ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ถ้า Reflex Action คือปฏิกิริยาตอบสนองฉับพลันต่อความเจ็บปวด … Mazophilia ก็อาจใช้นิยาม “ความหลงใหล” หน้าอกของเพศชายได้ระดับหนึ่ง

ความหลงใหลจดจ่อกับหน้าอกสตรีเพศ เป็นหนึ่งในปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นทางเพศอย่างเข้มข้น ทว่าจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีคำอธิบายต่อพฤติกรรม “ทาสนม” ชนิดทุบโต๊ะเด็ดขาดว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่

บ้างก็ว่าหื่นตามธรรมชาติ บ้างก็อ้างสัญชาตญาณทางเพศ บ้างก็ว่าเป็นสันดานดิบของมนุษย์

มีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มตั้งสมมติฐานไว้ว่า เหตุที่หน้าอกของเพศหญิงสามารถดึงดูดให้เพศชายจับจดอยู่ได้ เนื่องจากหน้าอกเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็น “เพศหญิง” อันดับสอง รองลงมาจากเครื่องเพศ

นักจิตวิทยาด้านการวิวัฒนาการเสนอทฤษฎีว่า ลักษณะของหน้าอกที่ใหญ่ “ถาวร” ของมนุษย์ (ซึ่งแตกต่างกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เต้านมจะใหญ่เฉพาะในช่วงสืบพันธุ์) เรียกร้องความสนใจจากผู้ชายได้ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้อยู่ในช่วงของการสืบพันธุ์ก็ตาม

บางทฤษฎีอ้างว่า ความหลงใหลในหน้าอก หรือภาษาในโซเชียลมีเดียที่เรียกว่า “ทาสนม” นั้น เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดจาก “การติดต่อกันทางความคิด” หรือ Meme โดยจะระบาดจากหัวหนึ่งไปสู่อีกหัวหนึ่งเรื่อยๆ กระทั่งกระจายทั่วจนกลายเป็นกระแสหลักของสังคม ที่สุดแล้วหน้าอกจึงมีหน้าที่ในการสร้างอิทธิพลทางเพศมากกว่าอวัยวะสำหรับให้นมบุตร

นอกจากนี้ ยังมีการสืบค้นกลับไปในประวัติศาสตร์ โดยมีข้อมูลที่อ้างอิงว่า ความหลงใหลในหน้าอกมีมาตั้งแต่เมื่อ 3.5 หมื่นปีที่แล้ว โดยเชื่อว่าหน้าอกแสดงถึงความสมบูรณ์และการให้กำเนิด ขณะที่อีกข้อมูลอ้างว่าเพศชายเริ่ม “บูชา” เพศหญิงและหน้าอก ในยุคหินใหม่ (Neolithic) โดยพบว่าสมัยนั้นมีการสร้างวิหารบูชาเทพเจ้าเพศหญิง และผนังต่างๆ ปรากฏรูปหน้าอกเป็นคู่ๆ หลายแห่ง

ปี 1964 มีภาพยนตร์ชื่อ Lorna คัดเลือกนักแสดงนำจากขนาดของหน้าอก เพราะวิเคราะห์กันว่าหน้าอกของสตรีเป็นสิ่งดึงดูดความหน้าสนใจของภาพยนตร์

ศาสตราจารย์ แลร์รี่ ยัง นักประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัย Emory บันทึกทฤษฎีของเขาลงในหนังสือ The Chemistry Between Us โดยระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายกับ “เต้านม” เริ่มตั้งแต่แรกเกิดที่ได้ดูดนมมารดา ความสัมพันธ์ดังกล่าวสร้างให้เกิดความผูกพันและความรู้สึกรัก นอกจากนี้บริเวณหัวนมยังจะปล่อยสาร Oxytocin หรือสารแห่งความรักเมื่อถูกกระตุ้น

งานวิชาการอีกเล่มได้รองรับสมมติฐานดังกล่าว โดยระบุว่า ในขณะที่บุตรดูดนมมารดา สาร Oxytocin ที่ปล่อยออกมาเป็นตัวการสำคัญในการสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก

ทว่า Fran MasciaLees แห่ง Rutgers University กลับตั้งข้อสังเกตแก้ทฤษฎีข้างต้น โดยตั้งคำถามว่า ชนเผ่าพื้นเมืองในแอฟริกาซึ่งผู้หญิงเปิดหน้าอกเปลือยโล่งเป็นปกติ เหตุใดผู้ชายในเผ่าจึงไม่แสดงอารมณ์หื่นกระหายต่อหน้าอกหรือหัวนมผู้หญิงในเผ่าสักเท่าไร

ความเร้นลับของหน้าอกผู้หญิงจากอดีตกาลจนถึงเสี้ยววินาทีนี้ ยังคงเป็นปริศนาต่อไป