้าถึงง่าย ทั้งหมดจะทยอยเข้ามาระหว่างปีตลอด เพราะเราพิสูจน์ได้ว่าเอาตัวนี้เข้ามา เราประหยัดเงินได้”

กระจายความรับผิดชอบลงพื้นที่ แก้ปัญหาข้อร้องเรียนกระจุกในส่วนกล่าง

เมื่อกี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สปสช. เข้าไปใช้ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) เพื่อให้ สปสช. แก้ไขปัญหาได้รวดเร็วที่สุด นั่นจึงทำให้มีการกระจายความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาลงไปในระดับพื้นที่ โดยที่ไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายในการใช้ระบบดังกล่าวเลย

ล่าสุดคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ก็ได้มีมติให้ปรับบทบาทของ คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) และคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เพื่อรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งการทำลักษณะนี้จะทำให้ข้อมูลไม่ต้องส่งมาที่ส่วนกลางอย่างเดียว ทำให้ไกลเกินกว่าที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน

นพ.จเด็จ อธิบายว่า หากใช้เทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด และใช้ให้เกิดประโยชน์ แม้จะเกิดค่าใช้จ่ายก็สมควรจะจ่าย แต่เนื่องจากในวันนี้การแข่งแข่งขันมีสูง และผู้ผลิตเองก็อยากได้ลูกค้าก่อนจะได้เงิน ฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่าในอนาคตจะเกิดค่าใช้จ่ายตรงนี้ เมื่อเทียบกับ สปสช. ต้องลงทุนพัฒนาเองประชาชนก็อาจจะไม่รู้จัก แต่ขณะเดียวก็ต้องคุมสภาพให้ได้ ไม่ผูกติดจนขยับตัวไม่ได้ และไม่ผูกขาด

4

ความสำเร็จด่านแรกคือการเป็นที่รับรู้

นพ.จเด็จ ระบุว่า หากวัดความสำเร็จในฐานะเลขาธิการนั้นยังไม่สามารถบอกอะไรได้ภายใน 1 ปี แต่หากมองความสำเร็จอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญคือเชื่อว่า สปสช. เป็นที่รับรู้ว่าจะเป็นผู้ที่ร่วมทำงาน และยืนข้างประชาชน

ขณะเดียวกันก็ยังมีความท้าทาย นั่นก็คือยังมีคนอีกมากที่ยังไม่ได้ประโยชน์จากตรงนี้ และความท้าทายนี้จะไม่มีวันจบ เนื่องจากยังมีคำถามตามมาว่าสิทธิอยู่ที่ไหน ระบบอยู่ส่วนไหน การรับบริการไม่ฟรีจริง ซึ่งตรงนี้เป็นจุดสำคัญนั่นคือการที่ประชาชนถูกเรียกเก็บเงิน

อีกส่วนหนึ่งของความท้าทายคือ สปสช. จะทำอย่างไรให้ได้สิ่งใหม่ๆ เข้ามาในระบบด้วยราคาที่ไม่แพงจนเกินไป และประชาชนรู้สึกมีความสุข ซึ่งตรงนี้ก็มีคนเริ่มพูดแล้วว่า “สิทธิประโยชน์บางอย่างไม่ใช่สำหรับคนจนอย่างเดียว” เช่น การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นตัวบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าจะยากดีมีจนยังประชาชนก็ใช้บริการ สปสช. แต่วันหนึ่งก็ทำให้รู้ว่า สปสช. จะเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ทำให้ประชาชนล้มไปมากกว่านี้

“ทั้งหมดคือสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความท้าทาย เราจะไปหวังความสำเร็จที่ผ่านมาและจะอินความสำเร็จไม่ได้ มองอีกด้านเราหมดไปปีหนึ่งแล้ว เหลืออีก 3 ปีจะทำอย่างไร ฉะนั้นความสำเร็จตรงนี้อาจจะยังวัดไม่ได้”

แม้จะยังมีความท้าทาย แต่ นพ.จเด็จ ก็ตอบว่ามีความพอใจในระดับหนึ่ง เพราะ สปสช. ก็ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่โลกลืม