ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศบัลแกเรีย ซึ่งเป็นประเทศในแถบยุโรปตะวันออก มีประชากรที่ล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในอัตราค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศยุโรปอื่นๆ

รายงานล่าสุดของ องค์การอนามัยโลก (WHO) เรื่อง “Can people afford to pay for health care? New evidence on financial protection in Bulgaria” หรือ “ผู้คนจะสามารถซื้อบริการสุขภาพได้หรือไม่? ข้อคนพบใหม่ด้านการคุ้มครองทางการเงินในบัลแกเรีย” มีความน่าสนใจในระดับที่ The Coverage เต็มใจจะนำเสนอ

รายงานของ WHO ฉบับนี้ เสนอประเทศบัลแกเรียเปลี่ยน “ระบบร่วมจ่ายประกันสุขภาพ” ไปสู่การเป็น “ระบบเก็บธรรมเนียมรายครั้ง” ในราคาไม่สูงมาก พร้อมขอให้ขยายความครอบคลุมกองทุนประกันสุขภาพให้ประชากรทุกคนได้ประโยชน์

แอนโทนียา ดีโมวา (Antoniya Dimova) คณบดีประจำคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยการแพทย์วาร์นาในบัลแกเรีย และผู้จัดทำรายงาน กล่าวว่า รัฐบาลบัลแกเรียมีความพยายามยกระดับระบบสุขภาพ และช่วยเหลือผู้มีปัญหาทางเงินให้เข้าถึงการรักษา แต่ยังคงมีช่องว่างในการเข้าถึงบริการ

1

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลบัลแกเรียตั้งกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ NHIF (National Health Insurance Fund) เป็นแหล่งระดมงบประมาณจากภาครัฐเพื่อสร้างสวัสดิการสุขภาพให้ประชาชน โดยใช้ระบบร่วมจ่ายระหว่างรัฐและปัจเจกบุคคล และดูแลค่ารักษาพยาบาลให้กลุ่มคนยากจนรุนแรง

แต่พบว่ายังมีประชากรอีก 15% ที่ไม่ได้รับสวัสดิการนี้ เพราะไม่มีกำลังสมทบเงินเข้ากองทุน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์นิยามการเป็นคนจนรุนแรง แต่ก็ไม่ได้มีรายได้มากพอที่จะจ่ายค่าประกันสุขภาพ

นอกจากนี้ ระบบร่วมจ่ายยังไม่เป็นผลดีต่อการเข้าถึงยา เพราะราคายาในบัลแกเรียมีราคาเฉลี่ยสูงกว่าประเทศยุโรปอื่นๆ ขณะที่มีการกำหนดอัตราส่วนการร่วมจ่ายตายตัว นั่นหมายถึงประชาชนต้องร่วมจ่ายค่ายาในราคาที่สูงตาม ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่มีกำลังจ่ายหลีกเลี่ยงการใช้บริการสุขภาพ

ในปี 2561 มีครัวเรือน 1 ใน 5 ที่มีค่าใช้จ่ายทางสุขภาพเกินความสามารถของสมาชิกในครัวเรือนจะจ่ายได้ นั่นหมายความว่าครัวเรือนเหล่านี้อาจไม่สามารถซื้อสินค้าหรือบริการที่จำเป็นอื่นๆ เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย และไฟฟ้า

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของชาวบัลแกเรียส่วนมากเกิดจากบริการผู้ป่วยนอก โดย คนจน ผู้สูงอายุ และผู้อยู่อาศัยในชนบท ได้รับผลกระทบมากที่สุด และมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ก่อให้เกิดการล้มละลายเพิ่มขึ้นทุกๆปี

รายงานชิ้นดังกล่าวชี้ว่า แม้ว่าระบบสุขภาพของบัลแกเรียจะพัฒนาไปมากกว่าอดีต แต่ 39% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศยังจ่ายโดยผู้รับบริการ ขณะที่อัตราเฉลี่ยในสหภาพยุโรปอยู่ที่ 21%

"เมื่อผู้รับบริการยังต้องแบกค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเป็นหลัก ย่อมหมายถึงความท้าทายในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีหลักการเน้นให้ทุกคนเข้าเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานะทางการเงิน" ทามาส เอเวโทวิทส์ (Tamás Evetovits) หัวหน้าฝ่ายการเงินระบบสุขภาพ องค์การอนามัยโลก สำนักงานบาร์เซโลนา ให้ความเห็น

2

รายงานขององค์การอนามัยโลกเสนอแนะให้มีนโยบายประกันสุขภาพในระดับชาติ ที่ครอบคลุมประชากรทุกคนในประเทศ รวมทั้งผู้ที่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่ายาได้

ในภาพรวม องค์การอนามัยโลกเสนอให้รัฐบาลบัลแกเรียควรขยายความครอบคลุมของกองทุน NHIF ให้ประชากรทุกคน และเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่จำเป็น รวมทั้งเปลี่ยนจากระบบร่วมจ่ายด้วยการกำหนดอัตราส่วน เป็นการคิดค่าบริการไม่แพงมาก (เช่นในกรณีของบัตรทองที่เคยคิดค่าบริการเพียง 30 บาทต่อครั้ง)

นอกจากนี้ รัฐบาลควรหาวิธีควบคุมราคายาให้ไม่สูงเกินพอดี และเพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพ เพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐยังถือว่าต่ำมาก อยู่ที่ 4% ของจีดีพีในปี 2562 ขณะที่อัตราส่วนเฉลี่ยของประเทศในสหภาพยุโรปอยู่ที่ 6% ต่อจีดีพี

อ่านข่าวฉบับเต็มที่:
https://www.who.int/europe/news/item/19-07-2022-bulgaria-s-high-out-of-pocket-payments-for-health-care-undermine-progress-towards-universal-health-coverage

อ่านรายงาน Can people afford to pay for health care? New evidence on financial protection in Bulgaria ฉบับเต็มที่:
https://www.who.int/europe/publications/i/item/9789289056212