ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติ เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ระบุให้สถานพยาบาลบริหารจัดการยา-วัคซีน-เวชภัณฑ์ ใช้กระบวนการเดียวกับโรคติดเชื้ออื่นๆ ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ์ พร้อมพิจารณาปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2565 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีการหารือใน 4 ประเด็นสำคัญ 

ประกอบด้วย 1. มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ได้แก่ สามารถควบคุมการระบาดให้สถานการณ์อยู่ในระดับรุนแรงน้อย โดยพิจารณาตามจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่อวัน อัตราครองเตียงผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต 

อย่างไรก็ดี รวมถึงสามารถเข้าถึงบริการวัคซีน ยาต้านไวรัสได้ง่ายและสะดวก และประชาชนมีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม ส่วนแนวทางปฏิบัติ แบ่งเป็น ด้านกฎหมายปรับสถานะโรคโควิด19 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

นอกจากนี้ ด้านการแพทย์ปรับแนวทางแยกกักผู้ป่วย สถานพยาบาลเอกชน และคลินิกสามารถจัดหายาต้านไวรัสเพื่อให้บริการ ส่วนด้านสาธารณสุข ปรับระบบรายงานโรคและกักกันผู้สัมผัส และด้านการสื่อสารสังคม สร้างความรู้ความเข้าใจประโยชน์ของวัคซีน การจัดการเมื่อมีผู้ติดเชื้อในครอบครัว มาตรการบุคคลและองค์กร 

ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการหลังการระบาดใหญ่ (Post Pandemic) มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการบริหารยา วัคซีน เวชภัณฑ์ ซึ่งได้สื่อสารให้โรงพยาบาลในสังกัดต่างๆ เตรียมการจัดหายาต้านไวรัสเอง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ โดยใช้กระบวนการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเช่นเดียวกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ์ 

2. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. .... และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อ ที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยได้พิจารณาปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

 3. รับทราบสถานการณ์ และการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ซึ่งพบแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และประชาชนเริ่มมีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลรักษา อย่างไรก็ตาม สธ. ยังคงเน้นให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมเรื่องเตียง การใช้ยาอย่างเหมาะสม และการฉีดวัคซีน รวมถึงให้โรงพยาบาลพิจารณาการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ซึ่งกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ และกรุงเทพมหานครแล้ว 

4. โรคฝีดาษวานร ปัจจุบันพบผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทยแล้ว 4 ราย ซึ่งประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ทั้งที่สนามบิน สถานพยาบาล ชุมชนแหล่ง ท่องเที่ยว โดยได้มีการสั่งวัคซีนป้องกันฝีดาษมาใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ แบบ pre-exposure prophylaxis และ ผู้มีความเสี่ยงสูงสัมผัสผู้ป่วยแบบ post-exposure prophylaxis                                                                                            

“ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตประจำวันโดยยึดหลักประชาชนอยู่ร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปีอาจมีการระบาดในบางช่วงเวลา ซึ่งการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมักเกิดกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนและกลุ่มเสี่ยง 608 โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเอง ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น กินอาหารร้อนปรุงสุก ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งโรคโควิด-19 และฝีดาษวานร นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่มีอาการเข้าข่ายของโรคฝีดาษวานร โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หนอง ตามผิวหนัง หรือคนแปลกหน้า งดการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่รู้จักเพราะมีความเสี่ยง หากสงสัยว่ามีอาการป่วยเข้าข่าย สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที” นายอนุทิน กล่าว