ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“จิงโจ้” คือ Code หรือ รหัสลับ ที่เข้าใจกันเฉพาะในแวดวงนักศึกษาแพทย์-พยาบาล สถาบันชั้นนำของประเทศ ซึ่งหมายถึงการก่ออัตวินิบาตกรรมด้วยการ “กระโดดตึก”

“มี code จิงโจ้ ที่ตึก ...” หมายถึง มีนักศึกษาแพทย์ 1 ศพ

ลึกลงไปภายใต้ความผิดปกติที่ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติ จนถึงขั้นมี Code หรือรหัสลับเรียกขานกันอย่างชินปาก คือแรงกดทับขนาดมหึมาที่นักศึกษาแพทย์ต้องเผชิญตลอดระยะเวลา 6 ปี

ความเครียด ความกดดัน การต่อสู้ และการห้ำหั่น บนความคาดหวังที่ตัวเองต้องแบกรับ

การเรียนจึงเปรียบเสมือน “การวิ่งมาราธอน” ตลอด 6 ปี ที่ไม่สามารถหยุดหรือพักได้เลย เพราะหากผิดพลาดย่อมหมายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ เมื่ออาการเจ็บป่วยทำให้ต้องหยุดเรียน หยุดเรียนก็ไม่สามารถจัดตารางเรียนให้ต่อเนื่องได้ สุดท้ายเรียนไม่ทันจึงต้องดร็อป และขยายแผลไปสู่การตีความว่า “นี่คือความล้มเหลวของชีวิต”

สภาพการณ์เช่นนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาแพทย์จำนวนมากเครียดสะสม ซึ่งอาจรุนแรงไปถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือเสี่ยงทำให้เขาคิดว่าการจบชีวิตตนเอง (Suicide) คือทางออก

ขณะที่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้บีบบังคับให้นักศึกษาแพทย์ต้องเรียนออนไลน์ ประกอบกับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น การพบปะพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรอบข้างน้อยลง ความเครียดจากปัญหาครอบครัว และความหวาดระแวงเรื่องโรคระบาด ยิ่งขับเน้นให้นักศึกษาแพทย์ประสบภาวะเครียดจัดขึ้นกว่าเดิม

ผลวิจัยเรื่องความเครียดระหว่างการเรียนออนไลน์ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ของนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตีพิมพ์ในวารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปีที่ 29 ฉบับที่ 4 (2564) ระบุว่า จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 300 คน พบว่าร้อยละ 54.7 มีความเครียดในระดับที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดมากที่สุดมาจาก “การสอบออนไลน์” คิดเป็นร้อยละ 67.3

รองลงมาคือ “การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ลดลง” ร้อยละ 49.2 “ปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในครอบครัว” ร้อยละ 39.7 และ “ปัญหาสุขภาพจิตส่วนตัว” ร้อยละ 35.1

“เราเรียนออนไลน์ ซึ่งอาจารย์จะให้มาเป็นคลิป 4 ชั่วโมง บางทีเราเรียนทั้งวันเลยคลิปนั้น แปลว่าเราอยู่ในห้องเพื่อเรียนหนังสือเกือบทั้งวัน เหมือนกับว่าเราอยู่กับตัวเองมากขึ้น และพอเราอยู่กับตัวเองมากไปบวกกับการต้องเรียน มันค่อนข้างทำให้เราเครียดมากขึ้น” ตัวแทนนักศึกษาแพทย์จากกลุ่ม undergown by SCOME IFMSA-Thailand บอกกับ The Coverage

เพราะไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อนทำให้อาจารย์ผู้สอนต้องปรับตัวอย่างมากในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นักศึกษา ซึ่งวิธีต่างๆ จึงเหมือนการทดลองไปด้วยในตัว บางรายวิชาจึงมีการสอบที่มากขึ้นกว่าตอนเรียนในสถานการณ์ปกติ เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไม่สามารถประเมินนักศึกษาได้ รวมถึงการทำวิดีโอให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก

สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาทำให้พฤติกรรมและวงจรเวลาชีวิตของนักศึกษาแพทย์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีผลต่อการเกิดความเครียดง่ายขึ้น อาทิ การเรียนผ่านคลิปวิดีโอที่ต้องใช้เวลามากกว่าการเรียนในรูปแบบปกติ ทำให้เวลาในแต่ละส่วนถูกขยับ เวลานอนถูกเบียดขับให้น้อยลง เมื่อต้องตื่นมาเรียนวันถัดไป การบังคับให้ตนเองมีสมาธิพร้อมเรียนรู้ (Productive) จึงเป็นไปได้ยาก

ในมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรผลิตแพทย์ในประเทศไทย จะมีแบบสอบถามเกี่ยวกับความเครียดและโรคซึมเศร้าให้กับนักศึกษาประเมินตนเองเสมอ ทว่าด้วยอาการที่มีความซับซ้อนจึงยากที่นักศึกษาจะตอบตามตัวเลือกที่มีมาให้ หรือแม้จะมีช่องทางให้นักศึกษาแพทย์ได้พูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อบำบัดรักษา แต่ด้วยการเรียนออนไลน์ทำให้การเข้าถึงช่องทางเหล่านั้นมีข้อจำกัดมากขึ้น

“พอเป็นยุคโควิดแล้วต้องเรียนออนไลน์ การเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตของเรามันค่อนข้างที่จะยากขึ้น คือพอเรียนออนไลน์ การที่เขา Approach ปัญหาของเราก็คือพอเรามีปัญหาให้เราติดต่อไปหาเขา แต่คนเป็นโรคซึมเศร้า ถ้าเขารู้ว่าเขาป่วย เขาก็อยากหาย แต่ว่าจะให้เขา Approach เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเดียวก็คงไม่ไหว มันก็ต้องมีการ Approach มาถึงเราด้วย

“ด้วยความที่เวลามาเรียนออนไซต์ อย่างน้อยยังได้เจอเพื่อน ได้คุย ได้กินข้าวด้วยกันบ้าง พอเราเป็นออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่ามันไม่ได้มีโมเม้นต์ตรงนั้นเลย ไม่ได้มีคนที่ค่อยคุยด้วย คอยสังเกตอาการเราตลอด” ตัวแทนนักศึกษาแพทย์ เผย

นอกจากนี้ นักศึกษาแพทย์เองมองว่าการพยายามรักษาตัวเองอาจทำให้เกิดปัญหาด้านการเรียนทับซ้อนขึ้นมาอีก ตัวแทนนักศึกษาแพทย์ อธิบายว่า ถ้าเกิดตัวเรามีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมาและต้องไปพบจิตแพทย์ ซึ่งหมายถึงการต้องเจียดเวลาอ่านหนังสือเพื่อไปบำบัดรักษา ทำให้บางคนรู้สึกว่าอาจจะไม่คุ้มหากต้องเสียเวลาดังกล่าวไป

ทางด้าน ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกกับ The Coverage ว่า บรรยากาศในคณะแพทย์ เด็กแทบไม่มีเรื่องอื่น คุณค่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับเรื่องเรียน ซึ่งชีวิตดูปิดกั้นมาก กลายเป็นว่าค่าของพวกเขาถูกกำหนดด้วยผลการเรียนโดยไม่รู้ตัว ซึ่งลักษณะชีวิตแบบนี้เป็นมาตั้งแต่สมัยประถม-มัธยมแล้ว แต่เมื่อเป็นระดับอุดมศึกษาการเรียนจะยากขึ้นเรื่อยๆ สัมฤทธิ์ผลที่น้อยลง แทนที่จะมองว่ายาก ก็อาจจะถูกตีความว่าเก่งน้อยลง แย่ลง

ขณะที่คนทั่วไปเข้าใจว่า เรียนเก่งเท่ากับดี ทำให้ชื่นชมแต่ผลการเรียน ไม่ทราบว่า เบื้องหลังในความเก่งเหล่านั้นต้องแลกมาด้วยระดับความเครียดอย่างไรบ้าง ผลกระทบต่อวงจรความเครียด การควบคุมอารมณ์ การคิดตัดสินใจให้คุณค่า และสร้างความเชื่อที่ว่าล้มเหลวไม่ได้ ที่อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุให้นักศึกษาแพทย์บางรายถึงขั้นเลือกที่จะจบชีวิตตนเอง

“ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า มีนิสิตนักศึกษาแพทย์ที่เครียดจนถึงขั้นตัดสินใจฆ่าตัวตาย และมีอีกจำนวนมากที่เคยคิดแบบนั้นขึ้นมา จากการพบว่าชีวิตในปัจจุบัน ไม่ได้สัมฤทธิ์ผลเหมือนที่ต้องการและคาดหวัง รวมถึงเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า ซึ่งไม่ใช่ทางกายภาพแต่เป็นทางจิตใจ คือเขารู้นะครับ ว่าพยายามมากขึ้น ผลการเรียนก็อาจจะดีขึ้น แต่เขาเหนื่อยมากแล้ว

“ระบบการศึกษาที่เคร่งเครียด จะประเมินวัดผล สอบโน่นนี่ตลอดเวลา ถ้าไม่เข้าใจบางคาบหรือขาดเรียนไปช่วงหนึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นคอมโบ เลยเหมือนกับถอยไม่ได้ พลาดไม่ได้ เครียดมาก ถ้าสุดท้ายเรียนไม่จบคงอับอายแถมเสียดายเงินและเวลา มันทำให้ผู้เรียนรู้สึกเหมือนอยู่ใน Survival mode (เอาชีวิตรอด) แรงจูงใจในชีวิตไม่ใช่ความสุขแต่เป็นความกลัว คือกลัวตัวเองจะไม่รอด แถมปนการแข่งขันด้วยเพราะตัดเกรดแบบอิงกลุ่มด้วย ซึ่งเมื่อคนเรารู้สึกว่า ตัวเราเองยังไม่รอด ยังไม่มีความสุขเลย โอกาสจะมีใจไปอยากช่วยเหลือใครก็คงไม่ค่อยไหว ถ้าเราอยากให้นิสิตนักศึกษาเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความรักและห่วงคนไข้ อาจารย์แพทย์ก็ต้องทำก่อน เห็นอกเห็นใจพวกเขาและห่วงใยพวกเขาก่อน” ผศ.นพ.ภุชงค์ ระบุ

ผศ.ดร.ภุชงค์ กล่าวว่า สถาบันการศึกษามุ่งผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นมาก มหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทย์เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของยุคสมัยสูงขึ้น ผู้ปกครองเองก็มักส่งเสริมลูกให้เรียนแพทย์ การศึกษาจึงคล้ายๆ ระบบอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นปริมาณ  ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็มีแพทย์ลาออกจากภาคราชการไปเยอะเช่นกัน และที่ผ่านมามีเยาวชนอยากเป็นแพทย์เยอะอยู่แล้ว ก็ผลิตมาเติมจำนวนผู้ปฏิบัติงานกันไป ส่วนคนที่อยู่และมีปัญหากับระบบก็ลาออกไปนอกระบบ ซึ่งแท้จริงแล้วน่าจะดูต้นเหตุว่าจะทำอย่างไรให้แพทย์อยากอยู่ในระบบด้วย เพราะไม่ใช่แค่นิสิตนักศึกษาแพทย์เท่านั้นที่เครียด แพทย์ใช้ทุนหรือแพทย์เฉพาะทางต่างๆ ก็เครียดไม่น้อยเช่นกัน

“ไม่อยากให้มองง่ายๆ ด้วยกรอบการแพทย์ว่าก็ผิดปกติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือมองว่าคน Gen หลังๆ อ่อนแอจิตใจเปราะบาง ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ น่าจะได้รับฟังและได้เข้าใจความต้องการที่ไปจากเดิมที่เคยคิดๆ ทำๆ กันมา เพราะบริบทหรือปัจจัยแวดล้อมไม่เหมือนสมัยพวกเราแล้ว” ผศ.นพ.ภุชงค์ เสนอ