ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การขยับขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ นับเป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งเป้าจะพัฒนา หากดูจากนโยบาย 214 ข้อบนหน้าเว็บไซต์ของนายชัชชาติแล้วจะพบว่ามีนโยบายเรื่องการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ดีทางฟากฝั่งของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เป็นอีกหนึ่งกลไกในระบบบริการปฐมภูมิ ในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณก็พร้อมที่จะสนับสนุนเม็ดเงิน บนหลักคิดที่ว่านำประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และหาก กทม. พร้อมขยายพัฒนาระบบปฐมภูมิเมื่อไหร่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ก็พร้อมที่จะตอบสนองนโยบายทันที

1

คน กทม. ยังเข้าไม่ถึงบริการปฐมภูมิ

นพ.จเด็จ ระบุว่า จากข้อมูลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าประชาชนใน กทม. เข้าไม่ถึงบริการ โดยเฉพาะบริการง่ายๆ อย่างปฐมภูมิ และเกินครึ่งไม่ทราบว่าสิทธิการรักษาอยู่ที่ไหน หากเกิดการเจ็บป่วยเล็กน้อยส่วนมากจะมุ่งไปที่ร้านยาเพื่อซื้อยาทานเอง หรือคิดว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วจะต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ หรือโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์

นั่นจึงเกิดคำถามขึ้นว่า คน กทม. โชคร้ายกว่าคนต่างจังหวัดหรือไม่ เพราะในพื้นที่ต่างจังหวัดประชาชนยังรู้ว่ามีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ฉะนั้นแล้วจึงต้องมุ่งเน้นระบบปฐมภูมิในเขตเมืองหลวง

ขณะเดียวกันสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา โรงพยาบาลหลายแห่งเตียงเต็ม และเกิดปรากฏการณ์การเสียชีวิตที่บ้าน เพราะไม่มีเตียงพอที่จะรองรับ จนเกิดเป็นระบบรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation :HI) หรือการรักษาแบบผู้ป่วยนอกในที่สุด

ทั้งหมดทั้งมวลจึงทำให้หลายคนมองว่า “ทำไมถึงไม่มาดูระบบปฐมภูมิในเขตเมืองหลวง”

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญด้วยข้อมูลที่มีอยู่ แล้วก็เห็นปรากฏการณ์ในช่วงโควิด และเมื่อมีการเลือกตั้งเข้าใจว่าทางผู้สมัครผู้ว่าหลายคนก็พูดถึงประเด็นนี้ ซึ่งแม้ว่าจะพูดเรื่องปฐมภูมิ แต่ชาวบ้านบางส่วนก็ไม่เข้าใจความหมาย

อย่างไรก็ดี การจะบอกว่าบริการปฐมภูมิคืออะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับนิยาม ร้านยาก็ถือว่าเป็นหน่วยปฐมภูมิ เช่นเดียวกับการรักษาตัวเองที่บ้าน ขณะเดียวกันท่ามกลางเทคโนโลยีมากมายที่เกิดขึ้นแต่กลายเป็นว่าประชาชนไม่เคยทราบเรื่องหน่วยบริการปฐมภูมิ

2

นพ.จเด็จ ขยายความว่า ทุกปีจะมีประชาชนประมาณ 2 ล้านคนที่ สปสช. ลงทะเบียนให้โดยที่ประชาชนไม่รู้ตัว ตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนเพราะไม่เคยมีการเข้ามาแสดงสิทธิ หากเทียบกับระบบประกันสังคมยังแล้วยังสู้ไม่ได้

ส่วนนี้เองทำให้จะเกิดเป็นนโยบายใหม่ในอนาคต คือการให้ประชาชนเลือกหน่วยบริการได้เอง และก็จะทำให้ทราบเลยว่าแต่ละคนทีสิทธิอยู่ที่หน่วยบริการใด ซึ่งถือเป็นความท้าทายอีกหนึ่งเรื่อง

การไปรับบริการของผู้ป่วยทั่วประเทศประมาณ 3.8 ครั้งต่อคนต่อปี แต่สำหรับ กทม. 1.1 ครั้งต่อคนต่อปี มันจึงทำให้เราเห็นว่าวันนี้ไม่ว่านโยบายระดับการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ที่พูดถึงปฐมภูมิในเขตเมืองเราเห็นด้วย นพ.จเด็จ ระบุ

ตรงนี้อาจจะเป็นสิ่งที่จะต้องช่วยกันเสริมต่อไปว่าของดีไม่จำเป็นต้องราคาแพง เพราะก็มีของดีที่ราคาเหมาะสมอยู่

ปรับบทบาท สปสช. กลายเป็นผู้สนับสนุน

สิ่งหนึ่งที่ สปสช. ยังจำเป็นต้องเสริม นั่นคือยังไม่มีหน่วยบริการเพียงพอที่จะรองรับประชาชน เนื่องจากในขณะนี้มีจำนวนคลินิกชุมชมอยู่ประมาณ 200 แห่ง แต่ นพ.จเด็จ ระบุว่า ยังไม่พอ อย่างน้อยต้องมี 500 แห่งเป็นอย่างต่ำ

นั่นเป็นเพราะเมื่อนับแล้วจะมีประชาชนประมาณ 2 ล้านคน ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. ยังไม่นับรวมประชาชนที่มาจากต่างจังหวัดและยังไม่ได้ย้ายเข้ามาอีกนับล้านคน

ตรงนี้จะสอดคล้องกับการที่ กทม. จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพระบบบริการปฐมภูมิในเขตเมืองหลวง และ สปสช. เองก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ สปสช. คือการหาเอกชนเข้ามาร่วม ขณะเดียวกันใน กทม. ก็จะมีศูนย์บริการสาธารณสุข ภายใต้สำนักอนามัย แต่ สปสช. จะปรับบทบาทใหม่นั่นคือการเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณที่จะเกิดขึ้นผ่านบริการคลินิก เพราะที่ผ่านมา สปสช. ถูกมองว่าเป็นผู้มีปฏิสัมพันธ์กับคลินิกชุมชนอบอุ่น แต่ในความเป็นจริงแล้วคือศูนย์บริการสาธารณสุข

รูปแบบนี้คือรูปแบบใหม่ที่เราจะทำเราพยายามจะถอยบทบาทการจัดบริการเข้ามาทำบทบาทของการสนับสนุนงบประมาณโดยที่เราอยากให้เขาสร้างเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกันด้วยการเอาประชาชนเป็นที่ตั้งนี่คือทฤษฎี ก็คิดว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ในอนาคตก็อาจจะต้องทำต่อไป นพ.จเด็จ กล่าว

3

สปสช. พร้อมสนองนโยบายผู้ว่าฯ ทันที

จากนโยบาย 214 ข้อของนายชัชชาติ ที่ออกมานั้น นพ.จเด็จ บอกว่า เมื่อดูแล้วจะพบว่ามี 9 ข้อที่เกี่ยวกับบริการสาธารณสุข และ สปสช. สามารถสนับสนุนได้หมดแน่นอน เช่น การจะขยายการตรวจนอกเวลาของศูนย์บริการสาธารณสุข การบริการโมบายรถสุขภาพเชิงรุก หรือรถโมบายเพื่อให้บริการผู้ป่วยในชุมชน ซึ่งมองว่าหากจะทำเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคร่วมด้วยก็ยังได้ และ สปสช. ก็ยินดีที่จะสนับสนุนเงินให้

จากการศึกษานโยบายอย่างละเอียด พบว่าในทุกข้อไม่ได้มีข้อขัดแย้งกับกลไกของ สปสช. และจากการพูดคุยกับฝั่ง กทม. สปสช. ก็ได้นำนโยบายทั้งหมดเข้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) ใน กทม. เป็นที่เรียบร้อย

ให้เราไปเป็นเจ้าภาพในบางบทบาทอาจจะไม่ใช่ เพราะเราเป็นคนสนับสนุนงบประมาณ เรายินดีสนับสนุนการนำของท่านผู้ว่า กทม. และจะทำกลไกทุกอย่างเพื่อทำให้นโยบายของท่านสำเร็จ

สิ่งหนึ่งคืออยากให้ความมั่นใจว่า สปสช. ไม่ใช่ตัวอุปสรรค เพราะจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มักจะพูดกันว่าติดอยู่ที่ สปสช. ฉะนั้น นพ.จเด็จ จึงบอกว่า ตนเองอยู่ตรงนี้ต้องไม่ติด

4

ทั้งหมดทั้งมวล ตั้งต้นจากประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ สปสช. เป็นองค์กรที่ถูกตั้งมาเพื่อทำหน้าที่แทนประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ รวมไปถึงจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยบริการอย่างเหมาะสม

สำหรับบริการปฐมภูมิใน กทม. เป็นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น และจะเป็นคำตอบให้แก่ระบบหลักประกันทั่วโลก เพราะบริการปฐมภูมิในเขตเมืองหลวงแทบจะไม่มีประเทศที่เป็นตัวอย่างที่โดดเด่น

ถ้าเราทำสำเร็จอาจจะยิ่งกว่าอยู่ท็อป 3 ท็อป 1 ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก หรือว่าลอนดอนทุกที่มีปัญหาเรื่อง Primary Care ในเขตเมืองหลวง เพราะมีปัญหาซับซ้อนในเมืองหลวงเยอะ คนจน คนไร้บ้านอย่าคิดว่าเมืองหลวงต้องมีแต่คนรวยเท่านั้น นพ.จเด็จ ระบุ

นพ.จเด็จ ย้ำว่า สปสช. เป็นผู้สนับสนุน หากวันนี้บริการปฐมภูมิในเขตเมืองหลวงมีเจ้าภาพ สปสช. ก็จะยินดีที่จะเข้าไปสนับสนุนให้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะผู้ว่าฯ ก็มีหน้าที่ และความรับผิดชอบที่จะต้องตอบคำถามประชาชน เฉกเช่นเดียวกับ สปสช.