การทำงานแบบสายตัวแทบขาด หรือการทำงานที่ราวกับว่า “กำลังถูกใครลงโทษ” อยู่นั้น คือสภาพความเป็นจริงที่ “บุคลากรทางการแพทย์” ในประเทศไทยกำลังเผชิญ
ความสุขในการทำงานกลายเป็นเรื่องเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการถึง เสียงเรียกร้องถึงความเป็นธรรม และสวัสดิการอันพึงมีของบุคลากรแวดวงสุขภาพจึงดังขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา มีการประชุมหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นความพยายามของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะร่วมกันคลี่คลายปัญหาเรื่อง “ชั่วโมงการทำงาน” ของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข
นั่นคือ การประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์ ภายใต้คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี นายทวีศักดิ์ ทักษิณ ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นประธาน
แพทย์ทำงานรากเลือด เพิ่มความเสี่ยงคนไข้
สำหรับการพูดคุยในวันดังกล่าว เริ่มจากการพิจารณาเรื่อง การกำหนดกรอบอัตรากำลังเพื่อแก้ไขปัญหาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ โดยผู้เสนอเรื่อง ได้แก่ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร และ กลุ่ม Nurse Connect ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานกับรัฐบาล มีชั่วโมงการทำงานที่สูงมากทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ
กล่าวคือ แพทย์กว่า 60% ของแพทย์ทั้งหมด ทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
แพทย์กว่า 30% ทำงานเกิน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แพทย์บางคนต้องทำงานดูแลคนไข้ติดต่อกันนานกว่า 40 ชั่วโมง โดยไม่มีเวลาพักผ่อน
เหล่านี้ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการดูแลคนไข้ ที่อาจได้รับการดูแลอย่างไม่มีประสิทธิภาพได้
หนำซ้ำ การที่แพทย์มีชั่วโมงการทำงานที่สูงมากต่อสัปดาห์ มีผลต่อร่างกายและจิตใจแพทย์โดยตรง แพทย์หลายคนลาออกจากราชการแม้จะมีค่าตอบแทนเป็นเวร แต่แพทย์ส่วนใหญ่ไม่สามารถเลือกได้ว่าประสงค์จะอยู่เวรหรือไม่ เนื่องจากหลายโรงพยาบาลมีจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอต่อจำนวนคนไข้
ค่าแรงนอกเวลาพยาบาล ชั่วโมงละ 30 บาท
กลุ่ม Nurse Connect เน้นย้ำประเด็นเพิ่มโดยโฟกัสที่ “พยาบาล” ว่า พยาบาลจำนวนมากต้องทำงานกว่า 71-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งการทำงานที่เป็นมาตรฐานสากลนั้น ไม่ควรเกินกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
การทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ควรเป็นสิทธิ (ความสมัครใจ) ไม่ใช่เป็นสภาวะจำยอ การทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
อีกทั้งเงินเดือนของพยาบาลยังไม่สอดคล้องกับชั่วโมงการทำงานของพยาบาล โดยเฉลี่ยฐานเงินเดือนอยู่ที่ 1.5-2 หมื่นบาท การทำงานนอกเวลา ได้เวรละ 240 บาท ซึ่งเฉลี่ยชั่วโมงละ 30 บาท ถือว่าน้อยมากไม่สอดคล้องกับภาระงานและอัตราค่าครองชีพ
กระทรวงหมอชี้ บางจังหวัดคนไข้ก็น้อย
ทางด้านผู้แทนจาก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า กรอบอัตรากำลังการออกตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) จะพิจารณาจากภาระงาน การสอนนักศึกษาแพทย์ การเขียนงานวิชาการ โดยมีคณะกรรมการหลายภาคส่วนดูแลร่วมกัน
สำหรับจำนวนชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์นั้น อยู่ระหว่างการสำรวจและรวบรวมจากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักปลัด สธ. อยู่ โดยปกติแล้วแพทย์ใช้ทุนในปีแรก (Intern) จะทำงานประมาณ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัด เนื่องจากว่ามีจำนวนคนไข้จำนวนมาก แต่ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก แพทย์อาจทำงานน้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้ เพราะมีคนไข้น้อย
ทั้งนี้ การที่แพทย์ได้ออกตรวจคนไข้ในวันเสาร์-อาทิตย์ ถือเป็นการออกตรวจนอกราชการ
สำนักงานปลัด สธ. มีแพทย์ทั้งที่ทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้บริหาร เช่น ผู้บริหารของ สธ. และส่วนราชการภายใน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ
อัตรากำลังขาดเพราะแพทย์ไปศึกษาต่อ 4,000 คน
แพทย์ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารบางครั้งได้มาออกตรวจคนไข้ OPD ด้วยเช่นกัน แต่มีอาจารย์แพทย์ แพทย์เฉพาะทาง (Specialist Physician) รวมถึงแพทย์นักเรียนทุนรัฐบาล ที่อยู่ระหว่างอบรมหรือลาศึกษาต่อเฉพาะด้านในต่างประเทศ ประมาณกว่า 4,000 คน ซึ่งอาจทำให้อัตรากำลังขาดไปได้
แต่อย่างไรก็ตาม ในทุกๆ ปีแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศจะเดินทางกลับมาปฏิบัติราชการในระบบราชการต่อไป
ทั้งนี้ข้อมูลจำนวนเชิงปริมาณของแพทย์ ควรสอบถามไปยังแพทยสภาโดยตรง เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับประวัติของแพทย์ และการอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์โดยตรง
สธ.แจงยิบ หลักการบรรจุอัตรากำลัง
ในกรณีที่นักศึกษาแพทย์สำเร็จการศึกษาเป็นแพทยศาสตรบัณฑิตแล้ว ต้องมาใช้ทุนตามโรงพยาบาลของรัฐต่างๆ ทั่วประเทศ สธ.ต้องกำหนดตำแหน่งขึ้นใหม่ ซึ่งต้องเสนอสำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อขอความเห็นชอบ โดยแพทย์ที่เป็นนักเรียนทุนจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งต่อเมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นแพทยศาสตรบัณฑิต และสอบได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา
ทั้งนี้ กรอบอัตรากำลังจะขึ้นอยู่กับภาระงานที่จำเป็น ประกอบกับสายงานหลักของแต่ละวิชาชีพตามความยากง่ายที่แตกต่างกัน ก่อนที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาคำนวณเป็นกรอบอัตรากำลังอีกครั้งนึง
การขออัตรากำลังตัง้ใหม่ไปยังสำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ส่วนใหญ่จะขอในตำแหน่งนักเรียนทุนคู่สัญญาที่จำเป็นจะต้องบรรจุเข้ามาในสายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ที่ต้องเข้ามาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนรัฐบาล แต่ภายหลังได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นพนักงานราชการแทน
ในปี พ.ศ. 2563 สธ. ได้ขออัตรากำลังตั้งใหม่ให้บรรจุบุคลากรที่มีประสบการณ์ทำงานกับ สธ. โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้เป็นกรณีพิเศษเนื่องจากเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการป้องกันโควิด-19
ในปี พ.ศ. 2565 ได้ขออัตรากำลังตั้งใหม่ โดยดูจากตำแหน่งว่างประกอบการพิจารณา เพื่อบรรจุนักเรียนแพทย์เข้ามาเป็นข้าราชการ ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของสำนักงาน ก.พ.
ในปัจจุบันมีอัตราการผลิตแพทย์จำนวนกว่า 3,000 คนต่อปี โดย 2,700 คนนั้น มาจากสถานศึกษาของรัฐ ซึ่งมีแพทย์ที่ต้องชดใช้ทุนรัฐบาลจำนวนประมาณ 2,000 คนต่อปี เมื่อจบแพทยศาสตรบัณฑิตจะต้อบเพิ่มพูนทักษะการเป็นแพทย์ 1 ปี หลังจากนั้นจะไปใช้ทุนรัฐบาลประมาณ 1-3 ปี ก่อนศึกษาต่อเฉพาะทาง
ก.พ. ยืนยัน ครม.อนุมัติเกือบทุกคำขอของ สธ.
ขณะที่ ผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ให้ข้อมูลว่า การจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการตั้งใหม่ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงก่อนปี พ.ศ. 2560 มีคำขออัตรากำลังตั้งใหม่ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร โดย สธ. มีคำขอมาทุกปี
ในทุกครั้งที่ขอมา ครม. อนุมัติให้ทุกคำขอ เพื่อป้องกันการขาดแคลนอัตรากำลังของบุคลากรทางการแพทย์ โดยอนุมัติไปกว่า 1.2 แสนอัตรา และในช่วงภายหลังปี 2560 ครม. ได้อนุมัติงบประมาณร้อยละ 80 ของอัตรากำลังที่ขอมา เนื่องจากงบประมาณมีจำนวนจำกัด โดยส่วนใหญ่จะอนุมัติในตำแหน่งของบุคลากรทางการแพทย์
สภาการพยาบาล ระบุ ค่าตอบแทนน้อยไป
ผู้แทนสภาการพยาบาล ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ไม่ควรมีการจำกัดสิทธิของบุคลากรทางการแพทย์ไม่ว่าประเภทใดก็ตาม ควรมีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม บุคลากรใน สธ.มีข้อจำกัด ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานล่วงเวลา (OT)
โดยเฉพาะพยาบาลทำงานหนักต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง ทำให้พยาบาลหลายคนมีปัญหาด้านสุขภาพเนื่องมาจากการทำงานหนัก การเก็บข้อมูลของบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยยังไม่เพียงพอหากเทียบกับต่างประเทศ ทำให้ไม่ทราบข้อมูลการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอ
การให้บริการด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ค่าตอบแทนที่บุคลากรได้รับควรเป็นธรรม การที่พยาบาลได้รับค่าตอบแทนของการอยู่เวร (เวรผลัด เวรบ่าย-ดึก) ในอัตรา 240 บาท (Fixed Rate) เห็นว่าค่อนข้างน้อยไปมาก หากเทียบกับภาระหน้าที่
การแก้ไขปัญหาควรแก้ไขทั้งระบบเชิงโครงสร้าง และปัญหาด้านงบประมาณที่จัดสรรให้ไม่เพียงพอด้วย
สปสช.พร้อมสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร
ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ในด้านการเงิน ไม่ได้ตัดงบประมาณในด้านค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์ งบประมาณที่เหลือเอามาจัดสรรปันส่วนในด้านการให้บริการ และการบำรุงโรงพยาบาล ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะมีอำนาจในการบริหารงบประมาณบำรุงโรงพยาบาลของตนเอง
บริบทที่เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์จะดำเนินการให้ โดย สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
สรพ.เสนอทางออกเบื้องต้น
ผู้แทนสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า มีการใช้ Hospital Accreditation (HA) ในการประเมินโรงพยาบาลต่างๆ กล่าวคือกลไกประเมินเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระบบงานภายในของโรงพยาบาล โดยจะประเมินว่าสถานพยาบาลมีคุณภาพอย่างไร ให้บริการแก่ประชาชนเป็นอย่างไรในแง่ของบุคลากร ภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) ที่มีอยู่
จะต้องบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องคำนึงถึงความกินดีอยู่ดีของบุคลากรประกอบกับความปลอดภัยของคนไข้ โรงพยาบาลต้องวางระบบโดยคำนึงถึงผลกระทบและความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า การอยู่เวรครั้งละ 8 ชั่วโมงนั้น อาจปรับเป็นครั้งละ 12 ชั่วโมง เพื่อที่จะไม่ได้อยู่เวรถึง 16 ชั่วโมง ในภาพรวมจะเป็นการลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลงมา
5 ประเด็นความเห็นของอนุกรรมาธิการ
คณะอนุกรรมาธิการฯ มีความเห็นใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1. ควรเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยอาจนำเงินบำรุงจากโรงพยาบาล เงินนอกระบบ เพิ่มเข้าไปในเงินเดือนเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน
2. ควรตรวจสอบมาตรฐาน HA อย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุรภาพการให้บริการ ตลอดจนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ 3. ควรมีเวทีกลางในการรับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตรากำลังและชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์
4. อาจจัดให้มีการศึกษาดูงานในโรงพยาบาล เพื่อลงพื้นที่รับฟังปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ 5. ขับเคลื่อนทางการเมืองให้มากขึ้น อาจทำเป็นแคมเปญการสื่อสารทำงานเมือง เสนอแนวทางการแก้ปัญหา (Solution) ให้ผู้บริหารฝ่ายการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบายรับทราบ
อนึ่ง ที่ประชุมจะรวบรวมข้อสรุปของที่ประชุม เพื่อจัดทำรายงานเสนอแก่คณะกรรมาธิการแรงงานฯ พิจารณาต่อไป พร้อมกันนี้ยังได้นัดหมายการประชุมคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้งในวันที่ 28 ก.ค. 2565 นี้
- 2293 views